วันพฤหัสบดีที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2557

ระดมสมองรัฐ - เอกชน ปักธงลำปางฮับขนส่ง เชื่อมสินค้า - บริการภาคเหนือ


จังหวัดลำปาง ร่วมกับ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการโลจีสติกส์และโซ่อุปทาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดสัมมนา การรับฟังข้อมูลกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ข้อมูลการค้า ข้อมูลสินค้า สถานภาพ และปริมาณโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงวิเคราะห์ความต้องการของผู้ประกอบการภาคเอกชน ภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคสังคม เพื่อให้จังหวัดลำปางเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงสินค้าและบริการทางบกของภาคเหนือ ภายใต้โครงการจัดวางระบบจังหวัดลำปางให้เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงสินค้า และบริการทางบกของภาคเหนือ  ณ ห้องประชุมกาสลอง โรงแรมเวียงลคร จ.ลำปาง เมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา

รศ.ดร.อภิชาต โสภาแดง ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า การสัมมนาครั้งนี้ เป็นการรวบรวมข้อมูลจากผู้เกี่ยวข้อง จากส่วนราชการและภาคเอกชน ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจและอุตสาหกรรมในจังหวัดลำปาง เพื่อนำข้อมูลทั้งหมดประกอบการศึกษาและรายงานผลการศึกษาที่จะเป็นฐานข้อมูลศึกษาที่มีต่อการผลักดัน ให้ลำปาง เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงสินค้า และบริการทางบกของภาคเหนือ 

จากข้อมูลยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านโลจิสติกส์กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน วางไว้เป็นศูนย์กลางการค้า การท่องเที่ยว และการลงทุน โดยส่วนหนึ่งนั้นมีแผนโครงการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมระหว่างประเทศทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ภายในกลุ่มจังหวัด พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของแหล่งท่องเที่ยวและการเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าและคน โครงการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมด้านโลจิสติกส์ของกลุ่มภาคเหนือตอนบน 1 โครงการพัฒนาเชื่อมโยงผู้ประกอบการและนักลงทุนเพื่อขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งการเชื่อมโยงดังกล่าวจะเกี่ยวข้องกับการเชื่อมโยง การเชื่อมโยงผ่านพม่าสู่ BIMSTEC การเชื่อมโยงไปสู่ส่วนต่างๆของประเทศและ โลกผ่าน Aviation Hub และ การเชื่อมโยงเส้นทางขนส่งทางบกผ่าน Land Logistics Hub ทั้งนี้ได้ร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์และทิศทางแต่ละจังหวัดตามความเหมาะสม ซึ่งลำปาง ได้ถูกกำหนดทิศทางเบื้องต้นว่า น่าจะมีความเหมาะสมที่สุดในการเป็น Land Logistic Hub คือ ศูนย์กลางของการเชื่อมโยงสินค้า และบริการทางบก จึงมีความจำเป็นต้องศึกษา และรวมรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องทุกด้าน

 “โครงการศึกษาครั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการรวบรวมข้อมูลจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งผู้ประกอบการในท้องถิ่นในเชียงใหม่ กรุงเทพฯ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน  ภาครัฐ นักวิชากร ที่มีมุมมองต่างๆว่า หากลำปาง เป็นศูนย์เชื่อมโยงสินค้าและบริการทางบกของภาคเหนือ จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร ประกอบด้วยอะไร บ้าง และควรอยู่พิกัดพื้นที่ไหนที่มีความเหมาะสม และตรงกับความต้องการหรือเกิดประโยชน์ให้มากที่สุด ผมให้ความสำคัญกับนักธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรมทั้งในจังหวัดและระดับภาค จนถึงระดับประเทศที่จะใช้ประโยชน์จากศูนย์การเชื่อมโยงนี้ว่าเขาอยากได้อะไร เช่น คลังเก็บสินค้า การเพิ่มประสิทธิภาพในการเคลื่อนย้ายสินค้า จุดพัก บรรจุหีบห่อและขนถ่ายเปลี่ยนยานพาหนะ และส่งกระจายสินค้า เป็นต้น ซึ่งหาก ผลการศึกษา ปรากฏชัดว่าควรมีอะไร อย่างไร ก็จะเป็นข้อมูลที่บ่งชี้รายละเอียดของการผลักดัน ร่วมกันให้เป็นรูปธรรมต่อไป”

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติม ว่าการสัมมนาดังกล่าว ในช่วงบ่าย ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างคณะศึกษากับผู้ประกอบการ ในประเด็นเกี่ยวกับสินค้าและอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของจังหวัดลำปาง ที่จะมีการขนส่งทางบกเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านและอาเซียน ทั้งนี้มีข้อมูลจากผู้ประกอบการและผู้เข้าร่วมสัมมนาครั้งนี้ ว่าอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของลำปาง คือ เซรามิก  อุตสาหกรรมปูนซิเมนต์ และขี้เถ้าลอยที่ได้จากผลิตลิกไนต์ของ กฟผ.แม่เมาะ อุตสาหกรรมไม้แปรรูป และแปรรูปอาหาร ครั่ง ดินขาว นอกจากนี้ ยังมีข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งอาจจะได้รับประโยชน์ จากศูนย์โลจีสติกส์ ในอนาคต

ส่วนประเด็นที่ตั้งศูนย์ดังกล่าว มีความเห็นตรงกันว่าต้องมีสถานีจ่ายก๊าซ NGV และเป็นพื้นที่ของรัฐ เช่น ที่ราชพัสดุในพื้นที่อ.เกาะคา อ.เมือง อ.งาว หรือ จุดที่อยู่ใกล้กับเส้นทางถนนเลี่ยงเมือง และทางรถไฟ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งทางรถไฟ ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้โครงการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวจะสิ้นสุด และสรุปผลการศึกษาในเดือนสิงหาคม 2557



 (หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 973 ประจำวันที่ 11 - 17 เมษายน 2557) 
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์