วันอาทิตย์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2557

บ้านต้นธง บ้านเก่ากับเรื่องราวพ่อค้าเร่


เป็นที่รู้กันดีว่า สองฟากฝั่งแม่น้ำวังตั้งแต่อำเภอแม่พริก อำเภอเถิน อำเภอสบปราบ อำเภอเกาะคา ไปจนถึงอำเภอเมืองฯ นั้น เรียงรายไปด้วยหมู่บ้านที่เคยเป็นจุดแวะพักรายทางของพ่อค้าเร่

นอกจากชุมชนตลาดจีน หรือกาดกองต้า ยังมีหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่งที่เป็นที่รู้จักกันดีในย่านอำเภอแม่พริก นั่นคือบ้านต้นธง หมู่บ้านขนาดใหญ่มากกว่า 500 หลังคาเรือนนี้ เคยเป็นย่านการค้าริมแม่น้ำวังที่คึกคักมากมายไปด้วยพ่อค้าเร่จากทั่วสารทิศ เพราะที่นี่เป็นทั้งจุดพักเรือและพักรถที่ขึ้นล่องเส้นทางลำปาง-นครสวรรค์

ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2408 พื้นที่รกร้างริมแม่น้ำวังบริเวณที่เป็นบ้านต้นธงในปัจจุบัน ถูกบุกเบิกครั้งแรกโดยคนจาก 3 ครอบครัวที่อพยพมาจากบ้านแม่ปุ พวกเขาเดินเท้ามา 2 กิโลเมตร พร้อมหอบความหวังว่าชีวิตข้างหน้าจะดีกว่านี้

ตระกูลลีลาศ ตระกูลวงศ์ไชยสิทธิ์ และตระกูลทิตวงศ์ ช่วยกันหักร้างถางพงสร้างบ้านเรือน 3 หลัง ขณะเดียวกันพวกเขาก็เห็นต้นปอธงสูงใหญ่อยู่ฝั่งตรงข้าม จึงพากันตั้งชื่อหมู่บ้านใหม่แห่งนี้ว่า บ้านต้นธง โดยมีแม่น้ำวังเป็นดังสายเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงพืชไร่และชีวิต ปลาแม่น้ำวังจำนวนมหาศาลราวกับว่าจับกินได้ไม่มีวันหมด ถัดไปไม่ไกลในราวป่า ยังมีทั้งเก้ง หมูป่า และไก่ป่า เป็นแหล่งโปรตีน ไม่นานหมู่บ้านจึงเริ่มขยับขยาย มีคนต่างถิ่นจากลำพูน เถิน ตาก และกำแพงเพชร ย้ายเข้ามาอยู่ร่วม

บ้านเก่าที่นี่ส่วนใหญ่สร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง สะท้อนให้เห็นความสมบูรณ์ของป่าไม้เมืองเหนือในอดีตได้อย่างดี บ้านสองชั้นบ้าง ชั้นเดียวบ้าง เบียดชิดกันอยู่เต็มสองฟากถนนจนกล่าวได้ว่า บ้านต้นธงมีพื้นที่ที่ยาวขนานไปกับแม่น้ำวังมากที่สุดในบรรดาหมู่บ้านริมแม่น้ำอื่น ๆ ของเมืองลำปาง แต่ละหลังใช้ไม้สักจากแหล่งบ้านโป่งขามและห้วยขี้นก โดยชาวบ้านจะนำเกวียน หรือช้างไปลากมา หลังจากนั้นก็จ้างช่างจากเมืองแพร่ หรือไม่ก็จากอำเภอแม่ทะมาสร้าง เพราะเชื่อกันว่าเป็นช่างไม้ที่มีทักษะมาก บ้านหลังหนึ่งใช้เงินราว ๆ แสนกว่าบาท ใช้เวลาสร้าง 2 เดือน

บ้านไม้แต่ละหลังของบ้านต้นธงเป็นงานไม้ที่เปี่ยมไปด้วยประโยชน์ใช้สอย ดูสมถะ ไม่ได้หรูหราอลังการดังเช่นบ้านเก่าในย่านตลาดจีน มีเพียงประตูบานเฟี้ยมยาวเหยียด แผงกันสาดกับช่องลมฉลุลวดลายแต่พองาม ซึ่งนี่เองคือเสน่ห์ของบ้านไม้ในแบบของบ้านต้นธง

ขณะที่หลายครอบครัวตั้งตัวได้จากการล่องเรือขายสินค้าชนิดที่เรียกได้ว่าขายกันตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ บางครอบครัวเลือกที่จะเลี้ยงครั่ง ว่ากันว่า บ้านต้นธงคือแหล่งครั่งที่ใหญ่ที่สุดแหล่งหนึ่งในยุคนั้น บางครอบครัวเลี้ยงครั่งถึง 50 กว่าไร่ และถึงกับต้องปลูกบ้านไว้เก็บครั่งกันเลยทีเดียว

เมื่อก่อนคนเลี้ยงครั่งรู้ดีว่า 4 ปีจึงจะปล่อยครั่งได้ครั้งหนึ่ง ต้นครั่ง หรือต้นฉำฉาจะถูกตัดกิ่งก้านออกจนเกือบหมด ทั้งนี้ ต้นฉำฉามีน้ำเลี้ยงมาก แตกกิ่งเร็ว โตเร็ว อันที่จริงต้นมะเดื่อกับต้นลำไยก็ใช้เลี้ยงครั่งได้ แต่น้ำเลี้ยงน้อยกว่าต้นฉำฉา จึงไม่เป็นที่นิยม โดยชาวบ้านจะเลือกเก็บเฉพาะส่วนที่เป็นปุ่มปมล่องเรือไปขายยังนครสวรรค์ ส่วนแม่ครั่งจะนำไปขยายพันธุ์ต่อ ต้นหนึ่งถ้าได้ครั่งสัก 400-500 กิโลกรัมก็น่าดีใจแล้ว อย่างไรก็ตาม เรื่องสภาพอากาศก็มีผล หากปีไหนลมแรง ตัวครั่งจะปลิวไปตามสายลมจนหมด

เล่ากันว่า แถบบ้านต้นธงและใกล้เคียงเป็นจุดที่ลมแรงจัด บางบ้านกั้นห้องใต้ดินไว้หลบลมโดยเฉพาะ ดังนั้น เมื่อย่างเข้าเดือน 6 แต่ละบ้านจะเตรียมวิธีรับลมแรงในแบบเฉพาะของตนเอง บ้างนำเห็ดลมมาแขวนไว้หน้าบ้านเพื่อกันลม นี่เป็นความเชื่อที่ตกทอดกันมานานแล้ว หากไม่ใช้เห็ด ก็ฝังเกลือเม็ดไว้ตามมุมบ้านได้ แต่ต้องทำก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นเพื่อไม่ให้ใครเห็น เพราะวิธีนี้ห้ามคนมาทักเด็ดขาด ขณะที่บางบ้านนำเหล้าขาวใส่ขวดเล็ก ๆ ตั้งไว้

การเลี้ยงครั่งของคนบ้านต้นธงค่อย ๆ ล้มเลิกไปภายหลังการมาถึงของพลาสติก หลายครอบครัวหันไปปลูกส้มเกลี้ยงที่ให้ราคาดีกว่าครั่งหลายเท่า บางครอบครัวย้ายไปอยู่ที่อื่น บ้านไม้หลายหลังถูกปิดตาย ประตูบานเฟี้ยมที่เคยเปิดกว้างวันนี้ปิดเงียบ บ้านบางหลังถูกรื้อทิ้งอย่างน่าเสียดาย ใช่เพียงเสียดายเนื้อไม้ หากแต่อาลัยฤดูกาลที่ตกสะท้อนอยู่ในนั้น


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 971 ประจำวันที่ 4 - 10 เมษายน 2557)    
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์