วันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ลี้ภัยแม่เมาะ หวั่นไม่พ้นพิษ


ครม.สั่งอพยพ 5  หมู่บ้าน ต.แม่เมาะ-บ้านดง แกนนำเผยเป็นสัญญาณที่ดี เชื่อเดินหน้าภายใน 1 ปี หลังทำเรื่องขอใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้  ขณะที่มะลิวรรณโวยรัฐบาลแต่งเรื่องหลอกเด็ก พื้นที่อพยพห่างจากเดิมแค่ 3 ก.ม.หนีไม่พ้นผลกระทบ  มติ ครม.แค่ซื้อเสียงซื้อเวลา

หลังจากเมื่อวันที่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 1 (ฝ่ายเศรษฐกิจ)  เห็นชอบให้มีการอพยพ ราษฎร 5 หมู่บ้าน ประกอบด้วย บ้านห้วยคิง หมู่ที่ 6 ตำบลแม่เมาะ บ้านหัวฝาย หมู่ที่ 1 บ้านดง หมู่ที่ 2 บ้านสวนป่าแม่เมาะ หมู่ที่ 7 และบ้านหัวฝายหล่ายทุ่ง หมู่ที่ 8 ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง  ตามข้อเสนอของกระทรวงพลังงาน (พน.) เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎร และสนับสนุนการปฏิบัติงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในพื้นที่

นางแสงจันทร์ มูลซาว ผู้ใหญ่บ้านห้วยคิง หมู่ 6 เปิดเผยว่า ชาวบ้านห้วยคิงได้เริ่มยื่นข้อเรียกร้องไปเมื่อปี 2552  ให้ กฟผ.อพยพชาวบ้านทั้งหมดออกจากพื้นที่เดิม เพื่อไปอยู่ในพื้นที่ใหม่ ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 3 ปี โดยพื้นที่นั้นจะต้องอยู่ในพื้นที่ ต.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ  และต้องอยู่ห่างจากโรงไฟฟ้า และเหมืองแม่เมาะมากกว่า 5 กิโลเมตร  ซึ่งต้องใช้เวลาเกือบ 4 ปีในการเรียกร้องจนกระทั่งมีมติ ครม.ออกมา   ในเบื้องต้นชาวบ้านได้เลือกพื้นที่ของกรมป่าไม้บริเวณ หมู่ 8 ต.แม่เมาะ ติดกับบ้านเวียงหงส์ล้านนา หมู่ 12 พื้นที่ 698 ไร่  เป็นพื้นที่ที่ กฟผ.กันไว้รองรับการอพยพ ห่างจากโรงไฟฟ้า 10 กิโลเมตร  ตอนนี้ต้องรอให้มีการแจ้งมติ ครม.มาเป็นลายลักษณ์อักษรให้ชัดเจนก่อน จากนั้นจึงจะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อติดตามความคืบหน้าต่อไป

ด้านนายศุกร์ ไทยธนสุกานต์  อดีต นายก อบต.บ้านดง  กล่าวว่า ชาวบ้าน ต.บ้านดง ได้มีการต่อสู้เรียกร้องมติ ครม.ต่างๆมานาน  ซึ่งหลังจากได้รับการอนุมัติแล้วก็ต้องมีผู้นำในการขับเคลื่อนให้งานเดินหน้าต่อไป เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชน  ซึ่งการดำเนินการต่อไปนี้ กฟผ.ต้องประสานงานกับกรมป่าไม้ เพื่อขอใช้พื้นที่ในการอพยพ  ในส่วนของ ต.บ้านดงได้กำหนดพื้นที่บริเวณป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่เฟือง บ้านท่าสี หมู่ 6 ต.บ้านดง ขอใช้ประโยชน์จำนวน 2,000 ไร่  ซึ่งห่างจากจุดทิ้งดินออกไป 5 กิโลเมตร  คาดว่าจะอยู่ในช่วง 1 ปีที่ กฟผ.จะทำการขอใช้พื้นที่ป่าแล้วเสร็จ  นอกจากนี้ตนยังได้มีการนำเสนอ การแก้ไขประกาศแนบท้ายของ กฟผ.ให้รวมพื้นที่ทิ้งดิน และพื้นที่เหมืองเป็นพื้นที่ของโรงไฟฟ้าทั้งหมด เพื่อกำหนดให้ชาวบ้านอยู่ห่างจากรัศมี 5 กิโลเมตรอย่างชัดเจน ไปยังสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) อาจจะมีการตอบรับที่ดีในเร็วๆนี้

เมื่อสอบถามว่า มติ ครม.นี้เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อป้องกันการรวมตัวของชาวบ้านหรือไม่  นายศุกร์ กล่าวว่า เมื่อมีมติ ครม.ออกมาแล้วก็ต้องดำเนินการ ซึ่งมีการวางแผนต่างๆไว้ก่อนหน้านี้แล้ว เพื่อให้เดินหน้าได้หลังจาก ครม.อนุมัติ  โดยทางชาวบ้านก็จะคอยมองดูการทำงานของผู้เกี่ยวข้องอยู่ หากว่าอนุมัติมาแล้วแต่เรื่องกลับเงียบหายไป เชื่อว่าชาวบ้านคงไม่ยอมและจะออกมาทวงถามอย่างแน่นอน

ขณะที่นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ ประธานเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า กรณีการกำหนดพื้นที่อพยพของชาวบ้าน ต.แม่เมาะ และ ต.บ้านดงนั้น ไม่ได้มีการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง เนื่องจากบ้านห้วยคิงอ้างว่าได้รับผลกระทบจากฝุ่นในการระเบิดเหมือง ซึ่งพื้นที่เดิมอยู่ห่างจากขอบเหมืองเพียง 1 กิโลเมตร  ส่วนพื้นที่ใหม่ที่ย้ายออกไปนั้นอยู่ห่างจากเดิมเพียง 3 กิโลเมตรเท่านั้น เพราะฉะนั้นจึงไม่ถือว่าเป็นการแก้ปัญหาได้  การอพยพชาวบ้านต้องคำนึงถึงความเป็นจริงด้วย ไม่ใช่การวัดจากตัวโรงไฟฟ้า เพราะสิ่งที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบเกิดจากเหมืองไม่ใช่โรงไฟฟ้า  ยังแปลกใจว่าพื้นที่อื่นที่รองรับการอพยพก็มีหลายแห่ง เช่นที่ ต.สบป้าด มีพื้นที่กว่า 5,000 ไร่  และห่างจากรัศมี 5 กิโลเมตรอย่างแน่นอน เหตุใดจึงไม่ย้ายไปอยู่ตรงนั้น  ถ้าย้ายไปแล้วแก้ปัญหาไม่ได้จะย้ายไปทำไมให้เปลืองงบประมาณเกือบ 3,000 ล้านบาท

นางมะลิวรรณ กล่าวอีกว่า  เรื่องการอพยพนี้คงเป็นไปได้ยาก และใช้เวลาอีกนาน มติ ครม.ที่ออกมานั้นเหมือนกับเป็นลิงหลอกเจ้า ทำแค่ให้ผ่านไป จากที่ตนเองได้ต่อสู้มาตั้งแต่ปี 2544 กว่าจะได้ย้ายใช้เวลาถึง 8 ปี และเปลี่ยนมติ ครม.ถึง 13 มติ แต่การอพยพชาวบ้านชุดนี้เป็นเพียงแค่การเริ่มต้นเท่านั้น

สำหรับมติ ครม.ดังกล่าวสรุปได้ว่า ให้ กฟผ. จัดทำบันทึกความเข้าใจระหว่าง กฟผ. กับราษฎรที่ยืนยันไม่ต้องการอพยพให้ชัดเจน เพื่อเป็นการยอมรับร่วมกันว่า พื้นที่รองรับการอพยพราษฎร 5 หมู่บ้าน มีความเหมาะสม และได้รับความเห็นชอบจากการทำประชาคมหมู่บ้านแล้ว หากในอนาคต กฟผ. มีความจำเป็นต้องใช้ที่ดินของราษฎร กฟผ. จะเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบในการเวนคืนที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ และต้องดำเนินการขออนุญาตตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป  รวมทั้งให้ กฟผ. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักด้านงบประมาณจำนวน 2,970.5 ล้านบาท โดยประสานงานกับคณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณบางส่วนจากกองทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าแม่เมาะ และหารือร่วมกับองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) เพื่อพิจารณาข้อตกลงด้านงบประมาณที่เป็นค่าชดเชยต้นสักของ อ.อ.ป. ในพื้นที่รองรับการอพยพและพื้นที่ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ

นอกจากนั้นมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการประเมินและทบทวนสถานภาพความเป็นหมู่บ้านของทั้ง 5 หมู่บ้าน ในกรณีจำนวนครัวเรือนที่เหลืออยู่ในหมู่บ้านเดิมมีจำนวนน้อยเกินกว่าที่จะคงสถานภาพเป็นหมู่บ้านภายหลังการอพยพของครัวเรือนในแต่ละหมู่บ้านแล้ว โดยพิจารณากำหนดแนวทางการโอนครัวเรือนที่เหลืออยู่ไปสมทบร่วมกับหมู่บ้านอื่น หรือพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมในการบริหารจัดการครัวเรือนที่เหลืออยู่ให้สอดคล้องกับแนวทางการปกครองในระดับหมู่บ้านต่อไป  และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยุติการให้บริการสาธารณูปโภคและสาธารณูปการพื้นฐาน เช่น ระบบไฟฟ้า ระบบสื่อสาร และระบบประปา ในพื้นที่ของครัวเรือนที่ขออพยพ เพื่อป้องกันการย้ายกลับเข้าพื้นที่เดิม สำหรับพื้นที่ของครัวเรือนที่ยืนยันไม่ต้องการขออพยพ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดหาบริการสาธารณูปโภคและสาธารณูปการพื้นฐานดังกล่าวให้กับครัวเรือนในพื้นที่ต่อไปตามสิทธิพื้นฐานที่ประชาชนพึงได้รับจากภาครัฐ


 (หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 948 วันที่ 18 - 24 ตุลาคม 2556) 
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์