วันอาทิตย์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2556

นักรบนกหวีด สู้ด้วยเสียง !




ม่ว่าปลายทางแห่งชัยชนะ จะปักไว้ด้วยธงชาติของกำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ หรือธงแดงยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ประวัติการสู้รบบนถนนราชดำเนินต้องจารึกเรื่องราวของนักรบนกหวีดไว้ ในฐานะอาวุธการต่อสู้แบบอหิงสา หลังจากตำนานของเสื้อเหลือง มือตบ เสื้อแดง ตีนตบ หน้ากากขาว V for Thailand รวมทั้งเครื่องมือสื่อสารม็อบมือถือ ในเดือนพฤษภาคม 2535 จนกระทั่งม็อบเฟสบุ๊ค ใน พ.ศ.นี้ ที่ส่งภาพและข่าวความเคลื่อนไหวสู่สาธารณะ ตลอด 24 ชั่วโมง

ความหมายของนกหวีด และคนเป่านกหวีด คือคนธรรมดา ที่ออกมาประกาศให้สาธารณชนรับรู้ถึงการกระทำทุจริต คอรัปชั่น ผิดจริยธรรม ทำนองเดียวกับบทบาท หมาเฝ้าบ้านของสื่อมวลชน เรื่องของคนเป่านกหวีด มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 ภายใต้การปกครองของกษัตริย์อังกฤษ

ในยุคนั้น มีกฎหมายเรียกว่า Qui tam ให้พลเมืองมีสิทธิฟ้องคดีแทนกษัตริย์ หลังสงครามประกาศเอกราชของสหรัฐ พลทหารเรือสองคนออกมาเป่านกหวีดว่า ผู้บังคับบัญชาของตนเองทำทารุณกรรมต่อเชลยทหารชาวอังกฤษ แต่เขากลับถูกผู้บังคับบัญชาลงโทษ จึงนำมาสู่การออกกฎหมายปกป้องคนเป่านกหวีด ต่อมาในช่วงสงครามกลางเมืองของสหรัฐอเมริกา เกิดคอรัปชั่นค่าใช้จ่ายทางการทหารต่างๆ จนรัฐบาลต้องออกกฎหมาย False Clmims เพื่อปกป้องและให้พลเมืองที่ช่วยเป่านกหวีด ได้รับเงินส่วนแบ่งจากค่าปรับ หรือค่าชดเชยที่ได้จากการฟ้องร้องคดี

ไม่เพียงสัญลักษณ์ของการต่อสู้ เมื่อมองในบริบทของการเมือง เผด็จการและการใช้กำลังจากปลายกระบอกปืน ก็ไม่ได้เปลี่ยนไป เปลี่ยนเพียงคนสวมเครื่องแบบเท่านั้น

เปลี่ยนเพียงทหารมาเป็นตำรวจ ภายใต้การสั่งการของนักการเมือง

หากหมุดแรกของการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ที่ลงหลักปักฐานไว้นับจากวันที่ 14 ตุลาคม 2516  ผ่านมาแล้ว 40 ปี ประชาธิปไตยก็ยังคงล้มลุกคลุกคลาน ลองผิดลองถูกกันด้วยการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งแล้วครั้งเล่า

หลังจากสิ้นยุคพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ (พ.ศ.2523 - 2531) ที่เรียกกันว่า ประชาธิปไตยครึ่งใบ  ก็มาถึงยุคของพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้ง ซึ่งมีนัยสำคัญแตกต่างจากยุค พล.ต.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ที่อำนาจและอิทธิพลของกองทัพ ยังเป็นเงาดำทอดทะมึนอยู่ แต่ในที่สุดรัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ก็สะดุดขาตัวเองล้มลง ด้วยปัญหาการทุจริต คอรัปชั่น อำนาจกลับไปอยู่ที่กองทัพอีกครั้ง

ปรากฎการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หลัง 14 ตุลาคม คือ การรัฐประหาร 3 ครั้ง และการโค่นล้มระบอบอำนาจนิยม 1  ครั้ง 14  ตุลาคม เป็นการต่อสู้ของขบวนการนิสิตนักศึกษาเพื่อโค่นล้มระบอบเผด็จการทหารที่ครอบงำสังคมไทยมาช้านาน 6 ตุลาคม เป็นการต่อต้านการกลับมาในรูปสามเณรของจอมพลถนอม กิตติขจร หรือที่เรียกขานกันในขณะนั้นว่าทรราช

พฤษภาคม 2535  เป็นการต่อสู้กับระบอบอำนาจนิยม (รสช.) ที่พยายามสืบทอดอำนาจจากการรัฐประหาร โดยอาศัยเงื่อนไขและข้ออ้างเดียวกับ คณะรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ คือการทุจริต คอรัปชั่น ซึ่งเป็นการทุจริตคอรัปชั่นที่มีความสลับซับซ้อน และขนาดใหญ่ที่สุด นับจากกรณีทุจริต คอรัปชั่นที่ผ่านมา จนกระทั่งถึงยุคทักษิณ ชินวัตร การคอรัปชั่นเชิงนโยบายก็เกิดขึ้น และเป็นที่มาของการใช้อำนาจกอบโกยเงินและผลประโยชน์เป็นของตนเองและพวกพ้องอย่างกว้างขวาง และลึกซึ้งยิ่งกว่ายุคใด

นั่นคือที่มาของนกหวีด คนเป่านกหวีด ม็อบนกหวีด ที่ส่งเสียงแหลมคม ในการต่อสู้กับการทุจริต คอรัปชั่น ต่อสู้กับรัฐบาลที่มีรากเหง้ามาจากทักษิณ ชินวัตร บนท้องถนนวันนี้


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 953 วันที่ 28 พฤศจิกายน - 5 ธันวาคม 2556) 
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์