วันพฤหัสบดีที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2556

มหาลัย มหาหลอก จากอีสานสู่เหนือ


แม้ชะตากรรมจากการบริหารมหาวิทยาลัยด้วยความฉ้อฉล จนกระทั่งอดีตมหาวิทยาลัยอีสาน ถูกเพิกถอนใบอนุญาต อธิการบดีถูกดำเนินคดีข้อหาฉ้อโกงประชาชน แต่ภายใต้ กฎ สกอ.เข้ม ยังคงมีอีกหลายมหาวิทยาลัยที่ย่ามใจ มีพฤติกรรมไม่แตกต่างกัน จากอีสานสู่เหนือ จากเหนือสู่ใต้ และในหลายพื้นที่ที่มีมหาวิทยาลัยตั้งอยู่ โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาเอกชน ที่ทำการศึกษาเป็นธุรกิจ

พฤติกรรมในแบบอดีตมหาวิทยาลัยอีสาน  คือรับบุคคลที่ไม่ได้จบการศึกษาระดับมัธยมปลายหรือเทียบเท่า เข้าเรียน หรือจบแต่ไม่ได้เรียนในระบบ เป็นการซื้อขายใบปริญญา ในกรณีของอดีตมหาวิทยาลัยอีสาน คือการซื้อขายประกาศนียบัตรวิชาชีพครู ไม่ทำทะเบียนคณาจารย์ ทะเบียนนักศึกษาที่ถูกต้อง ไม่แจ้งการพ้นจากตำแหน่งของคณาจารย์ ซึ่งจะต้องระบุวิชาที่สอน ระยะเวลาในการสอน และการลาออก เหล่านี้เป็นความผิดที่ส่อไปในทางทุจริต มหาวิทยาลัยบางแห่งมีอัตรา Turn over ของผู้สอนสูงมาก จนเก็บสถิติไม่ทัน อาจารย์ต้องไปขอถอนชื่อจาก สกอ.ด้วยตัวเอง

เมล็ดพันธุ์อันชั่วร้ายนี้ ยังคงแพร่กระจายอยู่ทั่วไป

มหาวิทยาลัยชื่อยาวเหยียดในกรุง ซื้อขายปริญญาบัตรกันเป็นล่ำเป็นสัน มีคนดังในหลายวงการจำนวนมาก จบการศึกษาระดับปริญญาโท ปริญญาเอกที่นี่ เจ้าของเป็นอดีตนักการเมืองในภาคอีสาน นอกจากขายปริญญาแล้ว ยังมีข้อมูลว่า มีการว่าจ้างอาจารย์พิเศษซึ่งมีชื่อเสียงคนหนึ่งสอนเพียงหนึ่งศูนย์การศึกษา แต่แจ้งข้อมูล คณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) ว่า เป็นอาจารย์ที่สอนในศูนย์การศึกษาอีกหลายศูนย์ ทั้งที่ไม่ได้มีการสอนจริง

มหาวิทยาลัยเอกชนมีชื่ออีกแห่งหนึ่ง เจ้าของผันเงินไปใช้ในกิจการอื่น จนใกล้ล้มละลาย และอีกบางแห่งให้สัญญามากมายกับนักศึกษาก่อนเข้าเรียน แต่เมื่อเข้าเรียนแล้วไม่มีการปฏิบัติตามสัญญา และไม่มีแผนปฎิบัติ นอกจากนั้นยังมีการซ่อนเงื่อนในเรื่องเอกสารของมหาวิทยาลัย ที่ไม่ได้แสดงต่อ สกอ. และไม่กล้าแสดงเนื่องจากเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ที่มีโทษทางอาญา ผู้บริหารมหาวิทยาลัยแห่งนี้และผู้ร่วมสมคบคิด มีความเสี่ยงสูงมากที่จะถูก สกอ.แจ้งความดำเนินคดี ไม่ต่างไปจากอดีตมหาวิทยาลัยอีสาน

ความไม่ใส่ใจจริงจังที่จะทำมหาวิทยาลัย โดยมุ่งต่อการสร้างคนที่มีคุณภาพ มีคุณธรรม และมีความรู้ความเชี่ยวชาญในศาสตร์นั้นๆ นัยหนึ่งคือการไม่เข้าใจถึงปรัชญาการศึกษา ที่มุ่งสร้างความรู้ มากกว่าสร้างกำไร ทำให้มหาวิทยาลัยหลายแห่งต้องจบชีวิตไป เป็นตราบาปให้กับนักศึกษาที่ต้องดิ้นรน ขวนขวายหาที่เรียนใหม่ และจดจำชื่อมหาวิทยาลัยนั้นๆที่โฆษณาชวนเชื่อเสียสวยหรูชวนเชื่อก่อนเข้าเรียนไปจนวันตาย

มหาวิทยาลัยบางแห่งพยายามแสดงราคา อาจารย์ผู้สอนที่มีความรู้ ความสามารถพิเศษ แต่เอาเข้าจริงไม่มีความรู้แม้แต่จะนิยามศํพท์ทางวิชาการง่ายๆ อีกทั้งวุฒิการศึกษา ผลงานและตำแหน่งวิชาการ ก็ยังห่างชั้นมากกับมหาวิทยาลัยลูกชาวบ้านในพื้นที่

แต่หากจะนึกถึงมหาหลอก มหาวิทยาลัยสันติภาพโลก คงเป็นอันดับแรกๆที่หลายคนจะนึกถึง เพราะช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ดีเอสไอรับคดีนี้เป็นคดีพิเศษในข้อหากับอธิการบดีและบุคคลอื่นรวม 7 คน ในข้อหา ร่วมตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชนผิดกฎหมาย ฉ้อโกงประชาชน และ กระทำผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ในการลงข้อความโฆษณาให้ประชาชนหลงเชื่อว่ามหาวิทยาลัยสันติภาพโลก มีศักดิ์และสิทธิเทียบเท่ามหาวิทยาลัยเอกชน รวมถึงมีการเก็บเงินในการมอบปริญญาฯ และการสร้างความน่าเชื่อถือด้วยการมอบใบประกาศวุฒิการศึกษา (ป.เอก) ให้ผู้มีชื่อเสียง หลังพบหลักฐานเส้นทางการโอนเงินของผู้เสียหายที่โอนให้กับกลุ่มผู้ต้องหา เพื่อแลกกับใบปริญญาเอก รายละ  30,000 - 150,000 บาท จังหวัดลำปางเองก็มีผู้ที่ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ประมาณ 20 คน

เมื่อเริ่มต้นด้วยการหลอก ไม่คิดจะสอนสั่ง ทุ่มเทให้ผู้เรียนอย่างจริงจัง เงาปีศาจของอดีตมหาวิทยาลัยอีสานจึงทอดทะมึนอยู่ใกล้ๆนั้นเอง


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 957  20 - 26 ธันวาคม 2556)     
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์