วันอาทิตย์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

มุมเล็ก ๆ ในวัดไหล่หิน


ช่วงเที่ยงของวันต้นสัปดาห์ วัดไหล่หิน อำเภอเกาะคา เงียบสงบ ผู้เฒ่าผู้แก่พากันเอนหลังพักผ่อนอยู่ในศาลาเพื่อหลบเปลวแดดเต้นระยิบระยับด้านนอก เป็นที่รู้กันว่า วัดโบราณที่สร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 22-23 แห่งนี้ ชวนตื่นตะลึงด้วยงานศิลปกรรมล้านนาสกุลช่างลำปางในช่วงที่ล้านนาอยู่ใต้การปกครองของพม่า สิ่งสำคัญที่ช่วยสร้างสีสันให้วัดไหล่หินก็คือ สัตว์หิมพานต์ที่อยู่รายรอบซุ้มประตูโขง ทั้งหงส์ กินนร กินรี และพญานาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งกินรีนั้น ได้รับการยกย่องว่าเป็นกินรีที่งามที่สุดในล้านนา และด้วยความที่สัตว์หิมพานต์เหล่านี้เป็นงานดินเผาเคลือบเซรามิกอายุ 400 ปีร่วมสมัยกับช่อฟ้าวัดพระธาตุเสด็จ จึงเป็นหลักฐานยืนยันได้ว่า เซรามิกลำปางไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น แต่มีมาเนิ่นนานแล้ว

            ตำนานของวัดระบุว่า ส่วนใหญ่สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ถูกสร้างและบูรณะขึ้นในสมัยครูบามหาป่าเกสระปัญโญ ผู้มีความสัมพันธ์อันดีกับเจ้าฟ้าเมืองเชียงตุง โดยท่านเป็นพระสงฆ์ที่มีบารมี เป็นที่เคารพศรัทธา ครั้งหนึ่งท่านธุดงค์ไปถึงเมืองเชียงตุง ชายคนหนึ่งศรัทธาท่านมาก ถามว่าท่านอยู่ที่ไหน ท่านไม่ตอบ แต่ก่อนจากกันท่านได้มอบกะลาซีกหนึ่งแก่ชายคนดังกล่าว ต่อมาชายคนนี้ก็ตามหาท่านจนพบที่เมืองลำปางทั้ง ๆ ที่ไม่ทราบมาก่อนว่าท่านพำนักอยู่ที่ใด และนำกะลาซีกที่ตนมีกับซีกที่ท่านเก็บไว้มาประกบเข้ากันพอดี เขาจึงเกิดศรัทธาอย่างแรงกล้า ขอบูรณะวัดและสร้างวิหาร โดยจารึกบนแผ่นไม้ในวิหารระบุว่า ครูบามหาป่าเกสระปัญโญเป็นประธานสร้างวิหารเมื่อปี พ.ศ. 2226

            สำหรับวัดไหล่หิน แน่นอนว่าวิหารโถงนั้นงามจับใจควรแก่การเข้าไปชมอยู่แล้ว แต่มุมซ้ายด้านหน้าของวัดยังเป็นที่ตั้งของหอพิพิธภัณฑ์โบราณล้านนา สุวรรณกีฏะศรัทธาสามัคคี พิพิธภัณฑ์เล็ก ๆ ที่น่าสนใจด้วยข้าวของโบราณแปลกตา โดยเมื่อครั้งที่สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเชียงใหม่ จัดงาน มิวเซียมเฟสติวัล 2010” เมื่อปี พ.ศ. 2553 พิพิธภัณฑ์วัดไหล่หินก็เป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเขตภาคเหนือตอนบนที่ได้มีโอกาสไปเปิดตัวต่อสาธารณชนในงานนั้นด้วย

            กล่าวได้ว่า พิพิธภัณฑ์วัดไหล่หินเกิดขึ้นจากความร่วมมือของชาวบ้าน ที่ได้ร่วมแรงร่วมใจกันเก็บสะสมสิ่งของเครื่องใช้โบราณในท้องถิ่น รวมทั้งสมบัติเก่าแก่ทรงคุณค่าของครูบามหาป่าเกสระปัญโญ มารวบรวมไว้ที่ศาลาวัด ต่อมาในปี พ.ศ. 2530 คณะศรัทธาวัดไหล่หินจึงได้ร่วมกันจัดสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ขึ้น ทำให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีเครื่องใช้ที่เป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชุมชนสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งที่เป็นวัตถุทางศาสนาและพิธีกรรม ตลอดจนเครื่องมือเครื่องใช้ในวิถีชีวิตของชุมชนดั้งเดิม กระทั่งปี พ.ศ. 2547 ก็ได้รับงบประมาณมาปรับปรุงและจัดแสดงอย่างเต็มรูปแบบ ภายในพื้นที่เล็ก ๆ จึงเต็มแน่นไปด้วยเรื่องราวหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิตความเป็นอยู่ งานประเพณี ข้าวของเครื่องใช้ที่สะท้อนถึงภูมิปัญญาชาวบ้าน ของใช้ประกอบพิธีกรรมในอดีต และของใช้ของครูบามหาป่าเกสระปัญโญ
            ทั้งหมดนั้นเมื่อเดินชมจนครบถ้วนอาจชวนให้ถวิลหาอดีต ว่าเมื่อก่อนวิถีของเราช่างมีเอกลักษณ์ พิธีกรรมทางศาสนาของเราช่างขรึมขลังและมีความหมาย ดูจากข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ซึ่งบอกคนรุ่นหลังอย่างเราว่า คนโบราณเขาประดิษฐ์คิดสรรค์ข้าวของที่ล้วนผ่านกระบวนการคิดมาอย่างแยบยล

            ถัดจากพิพิธภัณฑ์เข้าไปด้านในยังมีกลุ่มผู้สูงอายุทอตุงและถุงย่าม ซึ่งเราจะเห็นสีสันของตุงใยและตุงทอสะดุดตา ผู้เฒ่าผู้แก่ที่เป็นสมาชิกของกลุ่มมีอยู่ด้วยกัน 8 คน ต่างขะมักเขม้นกับการงานตรงหน้า ขณะเดียวกันก็พูดคุยกันสัพเพเหระราวกับว่า นี่คือพื้นที่พบปะสังสรรค์กับมวลมิตรมากกว่า

กี่พื้นเมืองทั้ง 3 หลังนั้นมีแม่เฒ่านั่งทอย่าม สไบ และผ้าขาวม้า อีกส่วนหนึ่งนั่งทำตุงอยู่ใกล้ ๆ ตุงสีสวยมีทั้งแบบดั้งเดิมที่สืบต่อฝีมือกันมาแต่โบราณ และแบบประยุกต์ให้ดูร่วมสมัยขึ้น โดยใช้ลูกปัดและทำพู่ห้อยประดับเข้าไป ที่เข้ากับยุคสมัยเห็นจะเป็นตุงลายธงชาติ ซึ่งนักท่องเที่ยวชอบกันนัก ตุงผืนเล็กอาจใช้เวลา 1-2 วัน ส่วนผืนใหญ่ใช้เวลา 2-3 วัน ด้านสนนราคา หากได้ไถ่ถามถึงวิธีการทำอันละเอียดอ่อน และต้องอาศัยสมาธิอย่างมาก รวมถึงเห็นภาพแม่เฒ่าเอนหลังพักเป็นระยะระหว่างทำตุงนั้น จะไม่สามารถต่อรองราคาได้ลงเลย อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนการได้นั่งลงเรียนรู้ถึงวิถีดั้งเดิมจากปากผู้เฒ่าผู้แก่ที่นี่ ซึ่งเต็มอกเต็มใจเล่าเรื่องนั้นเรื่องนี้ให้คนรุ่นหลังฟังอย่างไม่รู้เบื่อ คือคุณค่าที่ประเมินราคาค่างวดกันไม่ได้จริง ๆ
           
           
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 965  ประจำวันที่ 14-20 กุมภาพันธ์ 2557)   


Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์