วันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

เด็กในม็อบ จุดดำในผ้าขาว


ไม่น่าแปลกใจที่คนจำนวนมาก ทั้งระดับชาวบ้าน และกลุ่มคนชั้นกลางในเมือง กลุ่มนักวิชาการ คนงานคอปกขาว ดารานักแสดง เข้าร่วมขบวนการโค่นล้มระบอบทักษิณ ซึ่งมียิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นตัวแทน เพราะอิทธิพลในการตอกย้ำความเกลียดชังที่กระทำซ้ำๆ สร้างความฮึกเหิมและอารมณ์ความรู้สึกร่วม จนกระทั่งอาจก้าวข้ามเหตุผลและความเป็นจริงว่า การต่อสู้กับอำนาจรัฐครั้งนี้ ยากนักที่จะเอาชนะได้ในเร็ววัน

ในระหว่างการสู้รบด้วยวาทกรรม บนเวที กปปส.สร้างดาวรุ่งมากมาย หลายคนที่มีแววจะเอาดีได้ในทางการเมือง อีกหลายคนได้โอกาสระบายความคับแค้นที่มีต่อรัฐบาล เรื่องของผู้ใหญ่เป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้ แต่ที่มีคำถาม คือการเสนอบทบาทของเด็กที่น่าจะยังไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอ ที่จะแยกแยะความจริงและภาวะแห่งอารมณ์ที่ถูกสาดใส่เข้าสู่ผู้ชุมนุม เขากลายเป็นเครื่องมือของผู้ใหญ่ที่จะสร้างความเกลียดชัง ความสะใจ ความแปลกใหม่ ในการที่เด็กตัวเล็กๆ กลายเป็นดาวไฮปาร์คบนเวที ในท่ามกลางความขัดแย้ง

ทุกปัญหาย่อมมีทางออกเสมอ แต่ตอนนี้ทางออกของประเทศไทยที่ลุกลามขยายผลทุกวันนี้ยังมองไม่เห็นว่าคำตอบสุดท้ายของเหตุการณ์บ้านเมืองนี้จะลงเอยอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่น่าห่วงคือ การนำเด็กเล็กไปร่วมชุมนุมด้วย 

เมื่อปลายปีที่ผ่านมา เห็นคลิป “น้องแป้ง” วัย 5 ขวบ ขึ้นเวที กปปส.ราชดำเนินพร้อมมอบเงินบริจาคสี่หมื่นบาทให้ลุงกำนันสุเทพ ประเด็นที่น่าสนใจและทำให้ตกใจอยู่ที่น้องแป้งปราศรัยด้วยถ้อยคำ และวิธีการพูดที่ “เลียนแบบ” ผู้ใหญ่แทบทั้งหมด ที่แย่ไปกว่านั้นข้างหลังน้องแป้งมีผู้ใหญ่ที่ค่อยบอกบทให้พูดเป็นระยะ

 “ เพราะว่าหนู หนูเป็นผู้หญิง  ผู้หญิงก็พูดชั่วได้  มีเลวกับชั่ว ตำรวจดี  ตำรวจชั่ว  ตำรวจเลวพี่น้องงงง....เพราะตำรวจยิงแก๊สน้ำตาใส่ประชาชน....ตำรวจก็โง่เหมือนกันว้อยยยย.... เราด่ายิ่งลักษณ์ด้ายยย เพราะเราเป็นคนไทย รักษาประเทศไทยกับในหลวง ในหลวงเหนื่อยมาก เราก็เลยมารวมตัวกัน พร้อมจะขับไล่รัฐบาลควายแดงพี่น้องงงง....” 


นี่คือบางส่วนของถ้อยคำจากปาก “น้องแป้ง” ที่กำกับบทโดยผู้ใหญ่ที่ยืนอยู่เบื้องหลัง เรียกเสียงเชียร์เสียงนกหวีดมากมาย

พญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (ร.พ.เด็ก) กล่าวถึงการเลี้ยงดูและให้คำแนะนำแก่เด็กเล็กท่ามกลางวิกฤติการเมือง ว่า ปัจจุบันมีการเสพข่าวสารมากมายและถูกส่งต่อ เมื่อไม่ตรงกันก็ทำให้หงุดหงิด สิ่งหนึ่งที่ต้องตระหนักคือ เด็กเรียนรู้ผ่านการเลียนแบบ ทุกการกระทำ ทุกคำพูดของพ่อแม่ เด็กจะซึมซับและจดจำ แม้บางครั้งอาจไม่เข้าใจความหมายก็ตาม แต่เด็กสามารถจับอารมณ์และน้ำเสียงได้ ทุกครั้งที่พูด การควบคุมอารมณ์และระวังคำพูดต่อหน้าเด็กจึงเป็นสิ่งสำคัญ แม้เด็กๆจะไม่แสดงท่าทีในวันนี้ แต่จะเก็บเป็นคลังข้อมูลไว้ใช้เมื่อเจอเหตุการณ์ที่ใกล้เคียงกัน เช่น เมื่อคุยกับเพื่อนแล้วมีความคิดต่างไปอาจแสดงอาการโวยวายต่อว่าหรือไม่เล่นกับเพื่อนคนนั้น เป็นต้น ฉะนั้นการระวังสิ่งที่แสดงออกต่อหน้าเด็กแม้จะมีอารมณ์ร่วมกับข่าวสารขนาดไหนก็ตาม เป็นสิ่งที่คนเป็นพ่อแม่ไม่ควรละเลย
แต่ไม่ได้หมายความว่าให้ ปิดหู ปิดตา เด็กเล็กเยาวชนของชาติไม่ให้รับรู้เรื่องราวประชาธิปไตยแต่อย่างใด หากจะมองในแง่ดี สถานการณ์บ้านเมืองทุกวันนี้ถือเป็นบทเรียนที่ดีที่จะทำให้เด็กๆได้เรียนรู้เรื่องการยอมรับความแตกต่างหลากหลาย ซึ่งเป็นเรื่องปกติของทุกสังคม และแม้การแสดงความคิดเห็นหรือออกไปร่วมชุมนุมจะเป็นสิทธิ์อย่างหนึ่งของประชาชนในสังคมประชาธิปไตย และนั่นต้องอยู่ในการอธิบายจากผู้ใหญ่โดยปราศจาคถ้อยคำที่จงใจสร้างความเกลียดชัง หากแต่ควรสร้างให้เด็กรู้จักคิด วิเคราะห์ หาใช่การยัดเยียดความคิดเราใส่สมองเด็กเล็ก

 ถ้าใครผ่านไปแถวหน้าสำนักงานตำรวจเมื่อวันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมา คงจะได้เจอกับเด็กชายสองพี่น้อง “น้องปูนปั้น” วัย 11 ปี และ “น้องก้อนอิฐ” วัย 8 ขวบ ที่ออกมาร่ายบทกวีเสียดสีรัฐบาลกระแทกอารมณ์คนที่เดินผ่านไปผ่านมา  น้องปูนปั้น ในฐานะพี่ชายคนโตให้เหตุผลที่ออกมาร่ายบทกวีโดนๆ พร้อมกับครอบครัวว่า

 “ผมรู้สึกดีที่ได้มาแสดงออกแบบนี้ครับ เพราะผมอยากให้คนหันมาสนใจปัญหาบ้านเมืองและปัญหาสังคมมากขึ้น ต้องการแสดงออกให้คนได้รู้ถึงเหตุการณ์ ได้รับรู้ถึงปัญหา ถึงเวลาแล้วที่ประเทศเราควรจะมีการปฎิรูปประเทศ เพราะตอนนี้ประเทศไทยมีแต่ปัญหา ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้รัฐบาลออกไปเถอะครับ ผมไม่อยากให้มีเรื่องร้ายๆ เกิดขึ้น อยากเห็นการเมืองไทยมีความสุข มีการปฎิรูปประเทศ อยากให้ประเทศก้าวหน้าต่อไปครับ” 

ด้านคุณพ่อของน้องปูนปั้น บอกว่าตนและลูกๆ ได้ออกมาแสดงจุดยืนที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นเวลาสองวันแล้ว เพราะต้องการให้ตำรวจหรือผู้นำของประเทศหันมาย้อนมองตนและใส่ใจพัฒนาสังคมไทยอย่างจริงจัง

 “ลูกผมอาจจะไม่รู้ว่าปรัชญาการเมืองคืออะไร แต่เขาจะรู้ว่าทำไมของแพงขึ้น ทำไมเราต้องซื้อของแพงกว่าเดิม แต่คำถามที่เขาถามผมคือ ทำไมคนไทยไม่ตื่นรู้ ทำไมคนไทยแบ่งเป็นสองฝ่าย ทำไมคนโดนหลอกซ้ำแล้วซ้ำเล่า นั่นแสดงว่าเราไม่ได้อยู่ในระบบรัฐศาสตร์ แต่เราอยู่ในลัทธิของการปกครอง นักการเมืองทำให้สภาพการเมืองเป็นลัทธิการปกครอง เกิดความงมงาย แต่ไม่ได้ตื่นรู้ ไม่ได้เข้าใจหลักรัฐศาสตร์ที่แท้จริง

ความคิดของพ่อที่จะให้การเรียนรู้ประชาธิปไตยแก่ลูกจากของจริงนั้น เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ แต่น่าสงสัยว่าการนำเด็กมาอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง ท่ามกลางคำบริภาษ ด่าทอ มากกว่าเหตุผลความเป็นจริงนั้น จะทำให้ผ้าขาวแปดเปื้อนด้วยสีดำของความคั่งแค้นหรือไม่?!


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 963  31 มกราคม - 6 กุมภาพันธ์ 2557) 
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์