วันพฤหัสบดีที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ผันงบ 400 ล้าน ชุบชีวิตน้ำวัง


เทศบาลนครลำปางจับมือทุกภาคส่วนลุยแก้ปัญหาน้ำวัง  สนง.ทรัพยากรธรรมชาติฯหนุนงบจัดทำบ่อบำบัดน้ำเสียภูมิปัญญาชาวบ้านแก้ปัญหาเบื้องต้น ด้าน สนง.สิ่งแวดล้อมภาค 2 รับหน้าที่สำรวจปริมาณน้ำเสียปลายท่อ รองนายกเทศมนตรีกำหนดรวบรวมข้อมูลเสร็จภายใน 6 เดือน ขณะที่เทศบาลเดินหน้าทำประชาพิจารณ์ระบบบำบัดน้ำเสียระหว่างรองบประมาณ 400 ล้าน  หากไม่ได้งบ เตรียมแผนนำนวัตกรรมเครื่องปรับสภาพน้ำเสียของ ม.เกษตร กำแพงแสนมาใช้  ส่วนชลประทานรับออกแบบประตูระบายน้ำใหม่ทดแทนฝายยางที่หมดอายุ  ส่วนงบประมาณคาดขอรับการสนับสนุนจากจังหวัด หรือกลุ่มจังหวัด เนื่องจากต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก

เมื่อวันที่ 22 ต.ค.56 ที่ผ่านมา คณะกรรมการพัฒนาและฟื้นฟูแม่น้ำวัง นำโดยนายแพทย์สุรทัศน์ พงษ์นิกร รองนายกเทศมนตรี ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลนครลำปาง  พร้อมด้วยนายฉลอง ของเดิม ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.ลำปาง  น.ส.ชาลินี วัฒนวรรณะ เจ้าหน้าที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 2 ลำปาง  ตัวแทนสำนักชลประทานที่ 2 ลำปาง  นายชนวน จิรจรัสตระกูล นางอินทมาศ สมพงษ์  รองปลัดเทศบาล  นายอรรณพ สิทธิวงค์ ผอ.ส่วนควบคุมอาคารและผังเมือง  นายวัชระ วงค์มณี หัวหน้าฝ่ายบริหารสาธารณสุข  ได้ร่วมประชุมหารือในการป้องกันและแก้ไขปัญหาแม่น้ำวังเน่าเสีย  โดยได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย เพื่อนำมาเป็นแผนงานในการเดินหน้าแก้ปัญหาแม่น้ำวัง

ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้กล่าวถึงปัญหาของฝายยางเฉลิมพระเกียรติ ชุมชนบ้านดงไชย ต.สบตุ๋ย อ.เมืองลำปาง ซึ่งไม่สามารถใช้งานได้เนื่องจากมีอายุการใช้งานมานานกว่า 20 ปี และตอนนี้ได้หมดอายุลงแล้ว ทำให้ไม่สามารถเก็บกักน้ำและการระบายน้ำออกได้ ที่ผ่านมาจึงทำให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสีย ประกอบกับฝายยางเดิมนั้นก่อสร้างมาปิดกั้นตะกอนใต้น้ำ ทำให้เกิดการตกตะกอนอยู่ก้นฝายจำนวนมาก เป็นสาเหตุหนึ่งในการเกิดปัญหาน้ำเน่าเสีย  หากจะซ่อมแซมของเดิมจะต้องใช้งบประมาณ 7 ล้านบาท  ทางตัวแทนจากสำนักชลประทานที่ 2 ลำปาง จึงเสนอให้จัดทำประตูระบายน้ำแทน และจะมีประตูระบายตะกอนด้วย คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณ 40 ล้านบาท แต่ก็จะแก้ปัญหาการทับถมของตะกอน และระบายน้ำได้สะดวกในระยะยาว  ซึ่งในเรื่องนี้ รองนายกเทศมนตรี ได้มอบหมายให้นายอรรณพ สิทธิวงศ์ ผอ.ส่วนควบคุมอาคารฯ ทำหนังสือประสานกับทางสำนักชลประทานที่ 2 ทำการสำรวจออกแบบประตูระบายน้ำนี้ไว้ก่อน  ในส่วนของงบประมาณในการก่อสร้างนั้นจะได้ประสานไปยังจังหวัด หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอสนับสนุนงบประมาณต่อไป

ด้านนายฉลอง ของเดิม ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.ลำปาง  ได้นำเสนอให้ที่ประชุมให้แก้ปัญหาในระยะสั้น โดยการทำบ่อบำบัดน้ำเสียภูมิปัญญาชาวบ้านก่อนที่จะปล่อยลงแม่น้ำวัง   ซึ่งทางสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติฯ พร้อมที่จะสนับสนุนงบประมาณ ขอให้เทศบาลทำการสำรวจบ้านเรือนที่มีการปล่อยน้ำเสียและแจ้งมายังสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติฯ เพื่อที่จะจัดสรรงบประมาณให้

นายแพทย์สุรทัศน์ พงษ์นิกร รองนายกเทศมนตรี  เปิดเผยว่า จากประชุมในครั้งนี้เป็นสัญญาณที่ดีในการร่วมมือกันของทุกภาคส่วนที่ตั้งใจเข้ามาแก้ไขปัญหาแม่น้ำวัง  ทางเทศบาลได้ของบประมาณก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียไปแล้ว 400 ล้านบาท ขณะนี้ทางรองปลัดเทศบาลได้ดำเนินการทำประชาพิจารณ์เกี่ยวกับการติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสีย ระหว่างรองบประมาณ จึงต้องหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้น ซึ่งในที่ประชุมนำเสนอแนวทางที่ดี โดยการนำนวัตกรรมเครื่องปรับสภาพน้ำเสียของ ม.เกษตรศาสตร์ กำแพงแสนมาใช้  ลักษณะเป็นตู้คอนเทนเนอร์กว้างประมาณ 3x6 เมตร ใช้พื้นที่ติดตั้งไม่มาก ซึ่งจะเป็นการใช้แม่เหล็กไฟฟ้าในการแยกตะกอน ใช้โอโซนบำบัดฆ่าเชื้อโรคผ่อนระบบกรองวนในตัวเครื่อง งบประมาณอยู่ที่ตัวละ 5 ล้านบาท  หากไม่ได้รับงบประมาณจัดทำระบบบำบัดน้ำเสียคงต้องนำเครื่องนี้มาใช้แก้ปัญหา  ซึ่งจะต้องทำเรื่องขอสนับสนุนงบประมาณไปยังกลุ่มจังหวัดในปี 2558 เพื่อจัดทำจุดปลายท่อที่มีปัญหาน้ำเสียมากก่อน  แต่ทั้งนี้ ทางเทศบาลจะต้องสำรวจปริมาณน้ำเสียที่ปล่อยลงปลายท่อในเขตเทศบาลทั้งหมดก่อนเพื่อรองรับนวัตกรรมตรงนี้ จึงได้ร่วมกับสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 2 จะทำการออกสำรวจโดยการใช้ฐานข้อมูลเบื้องต้นจากเครือข่าวรักษ์แม่น้ำวังใน 17 ชุมชน ที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำวัง  โดยกำหนดให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 6 เดือนหลังจากนี้


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 949 วันที่ 25 - 31 ตุลาคม 2556)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์