วันอังคารที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

มติ ครม. 56 อพยพชาวบ้านแม่เมาะ แค่จุดเริ่มต้น


ลังจากใช้เวลาต่อสู้เรียกร้องยาวนานกว่า 4 ปี มาตั้งแต่ปี 2552 ชาวบ้านในชุมชนรอบโรงไฟฟ้าแม่เมาะจำนวน 5 หมู่บ้านของ 2 ตำบล ใน อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ก็ได้ดีใจ หลังจากเมื่อวันที่ 15 .. ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้มีการอพยพชุมชนบริเวณรอบโรงไฟฟ้าออกจากพื้นที่เดิมไปอยู่ในพื้นที่ใหม่ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 3 ปี รวมทั้งให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบด้านงบประมาณ  2,970.5 ล้านบาท เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎรและสนับสนุนการปฏิบัติงานของกฟผ.ในพื้นที่

อย่างไรก็ตาม การอพยพโยกย้ายชาวบ้านรอบโรงไฟฟ้า-แม่เมาะที่ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากฝุ่น กลิ่น และเสียงในการระเบิดเหมืองครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก แต่เดิมในปี 2547 ครม.เคยมีมติเห็นชอบให้มีการอพยพราษฎรใน 4 หมู่บ้าน กว่า 493 ครัวเรือนออกนอกพื้นที่ ซึ่งชาวบ้านต้องต่อสู้ยาวนานถึง 5 ปี กว่าจะได้อพยพเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่กฟผ.จัดสรรไว้ให้จนแล้วเสร็จในปี 2552 ผ่านการเปลี่ยนแปลงมติครม.มาแล้วทั้งสิ้น 13 มติ และแม้จะอพยพไปอยู่ในพื้นที่ที่พ้นผลกระทบแล้ว แต่สิทธิ์ในที่ดินทำกิน ระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งความเป็นธรรมต่างๆ ก็ยังไม่ได้รับการชดเชยเยียวยา ยังคงต้องทวงถามความคืบหน้าและความรับผิดชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นระยะๆ

ในเรื่องการดำเนินการขออนุญาตตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องก็ต้องใช้เวลาและการติดตามผลเป็นระยะเช่นกัน อาทิ การขอใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติของกรมป่าไม้ และพื้นที่ป่าไม้สักขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) กรณีการอพยพชาวบ้านหมู่บ้านห้วยคิงตามมติครม.ในปี 2547 กฟผ. ได้อพยพชาวบ้านไปอยู่ในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมของกรมป่าไม้ ซึ่งทางกฟผ. จ่ายค่าเช่ากับกรมป่าไม้ไว้เพื่อรองรับการอพยพ ซึ่งตามมติของครม.นั้น กฟผ.ต้องออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินเป็นโฉนดให้ชาวบ้าน ทว่าเวลาก็ล่วงเลยมากว่า 10 ปีแล้ว ชาวบ้านกลุ่มดังกล่าวก็ยังไม่ได้รับเอกสารสิทธิ์ตามที่ร้องขอ เอกสารที่มีอยู่ไม่สามารถนำไปใช้ทำธุรกรรมใดๆ ได้ รวมทั้งยังอาจถูกเวนคืนที่จากกรมป่าไม้ได้ทุก เมื่อหาก กฟผ.ทำการโอนพื้นที่คืนกรมป่าไม้แล้ว ดังนั้นมติครม.ที่ออกมาล่าสุด ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าจะใช้เวลาดำเนินเรื่องเพื่อขอใช้พื้นที่ป่าภายในกรอบเวลา 1 ปีนั้น แม้จะมีความเป็นไปได้ หากมีการเร่งรัดและติดตามผลอย่างจริงจัง แต่การเรียกร้องโฉนดที่ดินใหม่ คงต้องผ่านขั้นตอนทางกฎหมายยกเลิกเพิกถอนป่าสงวนฯ ซึ่งจะมีความยุ่งยากซับซ้อนและใช้เวลานานกว่าหลายเท่า

นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ ประธานเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะและอดีตชาวบ้านห้วยคิง ผู้อพยพออกจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ตามมติครม.ปี 2547 (ปัจจุบันอพยพไปอยู่ที่บ้านม่อนหินฟู ต.สบป้าด) กล่าวถึง ความไม่ชอบมาพากลและความไม่เป็นธรรมที่ชาวบ้านได้รับ ตั้งแต่การเวนคืนบ้านและที่ดินที่ใช้วิธีการประเมินราคาบ้านแต่จ่ายเป็นเงินชดเชย แทนการให้รัฐบาลปลูกบ้านหลังใหม่ ทำให้เกิดปัญหากลุ่มทุนและชาวบ้านบางคนที่ย้ายออกมาแล้ว กลับเข้าไปอาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมหรือปลูกสร้างบ้านเรือนเพิ่มเพื่อรอเวนคืนรับเงินค่าชดเชยหากมีการอพยพใหม่อีกรอบ

นอกจากนี้ นางมะลิวรรณยังมีการตั้งคำถามถึงงบประมาณเกือบ 3,000 ล้านบาท ที่ กฟผ.เป็นผู้รับผิดชอบหลักและสามารถของบสนับสนุนบางส่วนจากกองทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าแม่เมาะได้นั้น หากเปรียบเทียบกับมติครม.ปี 2547 ที่ให้อพยพชาวบ้าน 4 หมู่บ้านใช้งบประมาณ 270 ล้านบาท แต่ก็ยังขาดการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่อพยพใหม่ ทั้งไม่มีท่อระบายน้ำในหมู่บ้าน น้ำประปาปนเปื้อนหินปูน ถนนถูกตัดให้สั้นลง เป็นต้น ขณะที่งบประมาณมหาศาลที่ออกมากับมติครม.ล่าสุดนี้ ชวนให้คิดตามว่าชาวบ้านที่ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริงมีเท่าใด และใครจะเป็นผู้ตรวจสอบการบริหารงบประมาณเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับชาวบ้านมากที่สุด หากงบประมาณครั้งนี้ถูกตรวจสอบและพบการทุจริต ครม.อาจต้องทบทวนมติครม.ใหม่และระยะเวลากว่าจะได้อพยพก็จะยืดเยื้อออกไปด้วย

การที่มีมติครม.ล่าสุดออกมานี้ แม้ด้านหนึ่งจะมองเป็นการส่งสัญญาณไปในทางบวก แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่าพื้นที่ใหม่ที่ชาวบ้านห้วยคิงชุดใหม่จะอพยพไป  อยู่ใน ต.แม่เมาะ อ.แม่เมาะนั้น ไม่พ้นผลกระทบจากเหมือง เพราะห่างจากจุดทิ้งดินประมาณ ๒ กิโลเมตร และห่างจากขอบเหมืองประมาณ ๓ กิโลเมตร ซึ่งไม่เป็นไปตามเงื่อนไขประทานบัตรของ กฟผ. ที่มีมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยให้อพยพหมู่บ้านออกนอกรัศมีผลกระทบ 5 กิโลเมตร เพื่อควบคุมฝุ่นละอองจากการทำเหมืองแร่

ทั้งนี้ ในอดีต ชาวบ้านหมู่บ้านห้วยคิง ชุดมติ ครม.ปี 2547 เคยยื่นฟ้องศาลกรณี กฟผ.ไม่ทำตามเงื่อนไขในประทานบัตร เพราะหมู่บ้านห้วยคิงอยู่ห่างจากขอบเหมืองเพียงประมาณ 1 กิโลเมตร ก่อนที่ศาลจะตัดสินว่า กฟผ.ไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตาม พ...แร่ พ..2510 มาตรา 57 ซึ่งระบุว่า ผู้ถือประทานบัตรจะต้องทำเหมืองตามวิธีการทำเหมือง แผนผัง โครงการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในการออกประทานบัตรและพิพากษาให้ กฟผ.ดำเนินการอพยพหมู่บ้านออกนอกรัศมีผลกระทบ 5 กิโลเมตร (แต่คดียังอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ศาลปกครองสูงสุด)  
       
มาถึงตอนนี้ หลายคนอาจตั้งคำถามว่าทำไมชาวบ้านห้วยคิงเลือกพื้นที่อพยพที่ไม่พ้นจากผลกระทบ นางแสงจันทร์ มูลซาว ผู้ใหญ่บ้านห้วยคิง ตอบคำถามนี้ว่า ก่อนหน้านี้ได้มีหมู่บ้านอื่นอพยพไปอยู่บริเวณใกล้จุดทิ้งดินนั้น ชาวบ้านห้วยคิงคิดว่า ถ้าพวกเขาอยู่กันได้ เราก็คงอยู่ได้ ขอให้ได้อยู่ในตำบลแม่เมาะ เพราะถ้าหากเราย้ายออกไปนอกเขตแล้ว จะไม่ได้ทั้งค่าภาคหลวงแร่และงบกองทุนรอบโรงไฟฟ้า รวมเป็นงบประมาณปีละกว่า 550 ล้านบาท ซึ่งงบส่วนนี้จะนำมาใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตชาวบ้าน

มีการตั้งข้อสังเกตอีกว่า การแทรกแซงจากนักการเมืองท้องถิ่นที่ต้องการรักษาฐานเสียงของตัวเองไว้ มีผลให้ชาวบ้านตัดสินใจไม่ย้ายไปอยู่ในตำบลอื่นที่ปลอดภัยจากผลกระทบ รวมทั้งฝ่าย กฟผ.เองที่ต้องการยื้อชาวบ้านเพื่อสร้างภาพลักษณ์การเป็นพื้นที่ที่คนกับเหมืองสามารถอยู่ร่วมกันได้ และ ณ วันนี้ดูเหมือนชาวบ้านได้กลายเป็นเหยื่อของเกมการเมืองสร้างภาพไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม มติครม.ที่ออกมานี้ ย้ำให้เห็นถึงความสำเร็จของการทวงถามความรับผิดชอบจากหน่วยงานรัฐ หากแต่เบื้องหลัง ความสำเร็จกลับเต็มไปด้วยความสงสัยเคลือบแคลง ทั้งในประเด็นข้อกฏหมาย ที่ส่อเค้าว่า กฟผ.จะละเมิดคำสั่งศาล? หรือคำถามที่ว่าฝ่ายใดจะได้รับประโยชน์ที่แท้จริง? รัฐต้องการซื้อเวลาเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หรือแสดงความจริงใจในการช่วยเหลือชาวบ้าน? ที่สำคัญ การอพยพภายใน 3 ปีตามที่ชาวบ้านเรียกร้องไป จะทำให้ได้ไหม?

เรื่อง : จินตนา สุภาแก้ว / ธนิสร์ วีระศักดิ์วงค์
ภาพ : มนต์ประไพ หิรัญบูรณะ
คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์