วันพฤหัสบดีที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2557

จอกหูหนูรุก กระทบกิ่วลม ท่องเที่ยว - แพชะงัก


จอกหูหนูแพร่พันธุ์เหนือเขื่อนกิ่วลม แพท่องเที่ยวกระทบหนัก ชุมชนชาวแพระดมกำลังกับเจ้าหน้าที่ชลประทานตักจอกหูหนูขึ้นทิ้งบนบก แก้ปัญหาเฉพาะหน้าชั่วคราว ด้านสิ่งแวดล้อมเตือน หากไม่กำจัดโดยเร็ว แพร่ระบาดในเขื่อนยางแล้งนี้ แน่นอน

ผู้สื่อข่าวรายงานที่สันเขื่อนกิ่วลม จังหวัดลำปางขณะนี้ เกิดมีจอกแพร่ระบาดบนผิวน้ำจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อท่าเรือหางยาว และแพท่องเที่ยวจากบริเวณสันเขื่อนไม่สามารถเดินเรือได้ตามปกติ ล่าสุด ผู้ประกอบการชุมชนชาวแพ และเจ้าหน้าที่โครงการ ส่งน้ำและบำรุงรักษากิ่วลม- กิ่วคอหมา ร่วมกันกำจัดจอกหูหนูที่เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วมาตั้งแต่วันที่ 29 ม.ค. เป็นต้นมา

นายปั๋น มีครัว ผู้ประกอบการเรือและแพท่องเที่ยว และคณะกรรมการชุมชนชาวแพ กิ่วลม เผยว่า ในช่วงเดือนธันวาคม ที่ผ่านมาเริ่มมีจอกลอยมาสะสมบริเวณสันเขื่อน และเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างรวดเร็ว กระทั่งขณะนี้ชาวแพและชาวบ้านที่ใช้เรือบริการนักท่องเที่ยวและเดินทางจากเขื่อนไปขึ้นท่าที่สันเขื่อนได้ รับความเดือดร้อนไม่สามารถเดินเรือและแพเข้าออกท่าได้สะดวกเพราะรากของจอกติดใต้ท้องแพ และใบพัดต้องใช้เวลานานกว่าครึ่งชั่วโมจึงเข้าออกท่าแพได้ชุมชนชาวแพจึงได้หารือร่วมกับทางชลประทานหน่วยงานที่ดูแลเขื่อนกิ่วลมเพื่อหาทางออก จึงได้ร่วมกันลงแรงมาช่วยกันโกยจอกขึ้นมาจากผิวหน้าน้ำและขนออกจากสันเขื่อน เพื่อลดปริมาณความหนาแน่นให้เรือเดินสะดวกขึ้น เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ระหว่างรอหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยแก้ไข

"ที่เขื่อนกิ่วลมมีแพท่องเที่ยวทั้งหมด 35 ลำ และเรือหางยาวประมาณ 15 ลำ ทั้งหมด ต้องเข้าออกท่าที่สันเขื่อน แต่เมื่อมีจอกหูหนูสะสมมากทำให้เข้าออกท่าลำบาก นักท่องเที่ยวที่มาขึ้นแพ ต้องรอนานกว่าปกติ ผมเชื่อว่าขณะนี้จอกหูหนูมีมากกว่า 100 ตัน ซึ่งหนาแน่นเกินแรงคนจะทำได้ ดังนั้น จึงต้องอาศัยหน่วยงานรัฐใช้เครื่องจักรมาช่วยกำจัด และอยากให้ทุกฝ่ายลงมาช่วยเหลือกำจัดโดยเร็วเนื่องจากช่วงนี้เป็นฤดูการท่องเที่ยว"

นายฤทัย พัชรานุรักษ์  ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากิ่วลม-กิ่วคอหมา เปิดเผยว่า ขณะนี้ ได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่และชุมชนชาวแพมาช่วยกันตักจอกหูหนูขึ้นไปทิ้งบนบก เพื่อบรรเทาปัญหาเบื้องต้น ความหนาแน่นของจอกหูหนูที่เป็นอุปสรรคต่อการเดินแพและเรือต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน ขณะเดียวกันได้ เสนอของบประมาณเร่งด่วนไปยังกรมชลประทานเพื่อ จัดหาเรือกำจัดวัชพืชมาช่วยกำจัด เนื่องจาก จอกหูหนูมีจำนวนมาก ทั้งสันเขื่อนและรอบของอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อน ประมาณ 900 ไร่  คิดเป็น 5% ของพื้นที่เขื่อนทั้งหมด 19,000 ไร่

"จอกเหล่านี้คาดว่าจะไหลมาตามน้ำที่มาจากต้นน้ำ ที่ไหลผ่านชุมชน เขตอำเภอแจ้ห่ม แล้วไหลลงมาอยู่ในเขื่อนและแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ขณะนี้ ทางเขื่อนได้ปล่อยทุ่นเพื่อกั้นจอกไว้ที่สันเขื่อนเพื่อง่ายต่อการกำจัด และยังไม่ปล่อยออกจากเขื่อนป้องกันการแพร่กระจายในแม่น้ำวัง ด้านล่างเขื่อน" 

ด้านนายสุวิทย์ ขัตติยวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 2 ลำปาง เผยว่า ภาวะที่เกิดจอกหูหนูแพร่กระจายหนักอย่างนี้ ทางวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ต้องวิเคราะห์ว่าการแพร่กระจายของจอกแหนนั้น มีปัจจัยจากอาหารของจอกซึ่งหมายถึงสารเคมี และภาวะน้ำเสียที่ปนมากับน้ำ ทำให้แพร่กระจายได้เร็ว ซึ่งต้องดูภาพรวมทั้งหมด ว่าเหนือเขื่อนและต้นน้ำ มีการใช้สารเคมีทางการเกษตร และอุตสาหกรรมรวมถึงน้ำเสียจากชุมชน สะสม เมื่อเกิดจอกในแหล่งน้ำเขตชุมชนไหลมาลงที่เขื่อนก็ ต้องเกิดการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วอย่างแน่นอน

"ผมมองว่าเรื่องนี้เป็นปรากฏการคล้ายกับที่เกิดขึ้นในกว๊านพะเยา และที่จังหวัด สุพรรณบุรี นครปฐม ที่มีจอกระบาด แล้วเกิดปัญหาที่ปลายน้ำ และเชื่อว่าหากจอกไหลลงไปตามแม่น้ำวัง เพียงเล็กน้อยในฤดูแล้งนี้ จะเกิดภาวะแพร่กระจายในแม่น้ำวังเหนือเขื่อนยางอย่างแน่นอน เพราะบริเวณตัวเมืองมีน้ำเสียซึ่งเป็นอาหารของจอกจำนวนมาก ดังนั้นทุกฝ่ายต้องเร่งจับมือกันแก้ปัญหา จากต้นน้ำ และกำจัดที่เขื่อน และกำจัดจอกหูหนูตลอดเส้นทางแม่น้ำ ก่อนที่จะแพร่กระจายอย่างหนักในฤดูแล้งนี้ " นายสุวิทย์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวได้สอบถามข้อมูลด้านวิชาการไปยัง ดร.สุรพล ใจวงศ์ษา อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัย เทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง กล่าวว่า ปัญหาการเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วของจอกน่าจะเกิดจากสภาพน้ำนั้นเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของวัชพืชน้ำ  เช่น มีแสงแดดดี มีธาตุอาหารที่วัชพืชน้ำต้องการ คือ ธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และ โปแตสเซียม และในกรณีที่มีวัชพืชน้ำขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นตัวชี้วัดให้เห็นว่าในแหล่งน้ำนั้นมีธาตุอาหารต่างๆอย่างอุดมสมบูรณ์ จึงก่อให้เกิดภาวะยูโทรฟิเคชั่น (Eutrophication)  ซึ่งการเจริญเติบโตของวัชพืชเหล่านี้นับว่าเป็นอันตรายต่อระบบนิเวศน์เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากจะบดบังแสงแดดทำให้พืชน้ำอื่นๆตาย   และทำให้ออกซิเจนละลายในน้ำได้น้อยลง ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ  และที่สำคัญวัชพืชเหล่านี้เป็นอุปสรรคปัญหาต่อการอุปโภคและบริโภคจากแหล่งน้ำนั้นๆ



เมื่อสอบถามเพิ่มเติมว่า การที่วัชพืชน้ำเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วขนาดนี้ เรียกว่าผิดปกติ หรือไม่อย่างไร เป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติไหม? ดร.สุรพล กล่าวว่า การเจริญเติบโตของวัชพืชน้ำนั้นต้องการธาตุอาหาร ซึ่งปกติแล้วในแหล่งน้ำธรรมชาติจะมีธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และ โปแตสเซียม ในปริมาณที่ไม่สูงมากนัก แต่ในแหล่งน้ำที่รองรับน้ำทิ้งจากชุมชนหรืออุตสาหกรรมมักจะมี ไนโตรเจน และ ฟอสฟอรัสสูง ซึ่งส่งเสริมการเจริญเติบโตของวัชพืชได้เป็นอย่างดี ดังนั้นการเจริญเติบโตเพิ่มจำนวนของวัชพืชน้ำอย่างรวดเร็ว จากที่ไม่เคยมีปรากฏการณ์นี้มาก่อนนั้น บ่งชี้ให้เห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงของสมบัติของน้ำที่น่าเป็นห่วง





(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 963  31 มกราคม - 6 กุมภาพันธ์ 2557) 
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์