วันอาทิตย์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2557

หม้อห้อม หายไปไหน



ดูเหมือนว่าไม่กี่ปีมานี้เอง ที่เสื้อลายดอกเข้ามาครองใจผู้คนในช่วงเทศกาลสงกรานต์จนเสื้อหม้อห้อมอันเป็นเอกลักษณ์ของหมู่เฮาชาวเหนือยังต้องชิดซ้าย

เมื่อพูดถึงเสื้อลายดอก เราอาจนึกถึงความเป็นไทยสไตล์ลูกทุ่ง ๆ นึกถึงผู้ชายชาวบ้านที่ประแป้ง หวีผมเรียบแปล้ นึกถึงไอดอลไทยลูกทุ่งอย่างเจนภพ จบกระบวนวรรณ ในขณะที่เสื้อหม้อห้อมกับเสียงสะล้อซอซึงของจรัล มโนเพ็ชร ยังอยู่ในใจของพี่น้องท้องถิ่นเมืองเหนือ

คำว่า หม้อห้อม ตามความหมายของภาษาเมืองแพร่นั้น หม้อ ก็คือภาชนะใบใหญ่ ๆ ที่ไว้ใช้สำหรับการย้อม ส่วน ห้อม หมายถึงต้นห้อม พืชล้มลุกในตระกูลคราม โดยชาวบ้านจะตัดเอากิ่งและใบของต้นห้อมมาแช่น้ำทิ้งไว้ในบ่อหมัก ซึ่งเป็นบ่อซีเมนต์ขนาดใหญ่พอประมาณไว้นานหลายเดือนจนเปื่อยเน่าย่อยสลาย ก็จะได้น้ำสีครามเข้ม เมื่อผสมกับปูนขาวแล้ว กากที่ได้ก็คือผงครามที่จะใช้เป็นผงย้อม เวลาย้อมก็ต้มย้อมโดยใส่ผ้าดิบลงในกระทะใบใหญ่ ๆ โดยใช้น้ำปูนขาวกับน้ำขี้เถ้าเป็นส่วนผสมหลัก อยากให้เข้มมาก ๆ ก็ย้อมหลาย ๆ ครั้ง จนท้ายสุดนำผ้าดิบที่ย้อมจนพอใจแล้วลงไปต้มกับน้ำเกลือเป็นขั้นตอนสุดท้ายเพื่อไม่ให้สีตกเวลาใส่ จากนั้นจึงตากทิ้งไว้จนแห้งสนิท นำไปตัดเป็นเสื้อหม้อห้อม หรือกางเกงต่อไป

ตำนานเสื้อหม้อห้อมมีบันทึกว่า ชาวไทยพวนที่อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ เป็นต้นตำรับในการผลิตขึ้นสวมใส่มาเมื่อ 100 กว่าปีก่อน ทว่าจุดเริ่มต้นของความนิยมชมชอบในเสื้อหม้อห้อมนั้น เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อชาวไทยพวนที่อพยพเข้ามาอยู่ที่อำเภอเมืองแพร่ได้เย็บเสื้อผ้าฝ้ายย้อมสีครามดำออกจำหน่ายให้แก่คนงานและลูกจ้างทำป่าไม้ นี่เองที่จุดประกายให้เสื้อหม้อห้อมกลายเป็นที่ชื่นชอบ เพราะความที่มันทั้งทนทาน เบาสบาย ไม่ร้อนเกินไป แถมยังดูแลรักษาง่ายเพราะมีสีเข้ม จึงไม่เปื้อนง่าย ซักแล้วยังคงดูสะอาด ใส่ได้หลายโอกาส ราคาไม่แพง

ครั้นในปี พ.ศ. 2496 นายไกรศรี นิมมานเหมินท์ ได้จัดงานเลี้ยงอาหารแบบขันโตกเพื่อเป็นเกียรติแก่นายสัญญา ธรรมศักดิ์ และกงสุลอเมริกันที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยได้กำหนดธีมงานอย่างเก๋ไก๋ให้ผู้มาร่วมงานสวมเสื้อผ้าฝ้ายคอกลมย้อมสีคราม คาดผ้าขาวม้า หลังจากงานนี้ก็ได้เกิดปรากฏการณ์กระเพื่อมไหวในสังคมชาวเหนือ คือ หม้อห้อมฟีเวอร์ มีผู้นิยมสวมใส่เสื้อหม้อห้อมกันอย่างแพร่หลาย จนทำให้คนทั่วไปคิดว่าเสื้อหม้อห้อมนี้เป็นเสื้อประเพณีนิยมของชาวล้านนา

ซึ่งอันที่จริง สำหรับคนเมืองแพร่แล้ว ผู้หญิงพื้นเมืองแพร่นิยมนุ่งซิ่นแหล้ (ผ้าถุงทอพื้นดำมีริ้วสีแดงแนวนอนที่ช่วงปลาย) กับเสื้อหม้อห้อมคอสามเหลี่ยม แขนสามส่วน ส่วนของผู้ชายจะนุ่งเตี่ยวกี คือกางเกงขาก๊วย และเสื้อกุยเฮงที่มีคอกลม ผ่าอก ทั้งหมดย้อมด้วยห้อมเป็นสีน้ำเงินเข้ม

บ้านทุ่งโฮ้งกลายเป็นแหล่งผลิตหม้อห้อมแหล่งใหญ่ที่สุดและมีชื่อเสียงที่สุดของจังหวัดแพร่ คนบ้านทุ่งโฮ้งมีเชื้อสายไทยพวนกันทั้งหมด แต่เดิมตั้งถิ่นฐานอยู่ใน สปป. ลาว และเข้ามาในเมืองแพร่จากการกวาดต้อนเป็นเชลยศึก ในอดีตการทำเสื้อหม้อห้อมคือรายได้หลักของคนบ้านทุ่งโฮ้งที่มีอยู่ด้วยกัน 7 หมู่ โดยลักษณะการทำเป็นแบบบ้านใครบ้านมัน แต่ละบ้านก็จะมีวิธีการและเทคนิคย้อมที่ต่างกัน จนถือเป็นธรรมเนียมของคนที่นี่ว่าจะไม่มีการถามกันถึงสูตรการย้อม ทว่าปัจจุบันเหลือทำกันไม่มากแล้ว

สำหรับคนเมืองแพร่ กระแสรณรงค์ให้สวมใส่เสื้อหม้อห้อมในช่วงเทศกาลสงกรานต์คงเข้มข้น เพราะเป็นต้นตำรับอยู่แล้ว เสื้อลายดอกจึงรุกคืบเข้ามาเรียกคะแนนนิยมจากจังหวัดอื่นในภาคเหนือแทนที่จะเจิดจ้าอยู่เฉพาะในแถบจังหวัดภาคกลาง

เสื้อลายดอกอาศัยโยงใยอยู่กับความเป็นไทย และเทศกาลสงกรานต์ก็ดูไทยมาก ๆ เสียด้วย ซึ่งจริง ๆ แล้ว เสื้อในเทศกาลสงกรานต์ของผู้ชายเดิมเป็นเสื้อคอพวงมาลัย หรือคอกลม ผ้าลายดอก หรือผ้าพื้น ต่อมามีการเอาผ้าลายดอกมาตัดเป็นเสื้อปกเชิ้ต หรือเสื้อปกฮาวายกัน คงเห็นว่าใส่ง่าย เข้ากับกางเกงต่าง ๆ ได้ดีกว่าเสื้อคอพวงมาลัย เพราะถ้าเป็นเสื้อคอพวงมาลัยตามปกติต้องมีผ้าขาวม้าคาดเอว หรือไม่ก็ต้องมีผ้าห้อยบ่าสองชายด้วยจึงจะครบ

เสื้อลายดอกยังเป็นอะไรที่สดใส น่าตื่นตาตื่นใจ ถูกจริตกับเทศกาลสงกรานต์ที่เป็นเทศกาลแห่งความรื่นเริงบันเทิงใจ ดังนั้น การสวมเสื้อลายดอกไม้หลากหลายรูปทรงและสีสันจึงเหมาะกับเทศกาลแห่งความสนุกสนาน เหมาะกับฤดูร้อนเดือนเมษายน ซึ่งเป็นช่วงที่ดอกไม้นานาชนิดกำลังบานสะพรั่ง นอกจากนี้ การใช้สัญลักษณ์ดอกไม้หลายสีสันยังให้ความหมายที่ดีในการเริ่มต้นปีใหม่ไทยด้วยความสดใสเบิกบานอีกด้วย

ไม่แปลกใจที่ทุกวันนี้มองไปทางไหนก็เห็นแต่เสื้อลายดอกสีฉูดฉาด แต่ปลื้มใจคนเมืองแพร่ ในเสื้อสีครามที่พวกเขาสวมใส่มีเรื่องราวมากกว่าค่านิยมใหม่ ๆ จะเข้ามาทดแทนได้

           

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 974 ประจำวันที่ 18 - 24 เมษายน 2557) 
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์