วันพฤหัสบดีที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

แม่วังวังวน คืนวิกฤตน้ำเสีย



แม่น้ำวังลำปางเสื่อมโทรมขั้นวิกฤติ ตรวจสอบคุณภาพพบค่าแบคทีเรียเกินมาตรฐานทุกจุด โดยเฉพาะโซนกาดกองต้าเกินค่ามากถึง 32 เท่า  เทศบาลรณรงค์ไม่เป็นผลเหตุชาวบ้านไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และยอมรับระบบบำบัดน้ำเสียในตลาดยังไม่ได้คุณภาพ 

หลังจากที่หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ได้นำเสนอข่าวเกี่ยวกับปัญหาแม่น้ำวังเน่าเสียมาตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม 2556  โดยในช่วงฤดูแล้งของทุกปี จ.ลำปางมักจะประสบปัญหาแม่น้ำวังแห้ง มีสาหร่ายเกิดขึ้นจำนวนมาก และบางจุดน้ำมีกลิ่นเหม็นเนื่องจากน้ำนิ่งไม่ได้มีการระบายออกไป หลังจากนำเสนอข่าวทางเทศบาลนครลำปางได้ดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการระดมเครื่องจักรลงขุดลอก และผลักดันเอาเศษปฏิกูลในแม่น้ำวัง เพื่อเปิดทางให้น้ำไหลผ่านได้ พร้อมกับจัดบิ๊กคลีนนิ่งเดย์ครั้งใหญ่ ทำความสะอาดแม่น้ำวัง กำจัดสาหร่ายและสิ่งปฏิกูลที่อยู่ในแม่น้ำ รวมทั้งร่วมมือกับสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 2 ลำปาง จัดอบรมเครือข่ายภาคประชาชนในการเฝ้าระวังคุณภาพแม่น้ำวัง  และนำกฎหมายมาตรา 80 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติฯ จี้องค์กรใหญ่รายงานระบบบำบัดน้ำเสีย  อีกทั้งยังได้เก็บตัวอย่างน้ำที่อยู่ในพื้นที่ของเทศบาลนครลำปางเพื่อทำการตรวจสอบคุณภาพน้ำ โดยกำหนดเก็บตัวอย่าง 2 เดือนต่อ 1 ครั้ง  แต่ปรากฏว่าผลการตรวจคุณภาพแม่น้ำวังล่าสุดในเดือนมกราคม 2557 พบว่าคุณภาพน้ำอยู่ในระดับ 4 คือเสื่อมโทรมมาก เท่ากับว่าการรณรงค์ต่างๆที่ทางเทศบาลนครลำปางได้ดำเนินการมานั้น ไม่เกิดผลไปในทางที่ดีขึ้นแต่อย่างใด

จากข้อมูลรายงานผลการทดสอบคุณภาพแม่น้ำวังของสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 2 ลำปาง  โดยทำการเก็บตัวอย่างน้ำในแม่น้ำวังเป็นครั้งที่ 2  เมื่อวันที่ 15 ม.ค.57 จำนวน 6 จุด คือ บริเวณสะพานเสตุวารี  สะพานเขลางค์นคร สะพานรัตนโกสินทร์ 200 ปี  สะพานพัฒนาภาคเหนือ  สะพานแขวนหน้าเขื่อนยาง และสะพานบ้านดงพัฒนา  เพื่อมาตรวจสอบคุณภาพน้ำที่สำคัญ ประกอบด้วย ค่าออกซิเจนที่ละลายในน้ำ(DO) คุณภาพน้ำที่ดีจะต้องมากกว่าหรือเท่ากับ 6.0 มิลลิกรัม/ลิตร  ค่าปริมาณออกซิเจนที่จุลชีพใช้ในการย่อยสลายสารอินทรีย์(BOD)จะต้องน้อยกว่าหรือเท่ากับ 1.5 มิลลิกรัม/ลิตร    ค่าแบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์มทั้งหมด(Total Coliform Bacteria :TCB)จะต้องน้อยกว่า 5,000  MPN/100 มล. และค่าแบคทีเรียกลุ่มพีคอลโคลิฟอร์ม ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดการปนเปื้อนอุจจาระของคนและสัตว์เลือดอุ่นในแหล่งน้ำ (FCB)จะต้องน้อยกว่า 1,000 MPN/100 มล.

จากการตรวจสอบคุณภาพน้ำจุดที่ 1 สะพานเสตุวารี พบปัญหาคุณภาพน้ำคือ น้ำมีความขุ่นมากวัดค่าได้ 2.2 มิลลิกรัม/ลิตร  ส่วนค่าแบคทีเรียไม่เกินมาตรฐาน จุดที่ 2 สะพานเขลางค์นคร พบปัญหาแบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์มทั้งหมดเกินค่ามาตรฐานวัดได้ถึง 30,000 MPN/100 มล.  จุดที่ 3 สะพานรัตนโกสินทร์ 200 ปี (วัดเกาะวาลุการาม) พบปัญหาแบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์มทั้งหมดวัดค่าได้ถึง 160,000 MPN/100 มล. และแบคทีเรียกลุ่มพีคอลโคลิฟอร์ม ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดการปนเปื้อนอุจจาระของคนและสัตว์เลือดอุ่นในแหล่งน้ำ  9,000 MPN/100 มล.  จุดที่ 4 สะพานพัฒนาภาคเหนือ พบทั้งปัญหาความขุ่น แบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์มทั้งหมดค่า 90,000 MPN/100 มล. และแบคทีเรียกลุ่มพีคอลโคลิฟอร์ม 24,000  MPN/100 มล. จุดที่ 5 สะพานแขวนหน้าเขื่อนยาง พบปัญหาแบคทีเรียทั่วไปวัดค่าได้ 50,000  MPN/100 มล.  และจุดที่ 6 สะพานบ้านดงพัฒนา พบปัญหาแบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์มทั้งหมดค่า 50,000 MPN/100 มล. และแบคทีเรียพีคอลโคลิฟอร์มค่า 8,000  MPN/100 มล.  สรุปประเภทของคุณภาพน้ำทั้ง 6 จุด อยู่ในระดับ 4 เสื่อมโทรม  

สำหรับปัญหาแบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์มทั้งหมดที่พบมากที่สุดคือ บริเวณสะพานรัตนโกสินทร์ 200 ปี ซึ่งมีค่ามาตรฐานเกินมาถึง 32 เท่า จากปกติต้องน้อยกว่า 5,000 MPN/100 มล.  แต่วัดค่าได้ 160,000  MPN/100 มล.  ส่วนที่สะพานพัฒนาภาคเหนือพบปัญหาแบคทีเรียกลุ่มพีคอลโคลิฟอร์มสูงที่สุด 24 เท่า จากค่าปกติต้องน้อยกว่า 1,000 MPN/100 มล.   แต่วัดได้ 24,000 MPN/100 มล.  ในขณะที่ค่าแบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์มทั้งหมดก็ยังมีค่าสูงเช่นกันวัดได้ 90,000 MPN/100 มล.  ถือว่าเกินมาตรฐาน 18 เท่า ที่สะพานแขวนหน้าเขื่อนยาง และสะพานบ้านดงพัฒนา พบปัญหาแบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์มทั้งหมดเกินมาตรฐาน 10 เท่า  และจุดที่คุณภาพน้ำมีปัญหาน้อยที่สุดคือสะพานเสตุวารี ซึ่งเป็นจุดต้นน้ำก่อนที่จะเข้าในเขตใจกลางของเทศบาลนครลำปาง 

นายสุรทัศน์ พงษ์นิกร  รองนายกเทศมนตรี ดูแลด้านสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในปี 2557 นี้ ได้เป็นห่วงในช่วงฤดูแล้งอย่างมาก เนื่องจากตอนนี้แม่น้ำวังเริ่มแห้ง ประกอบกับตัวฝายยางของเทศบาลนครลำปางได้หมดอายุการใช้งาน ตัวฐานคอนกรีตชำรุดเพราะใช้งานมานาน 20 ปี เมื่อถูกน้ำเซาะตัวเหล็กที่ใช้ยึดกับตัวยางก็หลุดออกไปทำให้ไม่สามารถยึดยางไว้ได้ จึงเกิดปัญหาคือไม่สามารถปรับระดับยางให้กั้นน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในช่วงหน้าแล้งนี้ทางเทศบาลได้เตรียมการแก้ปัญหาเบื้องต้น โดยได้รับความอนุเคราะห์จากกรมเจ้าท่าเข้ามาทำการขุดลอกเหนือฝายยางขึ้นไปจนถึงวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม ซึ่งจะแยกดำเนินการเป็น 2 เฟส ปีนี้จะทำในเฟสแรกก่อน ซึ่งเดิมจะเริ่มดำเนินการได้ในเดือนมกราคมที่ผ่านมาแต่เนื่องจากประเทศประสบเหตุการณ์บ้านเมืองจึงอาจจะทำให้ล่าช้าไปบ้าง แต่อย่างไรก็ตามทางเทศบาลได้พยายามประสานงานให้เข้ามาดำเนินการให้ทันช่วงแล้ง อาจจะเป็นช่วงเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ 

นอกจากนั้นทางเทศบาลได้ตั้งงบประมาณในปี 2557 ไว้สำหรับโครงการบิ๊กคลีนนิ่งเดย์แม่น้ำวัง เหมือนปีที่ที่ผ่านมา เพื่อกำจัดตะกอน วัชพืช ลดการตื้นเขินของน้ำ และยังได้ร่วมกับสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 2 ตรวจสอบคุณภาพน้ำทุก 2 เดือน ซึ่งล่าสุดก็พบว่าแม่น้ำวังยังมีคุณภาพที่เสื่อมโทรมมาก สาเหตุเนื่องมาจากหลายปัจจัย ชาวบ้านยังคงมีนิสัยในการทิ้งเศษอาหาร สิ่งปฏิกูลลงในแม่น้ำวังอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตรงนี้ ต้องทำความเข้าใจและให้ความรู้กับชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง รองนายกเทศมนตรี กล่าว 

ด้านนายอรรณพ สิทธิวงศ์ ผู้อำนวยการส่วนควบคุมอาคารและผังเมือง  กล่าวเพิ่มเติมว่า ระบบบำบัดน้ำเสียในตลาดเทศบาล 2-3 แห่ง ไม่สามารถบำบัดได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากระบบบำบัดน้ำเสียนั้นออกแบบมาสำหรับการทิ้งน้ำล้างพื้นทั่วไป แต่ในตลาดพ่อค้าแม่ค้ามักจะทิ้งน้ำปนเปื้อนไขมัน ทำให้เกิดการอุดตัน ทำให้เครื่องปั้มน้ำเกิดขัดข้องอีก ในสวนนี้ทางเทศบาลเองจะต้องดำเนินการแก้ไข ซึ่งได้มีการตั้งงบประมาณไว้ในปี 2558 ทางเทศบาลจึงจะดำเนินการเองได้เพราะหมดประกันกับผู้รับเหมาพอดี 

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 965  ประจำวันที่ 14-20 กุมภาพันธ์ 2557) 
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์