วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ตุลาการ ภารกิจติดดาว


สังคมไทย ผ่านห้วงเวลาวิกฤติไปได้อีกครั้งหนึ่ง เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มาของสมาชิกวุฒิสภาว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่งผลให้การแก้ไขหลักการจากการมี ส.ว.สรรหา และเลือกตั้งเป็นเลือกตั้งทั้งหมด ตกไป ในขณะเดียวกันก็มีมติยกคำร้องในส่วนของการยุบพรรค เพราะยังไม่เข้าเงื่อนไข และดูจะไกลเหตุ ไกลผลเกินไป ประเด็นหลังนี้เองที่ทำให้กลุ่มคนเสื้อแดง ตั้งรับไม่ทันและสลายตัวไปในที่สุด

แต่ถึงกระนั้น หลังฝุ่นตลบอบอวลจางไป ก็เริ่มมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์บทบาท การทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยพื้นฐานความเข้าใจของแต่ละกลุ่มคน ด้วยบริบททางสังคมที่แตกต่างกัน บางคนอธิบายว่า ศาลไม่มีหน้าที่มาสั่งสอนประชาชน ศาลวินิจฉัยคลุมเครือไม่เข้าใจ หรือกระทั่งเสนอคำถามที่ไม่มีวันรู้จบว่า เมื่อศาลมีอำนาจตรวจสอบการกระทำที่ผิดหรือละเมิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ แล้วองค์กรใดจะมีหน้าที่ในการตรวจสอบการใช้อำนาจหรือดุลพินิจของศาล ซึ่งปัญหาดุลพินิจหรือปัญหาการใช้ข้อกฎหมายนี้ เป็นอีกประเด็นที่อาจก่อให้เกิดการโต้แย้งในกลุ่มคนที่มีความรู้ ความเข้าใจ ไม่เหมือนกัน ฉะนั้น คำวินิจฉัยของศาลครั้งนี้ จึงมุ่งต่อปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งเท่ากับเป็นการปิดปากผู้โต้แย้งไปโดยปริยาย

ปัญหาข้อเท็จจริง คือสิ่งที่ปรากฏเป็นจริง ตามพยานหลักฐาน ในขณะที่ปัญหาข้อกฎหมายคือการปรับข้อเท็จจริงเข้ากับตัวบทกฎหมาย ซึ่งมักจะปรากฏถ้อยคำ เช่น ศาลเห็นว่า ศาลเชื่อว่า เช่นนี้เป็นต้น ในกรณีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในปัญหาข้อเท็จจริง คดีการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีข้อเท็จจริง 2 เรื่อง คือ การเปลี่ยนแปลงเอกสารในญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญในร่างเดิม และร่างแก้ไข กับการลงคะแนนแทนกันด้วยบัตรอิเล็คทรอนิคส์

“...เมื่อตรวจสอบ ปรากฏว่า อักษรที่ใช้ตั้งแต่หน้าที่ 1 ถึงหน้าที่ 33 มีความแตกต่างกันกับตัวอักษรที่ใช้ในบันทึกหลักการ และเหตุผล ตัวร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไข และบันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไข เอกสารประกอบคำร้องของผู้ร้องที่ 1 และผู้ร้องที่ 2 ที่อ้างว่า ได้รับแจกเพื่อใช้ในการประชุมรัฐสภาทั้ง 2 ฉบับ มีข้อความและเลขหน้าตรงกัน และมีการเติมข้อความต่อท้ายชื่อร่างรัฐธรรมนูญ ในหน้าบันทึกวิเคราะห์ สรุปสาระสำคัญของร่างที่แก้ไขด้วยลายนิ้วมือ”

กับข้อเท็จจริง

“..ผู้ถูกร้องที่ 162 ซึ่งเป็นสมาชิกรัฐสภา ได้ใช้บัตรอิเล็คทรอนิคส์แสดงตน และออกเสียงลงคะแนนคราวละหลายใบ หมุนเวียนใส่เข้าไปในเครื่องอ่านบัตร และกดปุ่มแสดงตนติดต่อกันหลายครั้ง เมื่อพิจารณาจากภาพถ่ายที่พยานนำสืบต่อศาล ก็เห็นภาพบุคคลปรากฏใบหน้าด้านข้าง ซึ่งสามารถยืนยันได้ว่า เป็นนายนริศร ทองธิราช ผู้ถูกร้องที่ 162 ซึ่งสวมสูทสีเดียวกันกับภาพที่ปรากฏในคลิปวิดิทัศน์ ที่ถือบัตรแสดงตนและลงคะแนนอิเล็คทรอนิคส์ไว้ในมือจำนวนหนึ่ง”

ความบางตอน ที่อ่านโดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

สิ่งที่หลายคนอาจยังไม่ได้กล่าวถึง คือประเด็นที่ซ่อนไว้ในคำวินิจฉัย การปลอมแปลงเอกสารกรณีเปลี่ยนแปลงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีลงบัตรแทนกัน ซึ่งเป็นความผิดอาญาและผู้ที่กระทำ ซึ่งได้แก่ ส.ส.ที่เกี่ยวข้องจะต้องถูกดำเนินคดีต่อไป

 คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ครั้งนี้ ดับฝันสภาผัวเมีย และเป็นเสมือนกรวดในรองเท้าของกลุ่มพลเมืองทักษิณตลอดมา นักวิชาการกลุ่มเสื้อแดง เช่น นิติราษฎร์ ของ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เคยเสนอให้ยุบเลิกศาลรัฐธรรมนูญเลยทีเดียว โดยให้ตั้งคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญมาแทนที่

แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็ยังแข็งแกร่งเพียงพอที่จะต้านพายุการเมืองที่โหมกระหน่ำเข้ามา

คำวินิจฉัยที่รอบคอบ รัดกุม เมื่อกลางสัปดาห์ก่อน คือความเหนือชั้นของตุลาการที่ติดดาวให้ได้อีกครั้งหนึ่ง


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 953 วันที่ 22 - 28 พฤศจิกายน 2556)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์