วันอาทิตย์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2556

วนอุทยานม่อนพระยาแช่ ป่าใกล้เมือง เรื่องใกล้ตัว


ความสูง 340 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง

วี้ด...วี้ด เสียงเล็กแหลมของนกกินปลีอกเหลืองดังอยู่ในป่าเต็งรัง ต้นไม้บางต้นเริ่มผลัดใบเตรียมรับมือกับฤดูแล้งที่จะมาถึงในไม่ช้า เสียงใบไม้แตกกรอบแกรบอยู่ใต้ฝ่าเท้า ได้กลิ่นใบไม้แห้งอวลอยู่ในสายลมหนาว

นี่ไม่ใช่ป่าใหญ่ในอุทยานแห่งชาติที่ไหน แต่เป็นป่าใกล้เมืองลำปางระยะห่างกันแค่ 5 กิโลเมตร ในเขตวนอุทยานม่อนพระยาแช่ สังกัดสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 สาขาลำปาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งได้รับการจัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2526

วนอุทยาน (Forest Park) มีความสำคัญในระดับท้องถิ่น คือสถานที่ในป่าที่มีทิวทัศน์สวยงาม มีจุดเด่นตามธรรมชาติ เช่น น้ำตก หน้าผา มีธรรมชาติเหมาะสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ มีเนื้อที่ขนาดเล็ก ไม่กว้างใหญ่เหมือนอุทยานแห่งชาติ อาจมีการแต่งเติมได้โดยไม่ทำให้ธรรมชาติต้องเสียไป เช่น ทำถนน ทางเดินเท้า ติดชื่อพรรณไม้ บริการให้ความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวตามสมควร โดยปกติวนอุทยานจะอยู่ไม่ไกลจากชุมชนมากนัก และเดินทางเข้าถึงได้สะดวก

ส่วนอุทยานแห่งชาติ (National Park) มีความสำคัญระดับประเทศ มีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล มีทรัพยากรธรรมชาติสวยงาม เหมาะสำหรับการพักผ่อน มีคุณค่าทางการศึกษาหาความรู้ เช่น เป็นแหล่งอาศัยของพรรณพืชและสัตว์ป่าหายาก หรือมีสิ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษทางด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ หรือวัฒนธรรม อุทยานแห่งชาติยังต้องมีพื้นที่อย่างน้อย 10 ตารางกิโลเมตร บริหารงานโดยรัฐบาลกลาง มิใช่รัฐ หรือระดับจังหวัด มีเจ้าหน้าที่ดูแลอย่างเพียงพอที่จะสามารถป้องกันการบุกรุกได้อย่างเด็ดขาด ข้อสำคัญ จะต้องอนุญาตให้เข้าไปท่องเที่ยวได้ ขณะเดียวกันก็ต้องมีการรักษาธรรมชาติให้คงสภาพเดิมไว้มากที่สุด

วนอุทยานม่อนพระยาแช่มีเนื้อที่ 17,261 ไร่ ครอบคลุมป่าเต็งรังเป็นส่วนใหญ่ ที่เหลือเป็นป่าเบญจพรรณ แล้วยังแวดล้อมไปด้วยหมู่บ้าน 8 หมู่บ้าน ซึ่งชาวบ้านมีวิธีบริหารจัดการในการเข้าไปใช้ประโยชน์จากผืนป่าได้อย่างน่าสนใจ กล่าวคือ มีคณะกรรมการหมู่บ้านทำหน้าที่ตั้งกฎกติกาชุมชนสำหรับการขึ้นไปหาของป่าในเขตวนอุทยานฯ อันได้แก่ หน่อไม้ เห็ด และผักหวาน โดยทำได้เพียงนำกลับมากินในครัวเรือนเท่านั้น และยังมีการแบ่งโซนในการหาของป่า อาทิ จัดโซนหาหน่อไม้ โซนหนึ่งหาได้เป็นระยะเวลาเท่านั้นเท่านี้ ครบกำหนดก็ย้ายไปหาโซนอื่นบ้าง เพื่อให้โซนที่หาไปแล้วนั้นได้มีเวลาพักฟื้นตามธรรมชาติ

ด้านการท่องเที่ยว จากการเก็บสถิติพบว่า ในแต่ละเดือนมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในเขตวนอุทยานม่อนพระยาแช่ประมาณ 1,000-2,000 คน โดยในเดือนมกราคมปีหน้านี้ วนอุทยานม่อนพระยาแช่จะมีการปรับภูมิทัศน์ครั้งใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งลานกางเต็นท์ ที่จะรองรับนักท่องเที่ยวได้มากถึง 200 คน โดยจะสร้างห้องน้ำ ห้องสุขา สำหรับชาย-หญิง ผู้พิการ และคนชรา จำนวนรวม 10 ห้อง และมีการเดินสายไฟเข้าไปให้แสงสว่างบริเวณแคมป์ รวมทั้งปรับแต่งต้นไม้เพื่อเปิดมุมมองในการชมวิวให้ชัดเจนขึ้น ดังนั้น จากลานกางเต็นท์นักท่องเที่ยวจะสามารถชมวิวตัวเมืองลำปาง ชมดวงอาทิตย์ตก ชมใบไม้เปลี่ยนสีในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ชมแสงไฟยามค่ำคืนของตัวเมือง รวมถึงนอนดูดวงดาวในคืนฟ้าเปิดได้อย่างโรแมนติก ที่สำคัญ มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง

นอกเหนือจากศาลาชมวิวที่มีอยู่แล้ว จะมีการสร้างศาลาหกเหลี่ยมเพิ่มอีก 2 แห่งสำหรับใช้เป็นพื้นที่อเนกประสงค์ มีการปลูกไม้ดอกไม้ประดับทั่วบริเวณ และจัดโครงการผ้าป่ากล้วยไม้ โดยขอความร่วมมือจากชาวบ้าน 8 หมู่บ้านรอบ ๆ เขต บ้านไหนมีกล้วยไม้ป่าก็ขอให้แบ่งนำมาไว้ที่วนอุทยานฯ จากนั้นจะมีพิธีทอดถวาย แล้วเมื่อถึงฤดูฝนก็จะนำไปปลูกคืนสู่ป่า

อย่างไรก็ตาม ความเป็นป่าใกล้เมืองไม่เอื้อต่อการเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าขนาดใหญ่ สัตว์ป่าหายาก หรือพรรณไม้เฉพาะถิ่น ป่าในวนอุทยานม่อนพระยาแช่จะมีก็แต่สัตว์ป่าขนาดเล็ก เช่น ไก่ป่า กระต่ายป่า อีเห็น ลิง และนกชนิดต่าง ๆ ส่วนพรรณไม้มีไม้ประดู่ ไม้แดง มะค่าโมง ตีนนก เต็ง รัง เหียง พลวง กล้วยไม้บางชนิด และเฟินในเขตป่าเบญจพรรณอย่างห่อข้าวย่าบา

วนอุทยานม่อนพระยาแช่ยังมีเส้นทางขี่จักรยานเสือภูเขา 4-5 เส้นทาง จึงเป็นที่รู้จักดีของบรรดาเสือภูเขาเมืองลำปาง ซึ่งเรามักจะเห็นชาวเสือภูเขาโยกเมาน์เทนไบก์คันเก่งขึ้นม่อนพระยาแช่กันเป็นประจำ โดยในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนที่ป่าเริ่มโปร่งขึ้น ยังมีการจัดแข่งขันจักรยานเสือภูเขาเป็นประจำทุกปี

สำหรับคนที่ชอบเดินป่าแบบเบา ๆ ที่นี่มีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติบ่อสองพี่น้อง ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง เป็นเส้นทางวงรอบ ระหว่างทางผ่านจุดสื่อความหมายธรรมชาติต่าง ๆ ได้แก่ 1. จุดเริ่มต้น 2. ไม้มะค่าใหญ่ 3. ไผ่ ตัวบ่งชี้ป่าเบญจพรรณ 4. เฟิน ขึ้นในที่ชื้นเท่านั้น 5. สังคมของปลวก ที่สำคัญยิ่งต่อป่า 6. ศึกษาพรรณไม้ใหญ่ 7. ชมผีเสื้อและฟังเสียงนก 8. บ่อสองพี่น้อง หลังจากนั้นทางเดินจะมาทะลุออกวัดม่อนพระยาแช่

ปฏิเสธไม่ได้ว่าวนอุทยานม่อนพระยาแช่เป็นเพียงป่าผืนเล็ก ๆ ที่ไม่ได้เลอเลิศ ระบบนิเวศของที่นี่ดำเนินไปอย่างเงียบ ๆ มีเพียงเสียงแมลงและนกร้อง กับดอกไม้กระจิริดผลิบานอยู่แทบเท้า เป็นดั่งของกำนัลจากป่าสำหรับคนที่มีความสุขได้แม้แต่กับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ใกล้ตัว

อาจบางที ปฐมบทแห่งการเรียนรู้ธรรมชาติจากป่าใกล้เมืองอันแสนเรียบง่าย จะกล่อมเกลาหัวจิตหัวใจใครสักคนให้กลายนักนิยมธรรมชาติตัวยงก็เป็นได้

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 956  13 - 19 ธันวาคม 2556)  
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์