วันพฤหัสบดีที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2557

ชุบชีวิตแหล่งโบราณ เกาะคาเชื่อม บ.เซรามิก



นายอำเภอเกาะคาดัน 2 โครงการสร้างสีสันท่องเที่ยวเกาะคา คืนชีพแหล่งโบราณคดีมนุษย์เกาะคา เชื่อมเส้นทางเที่ยววัดถนนสายวัฒนธรรม และฟื้นฟูหมู่บ้านท่องเที่ยวเซรามิก หวังส่วนแบ่งกระจายรายได้ท่องเที่ยวเข้าชุมชน  ด้านศูนย์เซรามิก ยกมือเห็นด้วยพร้อมมีส่วนร่วม

นายศรีโรจน์  นิมมานพัชรินทร์  นายอำเภอเกาะคา  เปิดเผยว่า ตามแผนการส่งเสริมพัฒนาด้านเศรษฐกิจและท่องเที่ยว ในระดับชุมชนอำเภอเกาะคาได้จัดทำแผนการส่งเสริมพัฒนาการท่องเที่ยว 2 โครงการหลักๆ คือ โครงการปรับปรุงพัฒนาหมู่บ้านท่องเที่ยวเซรามิก และโครงการเส้นทางถนนสายวัฒนธรรม เพื่อสอดรับกับการขยายตัวของการท่องเที่ยว จากตัวเลขของรายได้จากการทำบุญของนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยววัดพระธาตุลำปางหลวง  เฉลี่ยเดือนละ 1 ล้านบาท เชื่อว่ามีนักท่องเที่ยวเข้ามา อย่างน้อยเดือนละ 1 แสนคน  และบางเดือน เช่นช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา มียอดเงินทำบุญ สูงถึง 6 ล้านบาท นับว่าตัวเลขค่อนข้างสูง จึงอยากส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เกิดการกระจายนักท่องเที่ยวที่มาวัดลำปางหลวง ไปยังจุดอื่นๆ ในอำเภอเกาะคาด้วย

โครงการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวสายวัฒนธรรมนั้น เป็นการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเส้นทาง เชื่อมโยงถนนสายเอเชีย กรุงเทพ-ลำปาง จากอำเภอสบปราบ ด้านเส้นทางเลี้ยวเข้าอำเภอเกาะคา ซ้ายมือ บริเวณตำบลนาแก้ว ซึ่งจะพบแหล่งโบราณคดีมนุษย์เกาะคา บ้านหาดปู่ด้าย แวะเที่ยววัดดอยเงินที่กำลังสร้างใหม่ ทะลุมาถึงวัดพระธาตุจอมปิง วัดพระธาตุดอยน้อย จนถึงตัวเมือง อำเภอเกาะคา เลยไปถึงวัดไหล่หินหลวง วัดพระธาตุลำปางหลวง

โดยเฉพาะวัดพระธาตุดอยน้อย มีความน่าสนใจเพราะมีเงาพระธาตุ 7 เงา และวัดไหล่หินหลวง ที่มีชื่อเสียงและนักท่องเที่ยวให้ความสนใจไม่น้อยไปกว่า วัดพระธาตุลำปางหลวง และยังมีแนวทางฟื้นฟูแหล่งค้นพบมนุษย์เกาะคา ให้เป็นจุดแวะเที่ยวขึ้นมาอีกครั้ง

ส่วนโครงการหมู่บ้านท่องเที่ยวเซรามิก นั้นเดิมทีพื้นที่หมู่บ้านศาลาบัวบกและบ้านศาลาเม็ง เขต เทศบาลตำบลท่าผา อ.เกาะคา เป็นหมู่บ้านโอทอป ที่มีโรงงานเซรามิกขนาดเล็กและขนาดย่อมตั้งอยู่ 59 ราย  โดยที่ผ่านมาทั้งสองหมู่บ้านเป็นที่รู้จักในท้องถิ่นในแบบของหมู่บ้านโอทอปเซรามิก แต่ขณะนี้ยังไม่มีศักยภาพพอที่จะเป็นหมู่บ้านเพื่อการท่องเที่ยวที่แท้จริง ทั้งนี้จึงได้หารือร่วมกับส่วนราชการและเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงชาวบ้าน และผู้ประกอบการในพื้นที่เกี่ยวกับการปรับปรุงพัฒนา 2 หมู่บ้าน ดังกล่าว ให้เป็น หมู่บ้านท่องเที่ยวเซรามิก โดย มีแนวทางจัดทำประชาคม เพื่อรวบรวมข้อมูลและกำหนดทิศทาง และการมีส่วนร่วมกันในการการปรับปรุงพัฒนาให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว  เพราะหากประกอบกอบการ เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมการผลิตในโรงงานได้  ชุมชนมีส่วนร่วม ก็จะเกิดรายได้ชุมชน

“หมู่บ้านเซรามิกดังกล่าว เป็นหมู่บ้านที่ผลิตสินค้าตลาดล่าง และมีผลิตสินค้าเฉพาะ ที่แตกต่างจากโรงงานขนาดใหญ่ หรือโรงงานส่งออก แต่ก็เป็นจุดเด่นที่ มีโรงงานตั้งกระจายทั่วหมู่บ้าน สามารถทำเป็นชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวได้  ในส่วนของการพัฒนาพื้นที่ มีแผนจะปรับปรุงภูมิทัศน์ ในพื้นที่สาธารณะให้เป็นสัญลักษณ์ของชุมชนเซรามิก เช่น ทางเข้าหมู่บ้านให้มีจุดดึงดูดที่ตกแต่งด้วยเซรามิก สะพานข้ามแม่น้ำวัง เชื่อมไปสู่หมู่บ้านเซรามิก และถนนหรือริมรั้ว อาจจะต้องตกแต่งด้วยเซรามิก นอกจากนี้ยังจะต้องปรับปรุงอาคารเอนกประสงค์บ้านศาลาเม็ง ซึ่งเคยเป็นจุดจำหน่ายสินค้าของชุมชนมาก่อน แต่มีปัญหาเรื่องของการจัดการแบบยั่งยืน ดังนั้นหากปรับปรุงให้เป็นศูนย์แสดงและจำหน่ายสินค้า หรือตัวอย่างสินค้าของชุมชน โดยจัดให้มีการจัดการที่ดี จะเป็นจุดสนใจให้ นักท่องเที่ยวเข้าไปเยี่ยมชม หรือซื้อสินค้าได้"   

นายอำเภอเกาะคา กล่าวว่า ได้ส่งโครงการและข้อหารือเบื้องต้นไปยังจังหวัด ผ่าน นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เพื่อหาแนวทางจัดสรรงบประมาณจากภาครัฐ และหารืออย่างไม่เป็นทางการกับหน่วยงานรับและเอกชนที่เกี่ยวข้อง แต่อุปสรรคที่สำคัญคือ การปรับปรุงภูมิทัศน์หมู่บ้านท่องเที่ยวเซรามิก ยังขาดสถาปนิกที่จะออกแบบการตกแต่งภูมิทัศน์ให้ สวยงามเหมาะสมกับการเป็นหมู่บ้านเซรามิก ให้นักท่องเที่ยวประทับใจ ซึ่งเรื่องนี้อยู่ระหว่างขอความร่วมมือจาก หน่วยงานที่มีนักสถาปัตยกรรมเข้ามาช่วยออกแบบ ทั้งนี้อยู่ระหว่างการผลักดันเรื่องงบประมาณ และการดำเนินการตามแผนงาน

ในประเด็นของการพัฒนาหมู่บ้านท่องเที่ยวเซรามิก นั้น ด้าน นางอรพรรณ  ตันติวีรสุต ผอ.ศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเซรามิก มีความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า เห็นด้วยกับการพัฒนาหมู่บ้านท่องเที่ยวเซรามิก เพราะอำเภอเกาะคามีศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเซรามิก ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐที่มีบทบาทบริการทางวิชาการและการพัฒนาต่างๆ รวมถึงมีศูนย์จำหน่ายและกระจายสินค้าเซรามิก ที่ตั้งอยู่ติดกับศูนย์อยู่แล้ว แต่มีลักษณะเป็นร้านค้าที่นำสินค้าจากโรงงานต่างๆมาจำหน่ายให้นักท่องเที่ยวแวะซื้อ ถ้าหากมีการผลักดันและร่วมมือจากหลายฝ่ายให้มีหมู่บ้านท่องเที่ยวเซรามิก จะเป็นการสร้างสีสันในแง่ของเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวอีกรูปแบบหนึ่ง โดยเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวเข้าไปชมกระบวนการผลิต เลือกซื้อสินค้าจากโรงงานขนาดเล็กแบบอุตสาหกรรมครัวเรือน อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นเรื่องที่พูดกันมานานมาก อยากให้มีการผลักดันและ เชื่อมโยงการมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้นจริง ทางศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเซรามิก มีบทบาท ช่วยในเรื่องของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และกระบวนการผลิต เป็นการหนุนเสริมให้เป็นหมู่บ้านเซรามิกที่มีศักยภาพ


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 975 ประจำวันที่ 25 เมษายน - 1 พฤษภาคม 2557) 
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์