วันอาทิตย์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2557

ปลูกด้วยหัวใจ ข้าวไรซ์เบอร์รี


ห่างจากทางหลวงหมายเลข 1 ช่วงที่ตัดผ่านบ้านปงวัง อำเภอเมืองลำปางเพียงเล็กน้อย เกษตรกร 6-7 คนกำลังก้ม ๆ เงย ๆ อยู่กลางผืนนา ในสายลมหนาวที่พัดกล้าข้าวใบสีม่วงตรงหน้าให้โบกระบัด มองไกล ๆ พวกเขาเป็นเพียงจุดเล็ก ๆ ท่ามกลางผืนดินสีน้ำตาลกว้างใหญ่ ทว่าจุดเล็ก ๆ นี้กำลังสร้างแรงกระเพื่อมไหวในสังคมคนรักสุขภาพ ด้วยข้าวไรซ์เบอร์รีที่พวกเขาลงแรงปลูก แปรรูป และขายเองแบบครบวงจร

ข้าวไรซ์เบอร์รีถูกคิดค้นขึ้นโดย รศ. ดร. อภิชาติ วรรณวิจิตร ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน และคณะ ซึ่งทำวิจัยจนได้ข้าวสายพันธุ์ใหม่ที่มีส่วนผสมอันลงตัวระหว่างข้าวหอมมะลิ 105 กับข้าวหอมนิล โดยให้ชื่อว่าข้าวไรซ์เบอร์รี นอกจากเมล็ดข้าวจะมีสีม่วงเหมือนลูกเบอร์รีแล้ว ประโยชน์ก็ยังคล้ายกัน ทั้งนี้ ข้าวไรซ์เบอร์รีมีโปรตีนถึง 2 เท่าของข้าวหอมมะลิ 105 มีสารต้านอนุมูลอิสระ ได้แก่ เบตาแคโรทีน แกมมาโอไรซานอน วิตามินอี แทนนิน สังกะสี โฟเลต ช่วยลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด มีดัชนีน้ำตาลต่ำถึงปานกลาง จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมปริมาณน้ำตาลในอาหาร ข้าวไรซ์เบอร์รีที่หุงสุกใหม่จะเป็นสีม่วงเข้ม มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ นุ่ม ไม่แข็งกระด้าง ที่สำคัญคือ อร่อย

แสงแดดยามบ่ายเริ่มแรงขึ้น แต่อากาศยังหนาว อากาศหนาวไม่ดีนักสำหรับข้าวไรซ์เบอร์รี แววมณี คล้ายสอน เกษตรกรที่ปลูกข้าวไรซ์เบอร์รีแบบครบวงจรรายแรกของเมืองลำปางบอกว่า ปีนี้หนาวจัด ทำให้ได้ต้นกล้าไม่ดีนัก สังเกตจากรากที่ยึดดินไม่แน่นเหมือนรุ่นก่อน ๆ เมื่อถอนกล้าออกจากถาดปลูกที่คล้ายรังผึ้งแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการโยนกล้า ซึ่งจะทำให้ต้นข้าวแตกกอดีกว่า หลังจากนี้อีกราว 3 วัน ข้าวจะติดตัว หมายถึงตั้งตัวได้ ราว 2 เดือนกว่าข้าวจะเริ่มตั้งท้อง และเมื่ออายุข้าวถึง 130 วันก็ได้เกี่ยว

ฟังดูเหมือนง่ายและเป็นสูตรสำเร็จเกินไป สำหรับแววมณีที่ปลูกข้าวมาทั้งชีวิตไม่ใช่เสียทีเดียว หลังจากหันหลังให้กับการปลูกข้าวแบบใช้สารเคมี แววมณีหันมาทำเกษตรอินทรีย์ด้วยการเริ่มปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี สิ่งแรกที่เป็นปัญหาใหญ่คือเรื่องน้ำ เธอต้องเจาะบ่อบาดาลเองเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้น้ำแหล่งเดียวกับนาข้าวที่ยังใช้สารเคมีอื่น ๆ และความที่ทุกอย่างต้องปลอดสารเคมีแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ ตลอดระยะเวลาของการปลูกข้าวไรซ์เบอร์รีจึงเป็นเรื่องของการประคบประหงมให้ข้าวห่างไกลจากศัตรูสำคัญอย่างเพลี้ย ตั๊กแตน หรือโรคใบไหม้ โดยการใช้ปุ๋ยและยาชีวภาพ บวกกับการดูแลอย่างใกล้ชิด หลังจากนั้นก็รอคอยข้าวออกรวงสีม่วงเม็ดอวบให้ได้ชื่นใจ ก่อนจะเก็บเกี่ยวด้วยแรงคน นำเข้าโรงสี บรรจุถุง ส่งขายทั้งในลำปางและทั่วประเทศ

แม้ข้าวไรซ์เบอร์รีจะปลูกและเก็บเกี่ยวได้ทั้งปี แต่ปริมาณที่ได้นั้นน้อยมากถ้าเทียบกับข้าวทั่วไป ประกอบกับการตอบรับชนิดดีเกินคาดจากผู้บริโภค ทำให้ผลิตออกมาเท่าไรก็ไม่พอขาย ราคาที่ตั้งไว้ 90 บาท ต่อกิโลกรัม ทำให้ไม่ต้องขึ้นอยู่กับราคาข้าวในท้องตลาดเหมือนข้าวชนิดอื่น จะว่าไปแล้วก็น่าที่จะทำให้ชาวนาในละแวกใกล้หันมาสนใจบ้าง แต่แววมณีกลับโคลงศีรษะพลางบอกว่า พวกเขาต่างมองว่ามันเป็นเรื่องยุ่งยาก ยุ่งตั้งแต่ขั้นตอนแรกที่ต้องมองหาแหล่งน้ำบาดาลเองนั่นแล้ว ยังไม่นับเรื่องหัวใจและการทุ่มเทที่ต้องมากกว่าการปลูกข้าวแบบทั่วไปอีก นี่เองจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมข้าวไรซ์เบอร์รีจึงมีราคาค่างวดที่แพงลิบ แต่สำหรับคนรักสุขภาพที่มองเห็นถึงประโยชน์อันมหาศาล พวกเขาก็พร้อมที่จะจ่าย

“ลูกค้าที่เป็นโรคเหน็บชา ความดัน เบาหวาน ซื้อไปกินยังไม่หมดถุงเลย ต่างก็บอกว่าอาการดีขึ้นจนรู้สึกได้ค่ะ” สุธามาศ เจนเจริญพันธ์ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวไรซ์เบอร์รีรายที่สอง และเป็นเจ้าของแบรนด์ข้าวโอสถ เล่าให้ฟัง สุธามาศหันหลังให้กับงานประจำในเมืองหลวง แล้วผันตัวเองมาเป็นเกษตรกรที่สนใจเกษตรอินทรีย์ วันนี้เธอมาเรียนรู้การโยนกล้ากับแววมณี เพื่อกลับไปทดลองทำกับแปลงข้าวไรซ์เบอร์รีของเธอที่บ้านทราย เธอทิ้งท้ายว่า “กินข้าวเป็นยา ดีกว่ากินยาเป็นอาหาร”

สายลมหนาวยังกรูเกรียว เกษตรกร 6-7 คนเงยหน้าขึ้น พวกเขาหยิบต้นกล้าออกจากกระสอบ โยนมันออกไปในผืนนากว้างด้วยความหวังให้ผืนดินช่วยโอบอุ้มต้นกล้ากระจิริด เพื่อส่งผ่านเมล็ดพันธุ์แห่งสุขภาพ ซึ่งงอกงามขึ้นจากหัวใจ และเราจะรู้สึกได้ในทุกคำเคี้ยว

หมายเหตุ : ข้าวไรซ์เบอร์รีจากโครงการพัฒนาและส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ครบวงจร มีจำหน่ายบริเวณทางออกโรงพยาบาลศูนย์ลำปางและที่ที่ทำการฯ บ้านปงวัง โทรศัพท์ 08-9560-9880 ข้าวโอสถจำหน่ายที่ศูนย์สาธิตการตลาดเทศบาลนครลำปาง บริเวณหน้าโรงเรียนเทศบาล 4 และถนนวัฒนธรรมในวันศุกร์ โทรศัพท์ 08-1825-8447



(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 961  17 - 23 มกราคม 2557) 
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์