วันอาทิตย์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2557

บลูสกายลิซึ่ม สื่อเสพติด


รากฎการณ์การเฝ้าติดตาม การถ่ายทอดสดของสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม BlueSky กระจายไปทั่วทุกหัวระแหงของประเทศนี้ ซึมเข้าไปในสมองของคนจำนวนมหาศาล แม้ยังไม่มีการเก็บข้อมูลที่จะอ้างอิงได้ในเชิงสถิติ ก็อาจกล่าวได้ว่านี่เป็นสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมอันดับหนึ่งของประเทศนาทีนี้ ที่คนส่วนใหญ่เสพติด ต้องติดตาม ต้องเฝ้าดูกำนันทุกค่ำคืน มิฉะนั้นอาจคลั่งตาย

นับจากเวทีสถานีรถไฟสามเสน เรื่อยมาจนถึงราชดำเนิน และรุกคืบ เข้าไปยึดสมรภูมิสำคัญ ใจกลางกรุงเทพมหานคร Blue Sky สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเล็กๆแห่งหนึ่ง ก่อตั้งโดย เถกิง สมทรัพย์ อดีตนายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ที่มีโทนสีฟ้าและมีรายการที่คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มาพูดคุยใน “ฟ้าวันใหม่” ขับเน้นให้เห็นความเป็นประชาธิปัตย์ในบลูสกายแชนแนลชัดเจน ก็กลายเป็นสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมที่มีจำนวนผู้ชมเหนียวแน่นมั่นคงมากกว่าสื่อกระแสหลัก แม้ในเชิงหลักการจะมีคำถามเรื่อง ความเป็นกลาง(objectivity ) มากมายก็ตาม

เป็นคำถามในเกือบทุกเวที ที่ผมได้มีโอกาสไปเสวนา ว่าด้วยเรื่องสื่อ ว่าเราจะจัดการกับสื่อเหล่านี้อย่างไร เพราะสารที่ถูกส่งออกไปจากเวทีถ่ายทอด หรือรายการต่างๆที่ออกอากาศ ล้วนมีความโน้มเอียง หรือมีน้ำหนักค่อนไปในทางโฆษณาชวนเชื่อ มากกว่าที่จะมุ่งนำเสนอข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน เพื่อให้ผู้รับสารใช้ดุลพินิจในการตัดสินใจเอง ความจริงเรื่องนี้มิใช่จำกัดเฉพาะบลูสกายแชนแนล เอเชียอัพเดท วอยซ์ทีวีเท่านั้น หากยังเป็นปรากฎการณ์ร่วมที่แสดงผลในพื้นที่ข่าวของแนวหน้าและเครือมติชนด้วย หรือในบางครั้งอาจพาดพิงถึงไทยโพสต์ของคุณเปลว สีเงิน เครือเนชั่น ที่มีบางภาพสะท้อนจากบทบาทสาธารณะของคนบางคน  ดังนั้น แทนที่จะแสวงหาวิธีจัดการสื่อเหล่านี้ ด้วยหลักคิดแบบ อำนาจนิยมผมกลับคิดว่า ควรให้ความรู้กับประชาชนที่จะจำแนกประเภทของสื่อ และให้เป็นความคิดอิสระของเขาที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อสื่อเหล่านั้น

หากมองย้อนไปถึง กรณี ASTV เมื่อเริ่มมีการถ่ายทอดการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ผ่านช่องนิวส์วัน เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2554 พวกเขาก็สามารถสร้างกระแสการตอบรับได้อย่างล้นหลาม มีผู้ลงขันบริจาคเป็นจำนวนมาก เพื่อให้ ASTV สามารถทำการถ่ายทอดสดต่อไปได้ อาจเรียกได้ว่าทั้ง ASTV และ BlueSky ได้เสนอตัวเป็นสื่อทางเลือกที่เล่นกับกระแส และมีความเสี่ยงในเชิงธุรกิจระยะยาว หากคอการเมืองที่ติดตามการออกอากาศ เป็นกลุ่มคนเมืองที่มักวูบวาบตามสถานการณ์

การดำรงอยู่ของสื่อเหล่านี้ขึ้นอยู่กับปัจจัย ว่า เขามีกลุ่มผู้รับสาร ที่จัดอยู่ในกลุ่มการเมือง หรือ political group ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคการเมือง หรือมีความสนใจในแนวทางการเมืองคล้ายๆกัน มากน้อยเพียงใด ในกรณีของ ASTV หลังจากความพยายามที่จะพัฒนาไปสู่ความเป็นสถาบันการเมืองล้มเหลวลง ความสนใจติดตามข่าวสารจาก ASTV ก็จางหายไปตามกาลเวลา ในขณะที่ BlueSky ยังต้องรอเวลาพิสูจน์ว่าแฟนประชาธิปัตย์ชนิดเหนียวแน่นมีอยู่มากน้อยเพียงใด

มองในแง่ของผู้ประกอบการ หรือผู้ก่อตั้ง เป้าหมายหลักที่ปฏิเสธไม่ได้ คือการมุ่งเผยแพร่อุดมการณ์ทางการเมือง ในขณะเดียวกันผลตอบแทนในเชิงธุรกิจก็จะติดตามมา ซึ่งในกรณีสื่อทางเลือกนี้อาจจะคาดหวังไม่ได้มากนักในระยะยาว

ความเชื่อในอิทธิพลและอำนาจของการสื่อสารที่พวกเขา เชื่อว่า จะใช้เป็นเครื่องมือโน้มน้าว ชักจูงใจ ให้ผู้คนเข้ามาเป็นพวกให้มากที่สุด เพราะความรู้สึกว่า มี "พวกมาก" นี่เองจะเป็นพลังในการต่อสู้ทางการเมืองกับฝ่ายตรงข้ามด้วยความมั่นใจ ในห้วงระยะเวลา 2 ปี ที่ผ่านมา ปรากฏการณ์เอเอสทีวี ดำเนินไปพร้อมกับการไหวเคลื่อนของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย สามารถสร้างแนวร่วม และหล่อหลอมทัศนคติของผู้คนจำนวนมหาศาลให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน หลังจากเมืองไทยรายสัปดาห์ ถูกถอดออกจากผังรายการช่อง 9 อสมท. เอเอสทีวี ก็เริ่มมีบทบาท ในการสะท้อนแนวคิด และทัศนคติทางการเมืองของผู้ดำเนินรายการ เริ่มจากห้องส่งภายในสถานี หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สวนลุมพินี จนกระทั่งพัฒนามาเป็นสื่อนอกสถานที่ คู่ขนานไปกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

ในเวลานั้นเอง ที่ฝ่ายตรงข้ามพยายามเดินตาม โดยริเริ่มสถานีโทรทัศน์ พีทีวี ทีวีเพื่อประชาชน และพัฒนามาเป็นเอเชียอัพเดทในวันนี้ สื่อโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม อาจมีมวลชนเป้าหมายแตกต่างกัน กลุ่มผู้ที่เข้าร่วม ผู้ฟัง ผู้ติดตาม ผู้รับสารจากเอเอสทีวีส่วนใหญ่ไม่ต่างจากบลูสกาย เป็นกลุ่มคนชั้นกลางในเมือง นักวิชาการ คนงานคอปกขาว คนกลุ่มนี้มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มที่เป็นฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ด้วย แต่ที่ต่างกัน คือ บลูสกายจะมีกลุ่มชาวบ้านที่เป็นฐานเสียงของประชาธิปัตย์ภาคใต้ และกลุ่มข้าราชการท้องถิ่น

การมีสื่อที่เป็นตัวแทนความคิดของคนสองกลุ่มชัดเจน จะพัฒนาไปสู่การต่อสู้ทางความคิดเป็นประเด็นหลัก เป็นการต่อสู้ในภาคประชาชน ที่อาจจะลดทอนการต่อสู้ที่ใช้อารมณ์ ความรุนแรง และกำลังลงหากมองในเชิงอุดมคติ

แต่หากผู้ใช้สื่อมีเจตนาที่จะยั่วยุปลุกเร้าให้คนทำผิดกฎหมาย หรือล่วงละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น ก็เป็นอำนาจของกฎหมาย และอำนาจของประชาชนผู้รับสารเองที่จะปิดรับสื่อนั้น โดยไม่ต้องตั้งคำถามว่าสื่อนั้นเป็นสื่อแท้ หรือสื่อเทียม เป็นสื่อที่มีความเป็นกลางหรือไม่



(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 967  ประจำวันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 6 มีนาคม 2557)   
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์