วันอาทิตย์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2557

วัน (ไม่ ?) สำคัญ


เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นอกจากวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอย่างวันมาฆบูชาแล้ว คนไทยยังให้ความสำคัญกับวันวาเลนไทน์ไม่แพ้ชาติใดในโลก ขณะที่วันสำคัญระดับโลกอีกวันหนึ่งของเดือนกุมภาพันธ์เรากลับไม่รู้มาก่อนว่ามีวันนี้อยู่ นั่นคือวันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก วันที่ 2 กุมภาพันธ์

พื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetland) กินความกว้างขวางตั้งแต่พื้นที่ลุ่ม พื้นที่ราบลุ่ม พื้นที่ฉ่ำน้ำ ชื้นแฉะ มีน้ำท่วม น้ำขัง พรุ ป่าชายเลน ป่าบุ่งป่าทาม แม่น้ำ ลำคลอง เป็นแหล่งน้ำที่เกิดตามธรรมชาติ หรือที่มนุษย์สร้างขึ้น ทั้งที่น้ำท่วมขังอยู่ถาวร หรือชั่วคราว ทั้งที่เป็นน้ำนิ่งและน้ำไหล น้ำจืด น้ำกร่อย หรือน้ำเค็ม รวมไปถึงพื้นที่ชายฝั่งทะเลและริมแม่น้ำด้วย

สำหรับประเทศไทย เรามีพื้นที่ชุ่มที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ หรือแรมซาร์ ไซต์ (RAMSAR Sites) 12 แห่ง ทั้งนี้ อนุสัญญาแรมซาร์ หรืออนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ คือ อนุสัญญาที่จัดขึ้นที่เมืองแรมซาร์ ประเทศอิหร่าน อันเป็นข้อตกลงระหว่างรัฐบาลเพื่ออนุรักษ์และยับยั้งการสูญหายของพื้นที่ชุ่มน้ำในโลก โดยจะต้องมีการจัดการเพื่อใช้ประโยชน์อย่างชาญฉลาด พร้อมกับรายงานความคืบหน้าในการอนุรักษ์ทุก ๆ 3 ปี

แรมซาร์ ไซต์ ของประเทศไทยปัจจุบันมีทั้งหมด 12 แห่ง ได้แก่ 1. พรุควนขี้เสียน เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง 2. เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง จังหวัดหนองคาย 3. ปากแม่น้ำกระบี่ จังหวัดกระบี่ 4. พรุโต๊ะแดง จังหวัดนราธิวาส 5. อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม-หมู่เกาะลิบง-ปากน้ำตรัง จังหวัดตรัง 6. อุทยานแห่งชาติแหลมสน-ปากคลองกะเปอร์-ปากแม่น้ำกระบุรี จังหวัดระนอง 7. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี 8. อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา จังหวัดพังงา 9. เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองบงคาย หรือทะเลสาบเชียงแสน จังหวัดเชียงราย 10. ดอนหอยหลอด จังหวัดสมุทรสงคราม 11. เขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 12. กุดทิง จังหวัดบึงกาฬ

เมืองลำปางของเรายังไม่มีวี่แววว่าพื้นที่ชุ่มน้ำใดจะมีความสำคัญระหว่างประเทศ แต่ขอให้เราแต่ละคนมีพื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญระดับใจของตนเอง หมายความแค่ให้เราตระหนักถึงความสำคัญของระบบนิเวศชนิดนี้ที่มีชีวิตอยู่อาศัยและเชื่อมโยงกับระบบนิเวศอื่น ๆ เท่านั้นก็พอ

ล่วงเข้าเดือนมีนาคม วันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมาได้รับการลงมติเป็นครั้งแรกให้เป็นวันอนุรักษ์สัตว์ป่าโลก (World Wildlife Day) เนื่องจากวันนี้เป็นวันก่อตั้งภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรืออนุสัญญาไซเตส และยังเป็นโอกาสครบรอบ 40 ปีของอนุสัญญาไซเตสด้วย ซึ่งเราเองไม่ควรลืมว่า ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการลักลอบค้าสัตว์ป่าอันดับต้น ๆ ของโลก ไม่ว่านอแรด งาช้าง กระดูกเสือ นิ่ม นกหายาก และสัตว์ป่านานาชนิดจากทั่วโลกจะมาแวะพักที่ประเทศไทยก่อนจะส่งต่อไปยังจีน ฮ่องกง ฯลฯ เหล่านี้มีมูลค่าหลายแสนล้านบาทต่อปี

วันที่ 22 มีนาคมนี้ยังเป็นวันน้ำโลก สหประชาชาติกำหนดให้คนทั่วโลกได้ระลึกถึงและทำสิ่งดี ๆ เพื่อน้ำ ด้วยไม่อาจปฏิเสธในความจริงที่ว่า ที่ใดมีน้ำ ที่นั่นมีชีวิต

ลดสโคปจากโลกให้แคบเข้ามาเป็นเรื่องเฉพาะประเทศไทย วันที่ 13 มีนาคมนี้เป็นวันช้างไทย คนลำปางอาจรู้สึกมีส่วนร่วมมากกว่าเพราะเรามีศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยอยู่ที่อำเภอห้างฉัตร ที่นั่นฉายภาพความน่ารักแสนรู้ของช้างไทยให้นักท่องเที่ยวได้ชื่นชม หากแต่สถานการณ์จริง ๆ ของช้างไทยกลับน่าเป็นห่วง โดยปัจจุบันคาดว่าประเทศไทยมีช้างป่าประมาณ 2,000 ตัว และช้างเลี้ยงประมาณ 4,000 เชือก

ตามทฤษฎีนั้น ช้างป่าจะดำรงเผ่าพันธุ์ได้จะต้องมีจำนวนรวมอยู่ในธรรมชาติไม่น้อยกว่า 2,000 ตัว แม้ว่าประเทศไทยจะมีจำนวนช้างป่าตามเกณฑ์ แต่ก็กระจัดกระจายไปอยู่ตามป่าเล็กป่าน้อยในจังหวัดต่าง ๆ โขลงหนึ่งมีไม่กี่สิบตัว ไม่มีช้างวัยเจริญพันธุ์เพียงพอที่จะดำรงเผ่าพันธุ์ไว้ได้อีกต่อไป ส่วนช้างเลี้ยงนั้น นอกจากจะอายุสั้นเนื่องจากอยู่ผิดธรรมชาติแล้ว โอกาสตกลูกก็มีน้อยเช่นกัน จนถึงวันนี้หากสถานการณ์ช้างไทยยังไม่ดีขึ้น ประมาณกันว่า อีก 20 ปีข้างหน้าช้างป่าอาจจะสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทย


เหนือสิ่งอื่นใด ไม่ว่าเรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะสำคัญระดับประเทศ หรือยิ่งใหญ่ระดับโลก คงต้องเริ่มจากจุดเล็ก ๆ ในใจคนเสียก่อน เพราะเมื่อใดเราตระหนักอย่างถ่องแท้ว่าทุกสิ่งในโลกล้วนเชื่อมโยงถึงกันเสมอ เมื่อนั้นเราคงเข้าใจวลีที่ว่า เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว แล้วเราคงไม่มีวันไหนสำคัญไปกว่าวันใดวันหนึ่ง เพราะเรารักและตระหนักถึงความสำคัญของดาวเคราะห์สีน้ำเงินดวงนี้ทุกวันอยู่แล้ว 


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 967  ประจำวันที่ 7 - 13 มีนาคม 2557)   
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์