วันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2556

นิรโทษกรรมซ่อนเงื่อน


พลันที่ปรากฏ การแก้ไขร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จากนิรโทษภายใต้กรอบเวลา และเงื่อนไขความผิด เป็น
นิรโทษย้อนหลังไปถึงปีที่พรรคไทยรักไทยก้าวย่างมาสู่การเมือง ภาพก็ชัดขึ้นว่า นี่คือการปูลาดพรมแดงให้ ทักษิณ ชินวัตร กลับมาอย่างสง่างาม ไร้มลทิน ขณะเดียวกันก็เป็นการประกาศศักดาเหนืออำนาจตุลาการ ซึ่งในห้วงระยะเวลาที่ผ่านมา ระบอบทักษิณยังไม่สามารถเข้าไปยึดได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เหมือนอำนาจบริหารและนิติบัญญัติ

ถึงแม้ว่า จะมีคำอธิบายว่า เป็นการนิรโทษกรรมโดยไม่มีข้อยกเว้น ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญก็ตาม

วันนี้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อธิบายว่าเป็นเรื่องของสภา ตามแนวทางที่กุนซือสอนไว้ แต่สภาก็เป็นของพรรคเพื่อไทย ถ้ามีคำถามจากสังคมเกี่ยวกับกฎหมายที่น่าเคลือบแคลงสงสัย เธอก็สามารถยับยั้งได้ แต่ยิ่งลักษณ์ไม่ เพราะนี่คือความตั้งใจตั้งแต่แรกเข้ามารับตำแหน่งแล้ว

เมื่อแรกก้าวเข้ามาสู่อำนาจของนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ยืนยันว่าจะไม่มีการขอพระราชทานอภัยโทษ หรือนิรโทษกรรมให้กับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยจะมุ่งมั่นทำงานเพื่อส่วนรวม หากแต่ไม่นานจากนั้นก็ปรากฏความพยายาม ในการผลักดันกฎหมายของฝ่ายบริหารเพื่อช่วยพี่ชาย

ภาพแรกเกิดขึ้น หลังจากที่คณะรัฐมนตรี ได้ผ่านการพิจารณาลับ ร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ขอพระราชทานอภัยโทษ มีเนื้อหาบางประการที่เอื้อประโยชน์ให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยตรง เช่น อายุเกิน 60 ปี โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และไม่ต้องได้รับโทษมาก่อน การผ่านร่างกฎหมายอัปยศครั้งนี้ ดำเนินการโดย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อดีตรองนายกรัฐมนตรี ที่ได้เคยประกาศว่า เขาจะนำทักษิณกลับบ้าน นั่นเป็นโอกาสทองของนักโทษหนีคดีครั้งแรก แต่เป็นความเศร้าของคนไทย

ไม่เคยปรากฎว่านักโทษหนีคดี เคยได้รับพระราชทานอภัยโทษ อันเป็นเหตุผลที่เรื่องราวการขอพระราชทานอภัยโทษ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หายไป ในยุคที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ชื่อพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หากเมื่อ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน ที่ตายแล้วเหมือนเกิดใหม่ในพรรคเพื่อไทยมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม การขอพระราชทานอภัยโทษให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยเหตุผลการใช้ดุลพินิจ ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ก็เป็นจุดเริ่มต้น ในการถางทางไปสู่อิสรภาพของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่ไม่สำเร็จ

และเมื่อความชุลมุนวุ่นวายของคนไทยในเมืองเกิดขึ้นเพราะน้ำท่วมใหญ่  การฉกฉวยโอกาสก็เกิดขึ้น  เหมือนเช่นที่คณะรัฐมนตรีได้ผ่านร่างแก้ไข พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ ให้อำนาจเผด็จการปิดหนังสือพิมพ์มาแล้วก่อนหน้านี้

สาระสำคัญโดยปกติในการพิจารณาว่าสามารถยื่นขอพระราชทานอภัยโทษได้หรือไม่  จากการตรวจสอบเบื้องต้นในยุคพรรคประชาธิปัตย์ ไม่เคยมีการอภัยโทษ ให้กับผู้ต้องโทษที่หลบหนี หรือไม่เคยรับโทษจำคุกตามคำพิพากษา โดยส่วนใหญ่ผู้ที่อยู่ในเกณฑ์ได้รับอภัยโทษ ต้องรับโทษคุมขังมาแล้วระยะหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม กฎหมายให้อำนาจ รมว.ยุติธรรม เป็นผู้ทำความเห็นประกอบฏีกา เพื่อเสนอไปยังสำนักพระราชวังว่า สมควรอภัยโทษหรือไม่ แต่ทั้งนี้การอภัยโทษ ถือเป็นพระราชอำนาจ ขั้นตอนการขอพระราชทานอภัยโทษ เป็นรายบุคคลนั้น ผู้ต้องโทษหรือผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้อง จะใช้สิทธิยื่นเรื่องราวทูลเกล้าถวายฏีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ผ่านเรือนจำหรือส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้องก็ได้ เช่นสำนักราชเลขาธิการ ก.ยุติธรรม ก.ต่างประเทศ  ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รู้ดีว่าถ้าขอเฉพาะรายมีปัญหาการคัดค้านแน่นอน

การเสนอเป็นพระราชกฤษฎีกา ซึ่งเป็นอำนาจตรากฎหมายของฝ่ายบริหาร โดยอาศัยช่วงจังหวะวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงเป็นความพยายามที่จะเบี่ยงเบนประเด็น ให้สำคัญผิดว่าเป็นการเสนอพระราชทานอภัยโทษในวาระปกติ และเป็นการเสนอเพื่อผู้ต้องโทษส่วนใหญ่ ที่มีความประพฤติดี เป็นนักโทษชั้นดี สมควรปล่อยตัว ให้โอกาสกลับตัวเป็นคนดีในสังคมต่อไป แต่การซ่อนเงื่อนไขเพื่อให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีคุณสมบัติที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ หลักเกณฑ์เช่นนี้ไม่เคยปรากฎมาก่อน

ฉะนั้นจึงไม่แปลก ที่ความพยายามเช่นนี้ยังไม่สิ้นสุด เพราะหากร่าง แก้ไข พ.ร.บ.นิรโทษกรรมไม่ผ่าน นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ก็เสนอทางออกไว้แล้วว่า จะออกเป็นพระราชกำหนด

แปลว่า ไม่ว่าวิถีทางใด ก็ต้องให้ทักษิณ ชินวัตร กลับมาให้ได้


ถึงแม้ว่า อาจจะกลับมาตาย ในนาทีแรกที่ก้าวเหยียบผืนดินไทยก็ตาม


(ม้าสีหมอก ฉบับที่ 949 วันที่ 25 - 31 ตุลาคม 2556)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์