วันพฤหัสบดีที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2557

คาดโม่งมือเพลิง เผาขยะเกาะคา


ไฟไหม้บ่อขยะเกาะคา 24 ไร่ 2 วัน 2คืน ปัญหาควัน-กลิ่นกระทบชุมชน คาดถูกลอบเผาจากผู้เสียผลประโยชน์ ขณะที่ 6 เทศบาลเร่งช่วยกันแก้ไข วางแผนติดกล้อง CCTV  ขอสนับสนุนรถน้ำคอยฉีดพรมให้เกิดความชุ่มชื้น และจ้างคนเฝ้ายามเพิ่มในช่วงกลางคืน

เมื่อคืนวันที่ 5 เม.ย. 57 ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้บ่อขยะ พื้นที่ประมาณ 24 ไร่ ของศูนย์บริหารจัดการขยะเทศบาลตำบลเกาะคา ซึ่งดำเนินการโดย เทศบาลตำบลเกาะคา เทศบาลตำบลท่าผา เทศบาลตำบลสบยาว เทศบาลตำบลศาลา เทศบาลตำบลน้ำโจ้ และเทศบาลตำบลวังพร้าว ตั้งอยู่ ป่าละเมาะ หลังวัดป่าสำราญฯ ประมาณ 1 กิโลเมตร เขตบ้าน เหล่าแม่ปูน หมู่ 7 ต.ศาลา อ.เกาะคา จ.ลำปาง  โดยมีกลุ่มควันสีดำพวยพุ่งออกจากกองขยะ เทศบาลตำบลเกาะคาในฐานะเป็นศูนย์ประสานงานของ 6 เครือข่ายได้ประสานงานขอรถน้ำจากเทศบาลนครลำปางและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรวม 8 คัน ช่วยกันระดมฉีดน้ำ ตั้งแต่เช้าวันอาทิตย์ ที่ 6 เม.ย. 57 จนถึงวันจันทร์ ที่ 7 เม.ย. 57เป็นเวลาถึง  2 วัน 2 คืน จึงสามารถควบคุมเพลิงไว้ได้ทั้งหมด

จากเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งนี้เกิดฝุ่นควันทำให้ชุมชนบริเวณใกล้เคียงได้รับผลกระทบ ผู้สื่อข่าวจึงได้สอบถามไปยัง นายวุฒิกร พิจอมบุตร ปลัดเทศบาลรักษาการแทนนายกเทศมนตรีตำบลเกาะคา ถึงสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้ รวมไปถึงแนวทางการบริหารจัดการ การป้องกันและแก้ไขในอนาคต

นายวุฒิกร พิจอมบุตร ปลัดเทศบาลรักษาการแทนนายกเทศมนตรีตำบลเกาะคา กล่าวว่า “จากเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งนี้มีสาเหตุจากการสอบสวนเบื้องต้น คาดว่าเหตุการณ์เพลิงไหม้น่าจะเกิดช่วงกลางคืนวันที่ 5 เม.ย. ซึ่งศูนย์ฯจะมีคนงานเฝ้าบ่อขยะ ทำงานตั้งแต่เวลา 8โมงเช้าถึง 5โมงเย็น ในช่วงเช้าคนงานเข้ามาทำงานพบไฟไหม้จึงแจ้งมาทางเทศบาล ดูจากหลักฐานแล้วมีรอยงัดจากประตูรั้วของศูนย์บริหารจัดการขยะ ซึ่งมีข้อสันนิษฐานว่าหน้าจะเกิดจากการวางเพลิง ซึ่งทางเทศบาลมอบหมายให้รองปลัดไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ สภ.เกาะคา แต่อย่างไรต้องให้ทางตำรวจทำการสืบสวนสอบสวนก่อน

ปลัดเทศบาล ต.เกาะคา ยังได้กล่าวถึงการป้องกันปัญหาว่า หลังเกิดเหตุทางคณะกรรมการศูนย์ประสานงานและการบริหารจัดการขยะของเครือข่ายทั้ง 6 แห่ง ได้ร่วมกันกำหนดมาตรการการดำเนินงานต่อเนื่องเพื่อระงับเหตุการณ์ไม่ให้เกิดขึ้นได้อีก  โดยจะได้จ้างคนดูแลบ่อขยะ จำนวน 1 คน เพื่อจัดระเบียบการทิ้งขยะตลอดจนคอยรายงานความผิดปกติให้กับทางคณะกรรมการศูนย์ฯทราบในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้บ่อขยะขึ้น โดยกำหนดระยะเวลาให้ภาคีเครือข่ายสามารถทิ้งขยะได้ในช่วงเวลา 08.30-17.00 น. เท่านั้น เพราะศูนย์จะทำการปิดล็อค ไม่ให้บุคคลเข้าออกโดยเด็ดขาด และจ้างคนมาเฝ้าบ่อขยะในตอนกลางคืน ทำการปิดป้ายประกาศไม่ให้คนภายนอกเข้ามาทิ้งขยะโดยเด็ดขาด ไม่ให้ทุกพื้นที่นำเศษเซรามิค วัสดุก่อสร้าง หรือโฟมจากโรงงานอุตสาหกรรมมาทิ้งในพื้นที่บริเวณบ่อขยะก่อนได้รับอนุญาต  พร้อมกันนี้จะจัดแบ่งเวรยามเจ้าหน้าที่รับผิดชอบน้ำรถบรรทุกน้ำเข้าไปฉีดพรมให้บริเวณขยะมีความชุ่มชื้น ป้องกันการลุกไหม้ของขยะที่เกิดจากแก๊สชีวภาพภายใต้บ่อขยะ  นอกจากนั้นจะมีการเฝ้าระวังตรวจสอบความผิดปกติโดยรถตรวจของเทศบาลตำบลเกาะคา  รวมทั้งร่นระยะเวลาการไถกลบขยะให้เร็วขึ้น  และศึกษาแนวทางการติดกล้อง CCTV”

เมื่อสอบถามถึงการบริหารจัดการบ่อขยะ นายวุฒิกร กล่าวว่า ด้านการบริหารจัดการของบ่อขยะ ทางมหาลัยวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมกับการส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น และทางองค์กรไจก้า (jica) ประเทศญี่ปุ่น มาศึกษาดูงานที่เทศบาลตำบลเกาะคาพบเห็นปัญหาเกี่ยวกับพื้นที่ทิ้งขยะที่มีน้อย หากไม่มีการกำจัดขยะที่ต้นทาง บ่อขยะที่คาดระยะเวลาไว้ซัก 10 ปี อาจจะลดเหลือเพียง 3-4 ปี เลยมีโครงการร่วมกัน ให้มีการคัดแยกขยะที่ต้นทาง คือมีการแบ่งขยะเปียก ขยะแห้ง ขยะรีไซเคิล และมีการลดปริมาณขยะจากเมื่อก่อนทางเทศบาลได้ชั่งน้ำหนักขยะประมาณ 10 ตันต่อวัน แต่หลังจากทำโครงการเราได้นำขยะไปช่างเหลือเพียงประมาณ 3 ตันต่อวันเท่านั้น นี้คือสิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมจากโครงการ ซึ่งเดิมมีเครือข่ายอยู่ 4 เทศบาล คือ เทศบาลตำบลเกาะคา เทศบาลตำบลท่าผา เทศบาลตำบลสบยาว และเทศบาลตำบลศาลา แต่ประมาณปี 48 มีเครือข่ายเพิ่มมาอีก 2 แห่งคือ เทศบาลตำบลวังพร้าว เพราะทางหมู่บ้านไม่มีที่ทิ้งและชุมชนมีพื้นที่ใกล้กับศูนย์ฯทำให้ได้รับผลกระทบ และอีกที่หนึ่งที่รับมาล่าสุดคือ เทศบาลตำบลน้ำโจ้ได้รับผลกระทบเช่นกัน เราจึงต้องจำเป็นที่จะรับเพิ่ม ทำให้ตอนนี้จำนวนขยะต่อวันตกอยู่ประมาณ 10 -15 ตัน

สำหรับการกำจัดขยะทางศูนย์ฯอาจจะไม่ถูกต้องตามสุขอนามัยร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะเป็นบ่อขยะเก่าที่มีมานานแล้วคล้ายบ่อดินลูกรัง จะไม่เหมือนบ่อเปิดใหม่ที่มีการวางผ้ายางก่อน แต่ก็พยายามทำให้ถูกต้องที่สุดโดยการฝังกลบ กำจัดกลิ่น กำจัดแมลงวัน การไถกลบจะทำประมาณ 7 วันครั้ง ปลัดเทศบาลกล่าว

ส่วนเรื่องการติดตามโครงการศูนย์กำจัดขยะขององค์การบริหารส่วนจังหวัดที่กำลังสร้าง นายวุฒิกรก ล่าวว่า “คิดว่าเป็นอีกทางเลือกดีที่สุด แต่ตอนนี้ยังมีปัญหาเกี่ยวกับศาลปกครองซึ่งคุ้มครองอยู่ คิดว่าอีกนานหลายปีกว่าจะทำการก่อสร้างแล้วเสร็จ อาจจะนำขยะไปทิ้งได้เพียงบางส่วน หรืออาจจะแบ่ง 1 ใน 3 เท่านั้น ซึ่งทางเทศบาลก็ไม่น่าจะมีปัญหา แต่หน่วยงานเครือข่ายทั้ง 5 แห่ง หากนำขยะมาทิ้งที่นี้ค่างบประมาณที่ต้องจ่ายแห่งละหนึ่งแสนบาทต่อปี แต่ถ้านำไปทิ้งที่ศูนย์กำจัดขยะของ อบจ. ค่าน้ำมันการขนขยะนำไปทิ้งอาจสูงขึ้นเป็นเท่าตัว


ตอนนี้เทศบาลตำบลเกาะคาก็พยายามคิดหาแนวทางการแก้ปัญหาให้กระทบกับพื้นที่ชุมชนน้อยที่สุด หากไม่มีเหตุเพลิงไหม้เกิดขึ้นปัญหาหน้าจะไม่ถึงสิบเปอร์เซ็นต์ และตอนนี้ทางอำเภอเกาะคาก็ได้เข้ามามองหาพื้นที่ใหม่บริเวณรอยต่อหมู่บ้านวังพร้าวกับหมู่บ้านนาแส่ง ซึ่งกำลังขอพื้นที่และ มีการทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งนายอำเภอก็ได้แนะนำให้ลองหาพื้นที่ใหม่เพราะใช้พื้นที่นี้ 24 ไร่ มาเป็นเวลานานแล้ว”นายวุฒิกรกล่าว.


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 973 ประจำวันที่ 11 - 17 เมษายน 2557) 
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์