วันศุกร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2557

จอกหูหนูออกฤทธิ์ แพร่กระจายอีกกว่า 700 ไร่



จอกหูหนูลามไม่หยุดล่าสุดแพร่กระจายกว่า 700 ไร่ ชลประทานทดลองฉีดพาราควอทกำจัด เผยได้ผลระดับหนึ่ง ระบุจะใช้เรือกำจัดวัชพืชและแรงคนเป็นหลักก่อนเพื่อความสบายใจของผู้ใช้น้ำ ซึ่งการฉีดสารเคมีจะเป็นทางเลือกสุดท้าย ขณะที่ผอ.สิ่งแวดล้อมภาค 2 จวกไม่ควรฉีดสารเคมีลงในแหล่งน้ำสาธารณะแม้จะเป็นการสาธิตก็ตาม ชี้ชลประทานควรหาต้นเหตุไม่ใช่แก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และเป็นเจ้าภาพร่วมหาแนวทางการแก้ปัญหากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งจังหวัด ไม่ใช่คิดแก้ปัญหาเอง

หลังจากเมื่อช่วงกลางเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ลานนาโพสต์ ได้นำเสนอข่าวการแก้ปัญหาจอกหูหนูที่แพร่กระจายอยู่อย่างหนาแน่นบนผิวหน้าหน้าเขื่อนกิ่วลม ส่งผลกระทบให้เรือแพท่องเที่ยวและเรือหางยาว ไม่สามารถเข้าออกท่าเรือหน้าเขื่อนได้ ซึ่งเบื้องต้นทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา กิ่วลม-กิ่วคอหมา ได้แก้ปัญหาโดยการปล่อยจอกหูหนูออกทางประตูระบายน้ำ ทำให้แก้ปัญหาจอกหูหนูที่อัดแน่นอยู่หน้าเขื่อนได้ระยะหนึ่ง แต่ล่าสุดจอกหูหนูที่ลอยอยู่ในอ่างเก็บน้ำก็ได้ลอยมาอัดแน่นอยู่บริเวณหน้าเขื่อนและแพร่กระจายเป็นบริเวณกว้างเช่นเดิม ลานนาโพสต์จึงได้ติดตามความคืบหน้าในการแก้ปัญหาจอกหูหนูอีกครั้ง ซึ่งทราบว่าเมื่อวันที่ 9 เม.ย.57 ที่ผ่านมา ทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา กิ่วลม-กิ่วคอหมา ได้มีการสาธิตการใช้สารกำจัดวัชพืช “พาราควอท” ฉีดพ่นไปยังจอกหูหนูที่ลอยอยู่เหนือน้ำ เพื่อทดสอบว่าสามารถทำลายจอกหูหนูได้หรือไม่

ในเรื่องดังกล่าว นายฤทัย พัชรานุรักษ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา กิ่วลม-กิ่วคอหมา  กล่าวว่า เมื่อวันที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมา ทางโครงการฯ ได้มีการจัดอบรมการควบคุมและกำจัดวัชพืชน้ำระบบชลประทานอย่างมีประสิทธิภาพ  ซึ่งที่เขื่อนกิ่วลมได้ประสบปัญหาจอกหูหนูซึ่งเป็นวัชพืชน้ำชนิดหนึ่งตอนนี้จอกหูหนูที่ประเมินได้มีอยู่ในพื้นที่ประมาณ 700 กว่าไร่ จึงได้มีการสาธิตการใช้สารพาราควอท ทดลองกับจอกหูหนูไปบางส่วนเท่านั้น ยังไม่ได้นำมาปฏิบัติจริง ซึ่งวิธีนี้เคยใช้ในพื้นที่ภาคกลาง และภาคใต้  จึงลองมาใช้กับพื้นที่เราดูก่อน  จากการสาธิตก็ถือว่าได้ผล ซึ่งถ้าใช้สารในปริมาณความเข้มข้นน้อยก็จะไม่มีอันตราย แต่ในเรื่องของความปลอดภัย ด้านความรู้สึกของผู้ใช้น้ำ ผู้ประกอบการแพ ก็คิดว่ายังไม่จำเป็นที่จะต้องใช้สารเคมี เพราะเป็นห่วงเรื่องผลกระทบ คุณภาพน้ำที่ต้องนำไปใช้ จึงจะใช้เป็นทางเลือกสุดท้าย  อันดับแรกจะใช้วิธีกำจัดโดยเครื่องจักรและแรงคนเป็นหลักก่อน ในช่วงสัปดาห์หน้าจะนำเครื่องจักรและเรือกำจัดวัชพืชจากฝ่ายเรือขุดและเรือกำจัดวัชพืชที่ 7 จ.พิษณุโลก เข้ามากำจัดจอกหูหนูเป็นหลัก 

ด้านนายสุวิทย์ ขัตติยะวงค์ ผอ.สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 2 ลำปาง  กล่าวว่า  ขึ้นชื่อว่าเป็นสารเคมี ยากำจัดวัชพืชโดยตรงก็ไม่ควรที่จะนำไปฉีดลงในแหล่งน้ำสาธารณะ ถ้าจะทำก็ต้องนำวัชพืชขึ้นมากำจัดบนบกดีกว่า เพราะสารพิษตกค้างจะต้องมีแน่นอน  ปกติคงไม่มีใครนำยาฆ่าหญ้าไปฉีดลงในน้ำแน่ๆ เพราะเป็นยาอันตราย จะสาธิตหรือไม่สาธิตก็ตามแต่ ไม่ควรจะนำยาอันตรายลงไปฉีดพ่นในน้ำสาธารณะ และเชื่อว่าไม่มีหน่วยงานที่ไหนแนะนำแน่นอน


นายสุวิทย์ กล่าวอีกว่า ในระยะสั้นจะต้องโกยจอกขึ้นมาบนบกเพื่อกำจัดให้ได้ ส่วนในระยะยาวก็ต้องหาสาเหตุของการเกิดจอกหูหนูในครั้งนี้เพราะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ต้องมานั่งพูดคุยกันในหลายๆฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งทางจังหวัด  เกษตร ชลประทาน สิ่งแวดล้อม และท้องถิ่น เพราะถ้าไม่สามารถจัดการตั้งแต่ต้นน้ำได้ มาทำทางปลายน้ำก็แก้ปัญหาไม่ได้ ต้องหาสาเหตุและที่มาให้ได้ก่อนจึงจะแก้ปัญหาได้ถูกจุด ชลประทานอาจจะคิดว่าเป็นอ่างเก็บน้ำในความรับผิดชอบของตัวเอง ซึ่งอาจจะเป็นวิธีการคิดของชลประทาน แต่ที่ดีที่สุดชลประทานควรจะเป็นเจ้าภาพ ร่วมหารือกับหน่วยงานอื่นๆเพื่อช่วยกันหาทางแก้ปัญหา หรืออาจจะให้จังหวัดเป็นตัวกลางก็ได้ แต่ชลประทานกลับหาทางแก้ปัญหาเอง ลองผิดลองถูกไปเรื่อย ซึ่งเมื่อทำไปแล้วอาจจะไปเพิ่มปัญหาอีกอย่างก็ได้   



(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 974 ประจำวันที่ 18 - 24 เมษายน 2557) 
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์