วันอาทิตย์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2557

“จอก” วายร้ายสายน้ำ



ลานนาโพสต์ เสนอข่าวกองทัพจอกหูหนู เคลื่อนพลเข้ายึดเขื่อนกิ่วลม และมีวี่แววกำลังบุกเข้ามาใจกลางนครลำปาง ในระนาบเดียวกับที่ได้เสนอข่าว ฟื้นแม่วัง สายน้ำแห่งชีวิต ปรากฏการณ์น้ำเน่าเสีย แม่น้ำตื้นเขินจนไม่กล้าบอกคนต่างถิ่นว่า นี่คือแม่น้ำ การขยายพันธุ์ของพืชน้ำตระกูลเฟิน ชื่อจอกหูหนู ซึ่งต้นกระแสธารอยู่ที่เขื่อนกิ่วลม ภาพเหล่านี้ดูชินชาและเป็นเรื่องเล็กๆ แต่หากมองลึกไปถึงผลกระทบทั้งระยะสั้นและระยะยาว นี่มิใช่เรื่องเล็กน้อยเลย ถ้าเราไม่ตื่นตัวและตระหนักในมหาภัยใกล้ตัวเช่นนี้

และนี่จึงเป็นอีกเรื่องราวของข่าวสิ่งแวดล้อม ในนครที่ได้ชื่อว่าอากาศเสียมากที่สุดในประเทศไทย รวมทั้งเป็นตำนานของก๊าซพิษ การปนเปื้อนของสารคาร์บอนในอากาศ นับจากปรากฏโรงไฟฟ้าแม่เมาะขึ้น

แน่นอนว่ายังเป็น “หนู” มิใช่ “ยักษ์” เพราะถ้าเปลี่ยนเป็นการแพร่ระบาดของจอกหูหนูยักษ์ ซึ่งเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่น เป็นวัชพืชน้ำที่ร้ายแรงชนิดหนึ่งของโลก เติบโต ขยายพันธุ์เร็ว เช่น ถ้าหักต้นเพียง 1 ซ.ม.จะสามารถเจริญเติบโตเป็นต้นใหม่ในเวลา 3 เดือน ด้วยน้ำหนัก 65 ตันต่อไร่ ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ใกล้เคียงกับผักตบชวา ที่เคยเป็นปัญหาของสายน้ำเจ้าพระยามาก่อน แต่ทว่า แม้ชนิดพันธุ์ที่พบจะเป็นจอกหูหนูธรรมดา แต่มันก็ขยายพันธุ์ยึดครองจนน้ำเน่า ปลาตาย การท่องเที่ยวสะดุด ชาวบ้านเดือดร้อนทั่วหน้า 

เนื่องเพราะแสงอาทิตย์ไม่สามารถส่องผ่านลงไปในน้ำ สาหร่ายใต้น้ำจะตายและเน่าเสีย น้ำจะขาดออกซิเจน จะเกิดการตื้นเขินจากการทับถมของจอกหูหนู จนกระทั่งอาจสูญเสียแหล่งน้ำนั้นไป

คล้ายอยู่ในป่าไม่เห็นต้นไม้ คนเมืองลำปาง ผ่านแม่น้ำวังอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน คนมองเห็นจอกหูหนูลอยอยู่ในแหล่งน้ำเป็นเรื่องปกติธรรมดา แม้ว่ามันจะมากขึ้น หนาแน่นขึ้น ถ้ามิใช่ผู้ถูกกระทบโดยตรงก็จะไม่เห็นว่าสำคัญ นี่อาจเป็นช่องว่างของ “พื้นที่สาธารณะ” ที่ควรจะมุ่งต่อประโยชน์สาธารณะ แปลว่า หนังสือพิมพ์ภูมิภาค จะต้องทำหน้าที่เป็นหนังสือพิมพ์ชุมชน Community Newspapers รายงานข่าวที่เกิดขึ้นในชุมชน รายงานสิ่งที่จะส่งผลกระทบต่อชุมชน แม้จะดูเป็นเรื่องเล็กน้อย เพราะหากหนังสือพิมพ์บ้านนอก ไม่ทำหน้าที่นี้ ก็ไม่มีสื่ออื่นใดจะทำหน้าที่ทดแทนได้

เราเห็นพืชใบสีเขียวขอบเรียบชนิดนี้กันมานาน เรารู้จักมันนอกจากในแง่ของการเป็นพันธุ์พืชประดับอ่างเลี้ยงปลามากน้อยแค่ไหน

จอกหูหนู  เป็นฟินประเภทเฟินลอยน้ำ ลำต้นเป็นเหง้ากลม แตกกิ่งสาขาทอดขนานไปกับผิวน้ำ มีใบออกเวียนรอบ เป็น 3 แถว โดย 2 แถวบน เป็นส่วนที่เราเห็นเป็นใบลอยน้ำ เนื้อใบหนาและนุ่ม รูปกลม หรือกว้างมากกว่ายาว ขอบใบห่อโค้งขึ้นทำให้ดูคล้ายหูหนู ขอบใบเรียบ ขนาด 1.-1.8 ซ.ม. ตัวใบไม่เปียกน้ำ ผิวใบด้านบนปกคลุมแน่นด้วยตุ่มขน จัดเรียงเป็นแถว รูปร่างแถวไม่เป็นระเบียบ ผิวใบด้านล่างมีขนสีน้ำตาลปกคลุม ส่วนใบอีกแถวเป็นส่วนที่จมน้ำ ที่เรียกว่า ใบราก แตกกิ่งสาขาได้ มีสีขาว ปกคลุมด้วยขนน้ำตาล และเป็นส่วนที่สร้างกระเปาะเก็บสปอร์ ขยายพันธุ์ด้วยการแยกเหง้าแบ่งกอ

ในอีกมุมหนึ่ง จอกหูหนูใช้เป็นไม้ประดับในอ่างเลี้ยงปลา มีการนำจอกหูหนูไปหมักเป็นปุ๋ยอินทรีย์ สำหรับเพิ่มธาตุอาหารให้กับต้นไม้ และยังนำไปใช้เป็นอาหารเสริมในการเพาะเห็ดฟาง จอกหูหนู ยังเป็นตัวบ่งชี้เบื้องต้นในการวัดคุณภาพของแหล่งน้ำได้ด้วย  จอกหูหนูที่เกิดในแหล่งน้ำที่มีปริมาณออกซิเจนเพียงพอ ใบของจอกหูหนูจะเป็นสีเขียวอมฟ้า แต่หากน้ำมีปริมาณออกซิเจนน้อยแล้ว ใบจะออกเหลือง

นี่เป็นความรู้ที่ทำให้รู้จักจอกหูหนูมากขึ้น

เรื่องราวของคนเล็กๆ เรื่องเล็กๆ อาจเป็นเรื่องที่ใหญ่โตจนคาดไม่ถึง และลานนาโพสต์ มุ่งมั่นที่จะทำหน้าที่ “หมาเฝ้าบ้าน” เพื่อส่งเสียงบอกเล่าเรื่องเล็กๆเหล่านี้ไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง ให้กลับมาดูแล ใส่ใจ เหมือนเช่นรายงานข่าวเรื่องแม่น้ำวัง

คำเตือนวันนี้ สำหรับเรื่องเล็กๆเรื่องหนึ่ง จอกหูหนู เป็นวายร้ายแห่งสายน้ำ ที่วางใจไม่ได้เป็นอันขาด



(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 970 ประจำวันที่ 21 - 27 มีนาคม 2557)  
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์