วันพฤหัสบดีที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

รถม้าเมืองฝุ่น หมอกควันพุ่งภาคเหนือ



ลำปางหมอกควันพุ่งเกินมาตรฐาน 146 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อันดับ 2 ภาคเหนือ ถึงแม้ผู้ว่าฯจะกำหนด 100 วันอันตรายห้ามเผาแต่ยังพบว่ามีการเผาและเกิดไฟป่าอย่างต่อเนื่อง  และไม่เคยจับกุมตัวผู้กระทำผิดได้  ขณะที่หลายท้องถิ่นตื่นตัวรับมือหาแนวทางการป้องกันและแก้ปัญหาไฟป่าหมอกควัน หากพบว่ายังปล่อยปะละเลย เตรียมที่จะนำมาตรการทางการปกครองเข้าจัดการทันที

สภาพอากาศทั่วพื้นที่จังหวัดลำปาง ยังคงมีกลุ่มควันไฟลอยปกคลุมจำนวนมาก โดยประชาชนสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าในระยะไกล ซึ่งกรมควบคุมมลพิษได้รายงานค่าเฉลี่ยฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศของพื้นที่ จ.ลำปาง วันที่ 11 ก.พ. 57 พบว่า หมอกควันไฟ และฝุ่นละอองที่ปกคลุมพื้นที่ จ.ลำปาง ค่าเฉลี่ยได้เกินค่ามาตรฐาน 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรสูงสุดในภาคเหนือ  โดยวัดค่าได้สูงสุด 146 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรที่สถานีอนามัยบ้านสบป้าด ต.สบป้าด อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง  และที่สถานีอุตุนิยมวิทยาลำปาง อ.เมือง จ.ลำปาง วัดค่าได้ 144 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร  ส่วนวันที่ 12 ก.พ. 57 สถานีอุตุนิยมวิทยาลำปาง อ.เมือง จ.ลำปาง วัดค่าได้ 136 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร  โดยมีค่าเกินมาตรฐานรองจาก จ.แพร่  ถือว่าสภาพอากาศส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายของประชาชนที่หายใจในที่โล่งแจ้ง  ส่วนเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศอีก 2 แห่ง คือ ที่การประปาภูมิภาค อ.แม่เมาะ และสถานีอนามัยบ้านท่าสี อ.แม่เมาะ ไม่สามารถวัดค่าได้ เพราะเกิดขัดข้องมาหลายวันแล้ว

ในส่วนของ จ.ลำปาง ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้ประกาศกำหนดช่วงห้ามเผา 100 วันอันตราย เป็นเขตควบคุมไฟป่าและกำหนดมาตรการป้องกันอย่างเข้มงวด มาตั้งแต่วันที่ 27 ม.ค.- 6 พ.ค.57  โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นายอำเภอ และหน่วยงานที่รับผิดชอบประสานผู้นำชุมชนและภาคีเครือข่าย จัดเวรยามดูแลและเฝ้ารังวังพื้นที่ หากพบผู้ใดจุดไฟเผาป่า หรือ ปล่อยให้ไฟลุกลามเข้าไปในเขตป่าอนุรักษ์ และป่าสงวนแห่งชาติ ถือว่ามีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 15 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 150,000 บาท  แต่ปรากฏว่ายังพบการเผาป่าและไฟป่าอย่างต่อเนื่อง ทำให้ จ.ลำปาง มีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินมาตรฐานมีผลกระทบต่อสุขภาพ 

ในขณะที่ท้องถิ่นหลายแห่งเกิดความตื่นตัวกับปัญหาดังกล่าว โดยได้จัดให้ความรู้และแนะนำเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ปัญหาไฟป่า  โดยที่ อ.เกาะคา  นายสุรพล สัตยารักษ์ ปลัดจังหวัดลำปาง นายศรีโรจน์ นิมมานพัชรินทร์ นายอำเภอเกาะคา ได้เชิญผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตำรวจ ในพื้นที่ อ.เกาคา จ.ลำปาง เข้ามารับทราบแนวทางและการปฏิบัติงานตามแผนปฏิบัติการป้องกัน และแก้ไขปัญหาไฟป่า และหมอกควันไฟของ จ.ลำปาง แม้ในปีที่ผ่านมา 2556 ในพื้นที่แหงนี้ จะเกิดไฟป่าน้อยที่สุดของจังหวัดลำปาง จากสถิติพบว่าเกิดขึ้นเพียง 6 ครั้ง แต่เพื่อเป็นการป้องกันและปฏิบัติตามแนวทางของจังหวัดลำปางในการที่จะเร่งทำความเข้าใจแก่ชาวบ้านในพื้นที่ไม่ให้เผาป่า เพื่อทำการล่าสัตว์หาของป่า หรือเผาเศษวัชพืชหญ้าแห้ง ซึ่งในปีนี้กลับพบว่าในพื้นที่พบมีการลักลอบเผาป่าเกิดขึ้นหลายครั้ง นอกจากนี้ยังมีการเผาไร่อ้อย ซึ่งได้เกิดการลุกลามไหม้ป่าสร้างความเสียหายเป็นพื้นที่กว้างและส่งผลกระทบทำให้เกิดมลพิษทางอากาศแล้ว  แต่ก็ไม่สามารถจับกุมตัวผู้กระทำผิดได้แม้แต่รายเดียว ดังนั้นจึงกำชับผู้ที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมดได้นำแนวทางไปชี้แจงลูกบ้านทุกคนทราบและให้เร่งปฏิบัติตามในช่วง 100 วันงดเผาเด็ดขาดและหากพบว่าในท้องที่ไหนเกิดเหตุขึ้นบ่อยครั้งจะได้นำมาตรการ ทางด้านการปกครองเข้าดำเนินการกับผู้นำนั้นๆทันที 

ด้านเทศบาลตำบลบ้านสา ลำปาง ดึงผู้นำชุมชนอบรมการดับไฟป่าอย่างถูกวิธี ลดหมอกควันไฟช่วงหน้าแล้ง โดยเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลำปาง พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดลำปาง นำผู้นำชุมชนกว่า 100 คน เข้าทำการฝึกอบรมให้ความรู้ด้านการดับไฟป่า ตลอดจนการทำแนวกันไฟป่าอย่างถูกวิธี และเพื่อความปลอดภัยในการปฏิบัติการเข้าดับไฟป่า พร้อมปลุกจิตสำนึกให้หันมาร่วมกันอนุรักษ์และรักษาสิ่งแวดล้อมผืนป่าสงวนแห่งชาติ และผืนป่าชุมชน ที่ชาวบ้านช่วยกันอนุรักษ์ไว้กว่า 5,000 ไร่ 

นายสุวิทย์  ขัตติยวงศ์  ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 2 ลำปาง  กล่าวว่า  สาเหตุที่ทำให้เกิดหมอกควันยังคงเป็นสาเหตุเดิมคือเกิดจากชาวบ้านในพื้นที่รอบนอกเมืองลำปาง  หรือในป่าเขา  นิยมรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำเกษตรกรรม  หลังจากทำการเพาะปลูกพืชผลเสร็จแล้วก็จะเผาทันที  ไม่ว่าจะเป็นต้นข้าว  ตอซัง  ทั้งนี้เผาเพื่อเตรียมพื้นที่ในการเพาะปลูกในครั้งต่อไป  และยังมีชาวบ้านบางหมู่บ้านเข้าป่าเพื่อหาอาหาร  โดยเฉพาะไข่มดแดง  ชาวบ้านก็จะเข้าไปทำลายรังมดแดงเพื่อนำไปประกอบอาหาร  การกระทำดังกล่าวนี้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างยิ่ง  ไม่เพียงเฉพาะชาวบ้านในเขตรอบนอกเท่านั้น  ชุมชนในเมืองลำปางก็มีการเผาเช่นเดียวกัน  ไม่ว่าจะเป็นใบไม้แห้งที่ร่วงหล่นแล้ว  เศษขยะต่างๆ จนถึงขยะมีพิษเช่นยางรถยนต์  จากการสอบถามชาวบ้านแล้วพบว่ามีบุคคลบางประเภททำลายยางรถยนต์ด้วยการเผาทำให้ส่งกลิ่นเหม็นไปทั่ว  และเกิดควันดำลอยขึ้นสู่อากาศ  โดยนิสัยมักง่ายแล้ว  ผู้ที่เผาก็คิดว่าเป็นเรื่องปกติ  สักพักควันก็หายไปเอง  พฤติกรรมอย่างนี้จึงทำให้มีผู้คนซึมซับเป็นทอดๆ และนิยมทำลายด้วยการเผาเท่านั้น  แต่ไม่ได้คำนึงถึงผลที่ตามมา  

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 965  ประจำวันที่ 14-20 กุมภาพันธ์ 2557) 
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์