วันอาทิตย์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2556

วันวานยังหวานอยู่


หลังรอนแรมมาในเรือจากจีนแผ่นดินใหญ่ เตี่ยกับแม่ของนพกร โชติวัฒนตระกูล ซึ่งเป็นชาวจีนแคะ ก็ไปตั้งหลักแหล่งที่จังหวัดพิษณุโลก กระทั่งในปี พ.ศ. 2498 เตี่ยก็คิดสูตรน้ำหวานขึ้นมาขาย โดยนำกลิ่นน้ำหอมที่สั่งซื้อจากกรุงเทพฯ มาผสมกับแม่สี 5 สีและโซดา ผลลัพธ์ที่ได้คือน้ำหวานที่ทั้งหวาน ทั้งหอม ทั้งซ่าไม่เหมือนใคร และนี่คือแนวคิดสุดล้ำในสมัยที่เมืองไทยยังรู้จักน้ำอัดลมแค่ไม่กี่ยี่ห้อ

เตี่ยกับแม่ หรือที่นพกรมักเรียกว่า อากง-อาม่าย้ายมาอยู่ย่านตลาดจีน จังหวัดลำปาง ในปี พ.ศ. 2500 และนำอาชีพขายน้ำหวานชนิดนี้ติดตัวมาด้วย เตี่ยนำรถสามล้อที่ใช้ถีบตระเวนขายไปดัดแปลงที่ร้านซ่อมรถแถวโรงแรมเอเชีย โดยออกแบบให้หน้ารถเหมือนรถแลนด์โรเวอร์ที่พวกป่าไม้สมัยก่อนนิยมใช้กัน ที่สำคัญ เตี่ยยังทำให้รถสามล้อธรรมดา ๆ ดูน่าสนใจขึ้นมาทันที ด้วยการออกแบบติดตั้งจรวดที่ทำจากทองเหลืองไว้บนรถ ท้ายจรวดมีท่อโค้ง ๆ 2 ท่อ เพื่อที่จะใช้ท่อนี้ลำเลียงความซ่าจากถังโซดาที่ซ่อนอยู่ข้างล่างมาสู่น้ำหวานในแก้ว แล้วยังประดับไฟกะพริบวิบวับให้สวยงามสำหรับขายเวลากลางคืนอีกด้วย

ความหอมอร่อย ความซ่าออกจมูกชนิดที่คนเมืองบอกว่า กินแล้วมันเด้าลิ้นและราคาที่ถูกกว่าน้ำอัดลม ทำให้น้ำหวานของเตี่ยเป็นที่รู้จักไปทั่วเมืองลำปางในสมัยนั้น ลูกค้าพากันเรียกเตี่ยว่า ปู่เย็นซ่าบ้าง แปะเย็นซ่าบ้าง โดยทั้งเตี่ยกับแม่จะแยกกันขาย เตี่ยใช้รถสามล้อถีบเร่ขายจากบ้านไปถึงย่านเก๊าจาว กว่าจะวนกลับถึงบ้านก็ค่ำมืด ส่วนแม่ใช้รถเข็นตระเวนขายในเมือง และจะกลับถึงบ้านก่อนเพื่อตระเตรียมมื้อเย็นไว้รอรับ

เตี่ยกับแม่ขายน้ำจรวดเลี้ยงลูก 8 คน สมัยนั้นถุงละสลึงเดียวเท่านั้นครับนพกรรำลึกความหลัง และด้วยความที่เขาเป็นลูกชายคนโต จึงเป็นเรี่ยวแรงหลักในการช่วยเหลือครอบครัว สมัยนั้นร้านโม่น้ำแข็งในเมืองลำปางยังไม่มี วันไหนขายดีชนิดที่นพกรบอกว่า คนมุงกันจนไม่เห็นหัวคนขายเขาต้องตำน้ำแข็งโดยใช้สากและครกไม้ ตำน้ำแข็งทีละมือแล้วเทียวไปส่งให้เตี่ยกับแม่ ในขณะที่น้อง ๆ ก็ต้องหอบหิ้วกันไปนอนอยู่แถวนั้น

สมัยก่อนเมืองลำปางมีสนามมวย วันไหนมีมวยก็ขายดี แถวบ้านฟ่อนยังมีการชนวัว เตี่ยก็ไปขาย ตามโรงเรียนอย่างบุญวาทย์ฯ กัลยาณี อัสสัมชัญ มัธยมราษฎร์ มัธยมวิทยา เคนเน็ตฯ ใครที่เป็นศิษย์เก่าสมัยนั้นต้องรู้จักน้ำจรวดร้านเย็นซ่า

จากราคาขายถุงละสลึง มาเป็นถุงละ 50 สตางค์ 75 สตางค์ 1 บาท ทุกวันนี้น้ำจรวดราคา 15 บาทแล้ว แต่ก็ยังมีลูกค้าเก่าแก่ตามมาซื้อกันอย่างเหนียวแน่น นพกรเป็นคนเดียวในตระกูลที่สืบทอดอาชีพขายน้ำจรวดเป็นรุ่นที่สอง ทว่าคนที่ขายจริง ๆ คือภรรยา ซึ่งลูกค้าเรียกกันว่า เจ๊ต้อยน้ำจรวด

แม้คุณภาพของวัตถุดิบบางชนิดจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่ร้านเย็นซ่าก็ยังสั่งซื้อกลิ่นน้ำหอมจากร้านฮงฮวด แยกวัดตึกในกรุงเทพฯ เหมือนสมัยที่เตี่ยยังอยู่ เพราะร้านฮงฮวดเป็นตัวแทนจำหน่ายที่นำเข้ากลิ่นน้ำหอมจากเมืองนอก ขวดหนึ่งราคาพันกว่าบาท นพกรบอกว่า เมื่อก่อนเตี่ยใช้กลิ่นน้ำหอมของ 16 เหรียญทองจากลอนดอน ซึ่งเดี๋ยวนี้เลิกผลิตไปแล้ว เมื่อดูจากฉลากที่ติดอยู่กับขวด จะเห็นว่าปัจจุบันกลิ่นน้ำหอมเหล่านี้ผลิตในประเทศสิงคโปร์

เมื่อได้กลิ่นน้ำหอมที่มีคุณภาพดีมาผสมกับแม่สี 5 สี คราวนี้ก็ขึ้นอยู่กับสูตรลับที่สืบทอดกันมาว่า ทำอย่างไรจึงจะหอม หวาน ซ่า แบบพอดิบพอดีถูกใจคนกิน นอกจากเทคนิคในการผสมน้ำหวานแล้ว การ ตีน้ำหวานให้แตกยังเป็นเรื่องเฉพาะที่ต้องฝึกฝน เพราะหากน้ำหวานไม่แตก นอกจากน้ำจรวดจะไม่ซ่าแล้ว ยังออกรสเปรี้ยวอีกต่างหาก

นพกรลุกขึ้นสาธิตให้ดู เขาเดินไปที่รถเข็นคันเดิมสมัยเตี่ย จรวดสีเงินวาววับคือจุดเด่นที่สะดุดตายิ่งนัก นพกรใช้กระบวยทองเหลืองเล็ก ๆ ตักน้ำหวานรสซาสี่ อันเป็นรสยอดนิยม ใส่ในแก้วที่มีน้ำแข็งอยู่เต็ม จากนั้นใช้มือกดไปที่ตัวสูบลมข้างรถเพื่อที่จะสูบเอาโซดาผ่านท่อโค้ง ๆ ท้ายจรวดขึ้นมาใส่แก้ว น้ำหวานจะแตก หรือไม่แตกขึ้นอยู่กับขั้นตอนนี้นั่นเอง หากโซดาผสมกับน้ำหวานไม่ทั่วถึง นั่นคือน้ำหวานไม่แตก ยืนมองเผิน ๆ เหมือนการทำน้ำจรวดจะง่าย แต่กลับกลายเป็นว่าถ้าไม่รู้เทคนิค ก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด

จากวันที่เตี่ยเร่ขายน้ำจรวดไปทั่งเมือง มาวันนี้ วันที่รถสามล้อถีบจอดนิ่งสนิทอยู่หน้าบ้านเหมือนได้ผ่อนพักจากการกรำงานหนักมาทั้งชีวิต ลูกค้ากลับเป็นฝ่ายที่ต้องดั้นด้นมาซื้อถึงที่ น้ำจรวดโด่งดังในหมู่นักท่องเที่ยวที่มาเยือนกาดกองต้า ภาพรถสามล้อถีบและจรวดถูกเผยแพร่ออกไปตามสื่อหลายช่องทาง

เกือบ 60 ปีแล้ว น้ำจรวดยังคงความหวานจากวันวานจนถึงวันนี้ ครองใจคนกินจากรุ่นสู่รุ่น ทุกครั้งที่นพกรพูดถึง อากง-อาม่าเขาจะนึกย้อนไปถึงความบากบั่นพากเพียรของคนจีนสองคนที่รอนแรมมาตัวเปล่าแบบ เสื่อผืน หมอนใบอย่างแท้จริง ก่อนจะตั้งตัวได้จากความคิดสุดสร้างสรรค์ที่ไม่เหมือนใคร แม้ชายในวัย 60 กว่าจะเล่าถึงความลำบากในวัยเด็ก แต่ดวงตากลับฉายแววแห่งความภาคภูมิ

ดูเหมือนไม่ใช่น้ำจรวดเท่านั้นที่ยังคงความหวาน แต่เป็นความทรงจำต่อครอบครัวต่างหาก ที่ไม่ว่าเวลาจะผ่านมาเนิ่นนานแค่ไหน นึกย้อนกลับไปทีไรก็หอมหวานเสมอ

 กุลธิดา สืบหล้า...เรื่อง


  (ร้อยเรื่องราว ฉบับที่ 948 วันที่ 18 - 24 ตุลาคม 2556) 
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์