วันจันทร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

เขาเป็นใคร ชายนิรนาม


ม้ศาลแพ่งจะวินิจฉัย การมีอยู่ต่อไปของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ด้วยเห็นว่า เป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร อันสอดรับกับคำแถลงปิดคดีที่ธาริต เพ็งดิษฐ์ ยื่นต่อศาลว่าในสมัยของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ศาลยังมีคำวินิจฉัยว่า อำนาจการตรา พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นอำนาจฝ่ายบริหาร แต่ความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ ก็คือ คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวท้ายคำวินิจฉัย ที่ลิดรอนอำนาจทุกข้อที่กฎหมายให้อำนาจนายกรัฐมนตรีที่จะออกข้อกำหนด เพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่รัฐบาลเรียกว่าฉุกเฉินอย่างยิ่ง

แปลว่า ถึงแม้ยังมี ศรส.แต่ก็ไม่มีเหตุผลที่ต้องมียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง และพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว เพราะจำเลยทั้งสามคนจะสิ้นสภาพการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปโดยปริยาย

ศาลพิพากษาว่า ห้ามจำเลยทั้งสามนำประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงมาใช้บังคับ เพื่อจะออกประกาศและข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยให้ข้อบังคับตามประกาศและข้อกำหนดดังกล่าวไม่มีผลบังคับต่อโจทก์และประชาชนนับแต่วันที่ 21 ม.ค.2557  รวมทั้งไม่ให้จำเลยทั้งสามกระทำการดังต่อไปนี้ รวม 9 ข้อ

ประกอบด้วย 1. ห้ามมิให้จำเลยทั้งสามใช้หรือสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ใช้กำลังและหรืออาวุธเข้าสลายการชุมนุมของโจทก์และประชาชน ที่ชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ตามรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ม.63 วรรคหนึ่ง 2.ห้ามมิให้จำเลยทั้งสามมีคำสั่งยึดหรืออายัดสินค้า เครื่องอุบโภคบริโภค เคมีภัณฑ์ หรือวัตถุอื่นใดที่ได้ใช้หรือจะใช้สิ่งนั้น เพื่อการกระทำการหรือสนับสนุนของโจทก์และประชาชน 3.ห้ามมิให้จำเลยทั้งสามออกคำสั่งตรวจค้น รื้อ ถอน หรือทำลายซึ่งอาคารสิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งกีดขวางของโจทก์และประชาชน

 4. ห้ามมิให้จำเลยทั้งสามสั่งการ ให้การซื้อขาย ใช้ หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งสินค้าเวชภัณฑ์ เครื่องอุปโภคบริโภค เคมีภัณฑ์ หรือวัสดุอุปกรณ์อย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งอาจใช้ในการชุมนุมของโจทก์และประชาชน 5.ห้ามมิให้จำเลยทั้งสามสั่งการ ห้ามกระทำการอย่างใดๆ ที่เป็นการปิดการจราจร ปิดเส้นทางคมนาคม หรือกระทำการอื่นใดที่ทำให้ไม่อาจใช้เส้นทางคมนาคมได้ตามปกติในทุกเขตพื้นที่ที่โจทก์และประชาชนใช้ในการชุมนุม 6.ห้ามมิให้จำเลยทั้งสามประกาศกำหนดพื้นที่ที่ห้ามมีการชุมนุมของโจทก์และประชาชนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป 7.ห้ามมิให้จำเลยทั้งสามสั่งการห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขในการใช้เส้นทางคมนาคม หรือการใช้ยานพาหนะของโจทก์และประชาชนในการชุมนุม 8.ห้ามมิให้จำเลยทั้งสามสั่งห้ามโจทก์และประชาชนใช้อาคาร หรือเข้าไป หรืออยู่ในสถานที่ หรือห้ามเข้าไปในพื้นที่ใดๆ และ 9.ห้ามมิให้จำเลยทั้งสามสั่งห้ามให้อพยพโจทก์และประชาชนออกจากพื้นที่การชุมนุม และห้ามมิให้ออกคำสั่งห้ามโจทก์และประชาชนเข้าไปในพื้นที่ชุมนุม

คำวินิจฉัยตอนต้น ที่ยืนยันอำนาจในการตรา พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ของรัฐบาล อาจทำให้เฉลิม อยู่บำรุง ลิงโลดไปได้ชั่วขณะหนึ่ง แต่เมื่อฟังต่อถึงเงื่อนไขในการห้ามใช้ข้อกำหนด โดยเฉพาะในการสลายการชุมนุม ซึ่งศาลชี้ว่า เป็นการใช้สิทธิในการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ ผอ.ศรส.ก็อาจต้องเก็บเสื้อผ้ากลับบ้าน เพราะไม่มีงานที่จะข่มขู่ คุกคามใครได้อีก

แม้ว่านายสุเทพ เทือกสุบรรณและพวก ยังไม่พ้นพงหนามในคดีที่มีการออกหมายจับก่อนหน้านี้ รวมทั้งการเข้าสู่กระบวนการทางศาลในคดีสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 แต่คำสั่งคุ้มครองของศาล ก็เท่ากับชัยชนะของผู้ชุมนุมที่ยังมีพลังอำนาจในการกดดันรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต่อไป

เกมชิงไหวชิงพริบ ท้าชกกันระหว่างสุเทพ เทือกสุบรรณ และร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ไม่ได้จบลงเพราะการสิ้นสภาพบังคับใช้ ของ พ.ร.ก. เพราะกว่าศาลจะวินิจฉัย หลายชีวิตต้องจากไป โดยไม่แน่ชัดว่าเป็นฝีมือของฝ่ายใด


ชายนิรนามยังมีบทบาทสำคัญในสมรภูมินี้ พวกเขาเป็นใคร และจะมาปรากฏตัวอีกเมื่อใด ยังเป็นฉากที่จบไม่ลงในสงครามครั้งนี้


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 966  ประจำวันที่ 21-27 กุมภาพันธ์ 2557)   
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์