วันอาทิตย์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2557

ฮาลาลฟู้ด มหัศจรรย์อาหาร


 ารเลือกลำปาง เป็นสถานที่จัดงานฮาลาลฟู้ด ถัดจากเชียงใหม่ มีความหมายมากกว่า การจัดงานเทศกาลอาหารทั่วไป เพราะคำว่าฮาลาลฟู้ดมีความสำคัญทั้งในเชิงวัฒนธรรม และเศรษฐกิจ อีกด้านหนึ่งก็เป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกความเป็นชุมชนมุสลิมขนาดใหญ่ในจังหวัดภาคเหนือตอนบนของลำปาง ที่เป็นเสมือนแม่น้ำแยกสาย ไผ่แยกกอมาจากมุสลิมสายจีนฮ่อ ที่ลงหลักปักฐานอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ร้านข้าวซอยอิสลาม ที่เล่าลือกันว่าอร่อยที่สุดในประเทศไทย ก็เป็นฮาลาลฟู้ดที่เรารู้จักคุ้นเคยกันดี และน่าจะเป็นสายหนึ่งของมุสลิมจีนฮ่อ

โครงการ Lanna Halal Industry Trade 2014 : Lampang Thailand จะจัดขึ้นในวันที่ 19-23 มิถุนายน นี้ เรียกได้ว่าเป็นงานใหญ่ เพราะจะสร้างโอกาสสำคัญให้ผู้ประกอบการกลุ่มภาคเหนือตอนบนให้มีส่วนแบ่งการตลาดสินค้าฮาลาลที่สำคัญได้ เพราะประชากรมุสลิมมีราวๆ 2,000 ล้านคนของประชากรโลก ยิ่งไปกว่านั้นเมืองไทยมีนโยบายพัฒนาประเทศให้เป็นครัวโลกเป็นแหล่งผลิตอาหารคุณภาพ สะอาด ปลอดภัย ฉะนั้นการเริ่มต้นที่จะเป็นครัวมุสลิม อาจไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินฝันสำหรับลำปาง

อาหารฮาลาล คือ อาหารที่ผ่านกรรมวิธีในการทำ ผสม ปรุง ประกอบ หรือแปรสภาพ ตามศาสนบัญญัติ จะมีเครื่องหมายฮาลาลเพื่อเป็นการรับประกันว่า ชาวมุสลิมโดยทั่วไปสามารถบริโภคอาหาร หรืออุปโภคสินค้าหรือบริการต่างๆได้อย่างสนิทใจ

อาหารมุสลิมในจังหวัดลำปางถือได้ว่ามีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่ว ใครได้มาชิมเป็นต้องติดใจ เช่น ข้าวซอยอิสลาม สี่แยกกาดหัวขัว หรือข้าวหมกไก่อิสลาม แยกโรงฆ่าสัตว์ และยังมีอีกหลายร้านที่เปิดให้บริการอีกมากมายแต่ละร้านล้วนสุดยอดฝีมือ

จะว่าไป ลำปางเองก็มีย่านที่อยู่อาศัยที่สอดคล้องกับอาชีพเลี้ยงวัว แพะ ไม่ว่าจะเป็นบริเวณ บ้านวังหม้อ ต.ต้นธงชัย แหล่งเลี้ยงวัวแถวริมน้ำวัง หรือ สุขสวัสดิ์ ต.พระบาท แหล่งเลี้ยงแพะที่เป็นที่รู้จักกันดีของคนลำปาง

นอกจากนี้สิ่งที่จะเป็นกำลังสำคัญที่ลำปางจะตั้งเป้าในการเป็นครัวมุสลิม คงหนีไม่พ้นเส้นทาง R3A กับ Logistic Land Hub ที่คาดหวังว่าจะเป็นหน้าเป็นตาพลิกโฉมลำปางเมืองที่มีศักยภาพเต็มเปี่ยมแต่ถูกบดบังด้วยการเป็นเพียงเมืองผ่านขึ้นภาคเหนือเท่านั้น หลายครั้งหลายคราที่เราพยายามจัดกิจกรรมเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและเม็ดเงินให้มากระจายในลำปางบ้านเรา และหลายครั้งเช่นกันที่กิจกรรมมักจะไปไม่ถึงฝั่งฝัน แค่เพียงการประชาสัมพันธ์กิจกรรมให้คนลำปางรู้ทั่วยังทำยากแล้วจะหวังอะไรให้คนทั่วประเทศรู้ ว่าลำปางจัด งานอะไรบ้าง

นั่นเป็นมุมของเศรษฐกิจ แต่หากมองฮาลาลฟู้ดในเชิงวัฒนธรรม หลายคนอาจไม่รู้ว่า อาหารฮาลาล ถูกกำหนดขึ้นด้วยความศรัทธา ไม่เพียงการบริโภคเพื่อยังชีพเท่านั้น  

ในคัมภีร์อัล-กุรอาน กำหนดไว้ชัดเจน

 “ จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) ฉันไม่พบว่ามีสิ่งใดที่ถูกเปิดเผยแก่ฉันเป็นสิ่งต้องห้ามแก่ผู้ที่จะบริโภคมัน เว้นแต่สัตว์ที่ ตายเอง หรือเลือดที่ไหลออกมา หรือเนื้อของสุกร เพราะแท้จริงมันเป็นสิ่งสกปรก หรือสัตว์ที่เป็นการฝ่าฝืนที่เปล่งนามอื่นไปจากอัลลอฮ์ขณะเชือด ดังนั้นผู้ใดตกอยู่ในภาวะคับขัน โดยไม่ได้มีเจตนาขัดขืนและไม่ใช่เป็นการละเมิด เพราะแท้จริงองค์อภิบาลของท่านเป็นผู้ทรงอภัยยิ่ง ผู้ทรงเมตตาเสมอ
(อัล-กุรอาน ซูเราะห์อัลอันอาม : ๑๔๕)

เมื่อไม่กี่ปีก่อน บะหมี่มาม่ารสหมูสับ รสหมูต้มยำ จำนวนมากถูกคัดออกจากกอง เพราะความไม่รู้หรือไม่เฉลียวใจของผู้ที่ส่งความช่วยเหลือไปภาคใต้ ไม่เพียงบะหมี่รสหมูต้มยำ ที่ถูกปฏิเสธเท่านั้น หากอาหารทุกชนิดที่มิได้ตีตราฮาลาล ก็เป็นปัญหาของคนใต้ส่วนใหญ่ที่นับถือศาสนาอิสลามด้วย หลายคนอาจคิดว่า คนมุสลิมหรือคนแขกไม่กินหมูเท่านั้น จนนำมาสู่การล้อเลียนประชดประเทียดในเชิงชาติพันธุ์ ว่าแขกไม่กินหมู กลัวและรังเกียจหมู เป็นที่ตลกขบขัน แต่ลึกไปกว่านั้น นี่เป็นบทบัญญัติในคัมภีร์อัล-กุรอาน ซึ่งในศาสนาอิสลามนั้น มีสภาพบังคับเสมอกฎหมาย

อิสลามมิได้ห้ามเฉพาะการบริโภคสุกร หรือหมู แต่สัตว์ที่ตายเอง เลือดของสัตว์ สัตว์ที่เชือดเป็นพลีกรรม อีกทั้งสัตว์ที่มีเขี้ยวเล็บก็เป็นที่ต้องห้าม ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายในยุคต่อมาว่า สัตว์ เลือดของสัตว์เหล่านี้ มีผลต่อสุขภาพ ในขณะที่อาหารซึ่งเป็นที่อนุมัติเช่นเนื้อวัว แพะ แกะ สัตว์ปีกทั้งหลาย ก็ต้องเชือดเองในขณะเชือดต้องกล่าวนามของพระเจ้า

ฮาลาล ซึ่งแปลว่า เป็นที่อนุมัติ จึงมีความหมายทั้งในเชิงโภชนาการ และจิตวิญญาณในการเคารพและเชื่อฟังพระเจ้า

ข้อห้ามเรื่องการบริโภคสุกร หรืออาหารต้องห้ามเหล่านี้ ก็มีข้อยกเว้นหากตกอยู่ในภาวะคับขัน ไม่มีเจตนาขัดขืน และจงใจละเมิดคำของพระเจ้า แต่มุสลิมที่มีศรัทธามั่น เส้นบางๆที่เขาจะหลอกตัวเองว่าถึงที่สุดในชีวิตแล้ว ก็ไม่เคยก้าวข้ามไป

ดังนั้น การปักธงงานใหญ่ฮาลาลฟู้ดที่ลำปาง จึงมีนัยสำคัญยิ่งที่ทำให้ลำปางเป็นที่รู้จักในฐานะชุมชนใหญ่ของมุสลิมในภาคเหนืออีกชุมชนหนึ่ง และเป็นการให้ความรู้กับชุมชนที่มิใช่มุสลิม ให้เข้าใจฮาลาลฟู้ดในเชิงศาสนาและวัฒนธรรมด้วย




(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 974 ประจำวันที่ 18 - 24 เมษายน 2557) 
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์