วันอาทิตย์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

รับจ้างทั่วไป


บริเวณถนนหน้าโรงเรียนลำปางกัลยาณีที่พลุกพล่าน ชายสูงวัยนั่งอยู่ริมถนนเงียบ ๆ กับจักรยานสีดำคันเก่าคร่ำคร่า มองฝ่าเปลวแดดระอุและรถราวุ่นวาย ในใจคิดแต่เพียงว่าวันนี้จะมีงาน มีเงินกลับบ้านหรือไม่

หลายคนคงเคยเห็นภาพชายชาวบ้านจอดรถจักรยานเรียงกันอยู่ริมถนนบริเวณหน้าโรงเรียนลำปางกัลยาณีกลุ่มหนึ่ง บริเวณสี่แยกโรงเรียนมัธยมราษฎร์เก่าอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งกลุ่มหลังนี้ส่วนใหญ่เปลี่ยนมาใช้มอเตอร์ไซค์กันหมดแล้ว บางวันก็เห็นขี่จักรยาน ขี่มอเตอร์ไซค์เรียงกันไปบนถนน ด้านหลังบรรทุกอุปกรณ์ทำสวนนานาชนิด ไม่ว่าจะเป็นงอบ ปุ้งกี๋ จอบ พลั่ว ค้อน ขวาน มีด เชือก ฯลฯ ในขณะที่ตะกร้าด้านหน้าใส่สัมภาระส่วนตัวอย่างน้ำดื่ม กับข้าวมื้อกลางวัน เสื้อ หรือหมวก

ทุกเช้าตั้งแต่เวลา 07.00 นาฬิกา ผู้ชายเหล่านี้จะขี่จักรยาน ขี่มอเตอร์ไซค์ มาจอดริมถนน จากนั้นก็เริ่มต้นการรอคอยให้ใครสักคนที่ต้องการแรงงานมาว่าจ้าง ไม่ว่าจะเป็นงานขุดดิน ถางหญ้า ตัดต้นไม้ และอีกสารพัดที่ทำไหว ยกเว้นงานฉาบงานก่อเท่านั้นเองที่จำต้องปฏิเสธ เพราะงานประเภทนี้ต้องอาศัยทักษะทางเชิงช่างอยู่พอสมควร

ไม่ใช่ทุกวันหรอกที่จะมีงานชายสูงวัยพูดเนิบ ๆ บางวันสองสามวันโน่นแหละ กว่าจะได้งาน
แต่ถึงจะเป็นอย่างนั้น เขาก็ยึดอาชีพรับจ้างทั่วไปนี้มานานมากกว่า 20 ปี จักรยานคันนี้ก็อยู่กันมาตั้งแต่แรก

เป็นจักรยานคู่ใจที่ขี่จากบ้านมาไม่ต่ำกว่า 10 กว่ากิโลเมตร ใครมาว่าจ้างถ้าใกล้จะขี่จักรยานไป ไกลเกินขี่ไม่ไหวเขาก็เอารถมารับไปทำงาน โดยค่าจ้างจะคิดแบบเหมา ไม่ใช่รายวัน และไม่มีการแย่งงานกัน อีกอย่างหนึ่งคือ ไม่มีการจัดคิว ไม่มีหัวหน้าคิว ใครอยากมารับจ้างดูบ้างก็ขี่รถพร้อมเตรียมอุปกรณ์มาเข้ากลุ่มได้เลย

การรับจ้างทั่วไปในรูปแบบนี้ดูเหมือนว่าจะมีให้เห็นแต่เฉพาะบ้านเรา กล่าวกันว่า ผู้บุกเบิกอาชีพรับจ้างทั่วไปในยุคแรก ๆ คือกลุ่มชาติพันธุ์ ขมุ

ในอดีตยุคที่เมืองลำปางยังรุ่งเรืองเฟื่องฟูด้วยการทำไม้ ชาวขมุนี้เองคือฟันเฟืองเล็ก ๆ ที่ใช้แรงงานในการขับเคลื่อนด้วยการเข้ามารับจ้างทำงานในป่า โดยส่วนใหญ่อพยพมาจากเมืองหลวงพระบางและหลวงน้ำทาใน สปป. ลาว นับเป็นชาวป่าที่มีความชำนาญในการทำงานป่าไม้ บวกกับอุปนิสัยซื่อสัตย์ ขยันขันแข็ง และประหยัดอดออม ทำให้นายห้างป่าไม้ฝรั่งทางภาคเหนือนิยมจ้างชาวขมุมาทำงานมากกว่าชาวพื้นถิ่นเหนือที่มักจะเมินหน้าหนีงานหนักกับค่าแรงอันน้อยนิด ทว่าชาวขมุไม่คิดเช่นนั้น เพราะพวกเขามักน้อย ฝรั่งบางคนจึงเต็มใจที่จะจ้างชาวขมุไว้ทำงานในบ้านด้วย

การจัดหาชาวขมุจะทำผ่านนายหน้าที่เรียกกันว่านายฮ้อย โดยนายฮ้อยจะส่งคนไปติดต่อชักชวนชายชาวขมุจาก สปป. ลาว มาทำงานป่าไม้ ทั้งนี้ ชาวขมุถือว่าการมาทำงานที่เมืองไทยนั้นเป็นความมีหน้ามีตาอย่างหนึ่ง โดยจะมีการตกลงค่าจ้างกันและทำสัญญา 3-4 ปี ด้านการกินอยู่และเวลาป่วยไข้นายฮ้อยจะเป็นคนดูแล นอกจากนี้ ยังเป็นคนรับค่าจ้างและเก็บไว้ให้ เมื่อหมดสัญญาชาวขมุจะกลับบ้านพร้อมเงินมากมาย อันเป็นผลมาจากการมัธยัสถ์ของพวกเขานั่นเอง

หลังการยกเลิกสัมปทานป่าไม้ ชาวขมุหลายครอบครัวพากันลงหลักปักฐานอยู่ในเมืองลำปาง ไม่ได้หวนคืนสู่บ้านเกิด และต่อมาพวกเขาคือจุดเริ่มต้นของอาชีพรับจ้างทั่วไปในรูปแบบนี้

เที่ยงแล้วหลายคนเริ่มลุกขึ้นมาตระเตรียมข้าวกลางวัน บางคนขี่รถไปเข้าห้องน้ำที่วัดศรีชุม ขณะที่ยังคงไร้วี่แววของการว่าจ้าง การรอคอยอันยาวนานจะสิ้นสุดลงในเวลา 14.00 นาฬิกา พร้อมกับเงินในกระเป๋าที่ไม่ได้งอกเงย แต่แล้วทุกอย่างจะเริ่มต้นใหม่ในวันพรุ่งนี้ ไม่เว้นแม้แต่วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ จะมีก็แต่วันฝนตกหนัก หรือช่วงเทศกาลวันหยุดยาวเท่านั้น ที่เป็นวันหยุดสำหรับพวกเขา

ชายสูงวัยนั่งลงกินข้าวข้างรถจักรยานคันเก่า แดดจัดจ้า รถราขวักไขว่ ผู้คนมากหลาย แต่อาจไม่เคยรู้ถึงการมีอยู่ของพวกเขาด้วยซ้ำ


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 951 วันที่ 8 - 14 พฤศจิกายน 2556)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์