วันอังคารที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

โลกลวงออนไลน์ ในข่าวแผ่นดินไหว

เพิ่มคำอธิบายภาพ

ากไม่มีข่าวศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พ้นจากการเป็นนายกรัฐมนตรี สื่อกระแสหลักในส่วนกลางคงต้องพูดถึงกันหนักหนาพอสมควร ในการที่กลายเป็นเหยื่อของสื่อสังคมออนไลน์ แม้กระทั่งสื่อที่รายงานจากพื้นที่แผ่นดินไหวในเขตภาคเหนือตอนบน แม้ว่าในปรากฎการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้น จะมีความเสียหายเกิดขึ้นจริง แต่บางเรื่องราว บางภาพก็เป็นการส่งผ่านขยะ ที่ไม่น่าเชื่อถือ ไม่เป็นความจริง และสำคัญที่สุดคือเมื่อส่งสารผิดๆ ไปแล้วก็ไม่มีใครรับผิดชอบอะไร

แน่นอนว่าเราปฎิเสธไม่ได้ในบทบาทของสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ที่กลายมาเป็นจังหวะเต้นหัวใจของสื่อกระแสหลักวันนี้

บทบาทของสื่อกระแสหลัก โดยเฉพาะสื่อทีวี ในกลุ่มสัมปทานเดิม บางเบามาก เมื่อเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.3 ริกเตอร์ที่จังหวัดเชียงราย จากรอยเลื่อนพะเยา ที่ใกล้ขนาดหายใจรดต้นคอกับบางอำเภอของจังหวัดลำปาง เราพบว่า ผู้ติดตามข่าวสาร ภาพเหตุการณ์ ภาพความเสียหาย ส่วนใหญ่ ได้มาจากการแชร์ในสื่อสังคมออนไลน์

ภาพความเสียหายของวัดร่องขุ่น เศียรพระพุทธรูป ภาพการพังทลายของอาคารบ้านเรือน  รอยแยกของถนน สินค้าในร้านสะดวกซื้อเกลื่อนกลาด กระจัดกระจาย แพร่กระจายอย่างรวดเร็วในเฟซบุ๊ค และในทีวีดิจิทัลบางช่อง  คนในสื่อสังคมออนไลน์กำลังจะกลายเป็นผู้นำกระแส ทิ้งฟรีทีวีอนาล็อก และหนังสือพิมพ์ไว้ข้างหลัง

อย่างน้อย 12 ชั่วโมงต่อมา หนังสือพิมพ์ ถึงได้เสนอภาพและข่าว ซ้ำกับที่คนได้รับรู้แล้วผ่านเฟซบุ๊ค  ฟรีทีวีเอาข่าวหนังสือพิมพ์ไปอ่าน  ในขณะที่ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ก็แชร์ภาพและข่าวคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ต่างรายงานเหตุการณ์ที่อยู่ตรงหน้าผ่านสื่อในมืออย่างคึกคัก

ความใกล้ชิดเหตุการณ์ประกอบกับความทันสมัยของเครื่องมือสื่อสาร ทำให้ข่าวสาร ข้อมูล กระโจนล้ำหน้าสื่ออาชีพไปหลายช่วงตัว แต่ความเป็นสื่อเย็น ก็นับว่าได้เปรียบ ในแง่ของความถูกต้อง ครบถ้วน อีกทั้งการใช้วิธีนำเสนอ ในแบบเล่าเรื่องด้วยภาพและอินโฟรกราฟิกส์  หรือ Visual Story-telling and Infographics ที่สื่ออื่นๆยังไม่สามารถทดแทน ทำให้สื่อหนังสือพิมพ์ ยังคงพอมีที่ทางยืนอยู่ได้

สิ่งเหล่านี้ยังคงเป็นหลักฐานยืนยันว่า ในภาวะถดถอยของสื่อสิ่งพิมพ์  ความเชื่อถือในสื่อดั้งเดิม เช่น สื่อหนังสือพิมพ์ยังมีสูงกว่าสื่อใหม่ และถึงแม้ในสื่อทีวีจะมีการเล่าเรื่องด้วยภาพและอินโฟรกราฟิกส์อยู่บ้าง แต่ก็ฉาบฉวยและผ่านไปรวดเร็วโดยอาจไม่ทันสังเกตเห็น ตรงกันข้ามกับหนังสือพิมพ์ เช่น การทำอินโฟรกราฟิกส์ข่าวแผ่นดินไหว การแสดงจุดรอยเลื่อนของแผ่นดินไหว ซึ่งครั้งนี้เชื่อว่าเป็นรอยเลื่อนพะเยา ผู้คนที่อาศัยอยู่ในแนวรอยเลื่อน ตั้งแต่เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา น่าน ลำปาง ลำพูน แพร่ อุตรดิตถ์ และพิษณุโลก จะมีโอกาสได้เห็นและอ่านซ้ำ ชัดเจนมากว่า พิกัดที่พวกเขาอยู่มีความเสี่ยงภัยแผ่นดินไหวมากน้อยเพียงใด

แต่ไม่ได้แปลว่า สิ่งเหล่านี้จะอยู่ตลอดไป สื่อออนไลน์ สื่อสังคมออนไลน์ รวมทั้งสื่อวิทยุและโทรทัศน์ อาจจำเป็นต้องใช้เวลาปรับตัวอีกพักหนึ่ง ต้องทบทวนหลักจริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคมที่กระจัดกระจายอยู่ ให้เป็นหมวดหมู่ ชัดเจน ร่วมสมัย โดยเฉพาะในทีวีดิจิทัล ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคนรุ่นใหม่ ที่ไม่คุ้นเคยหรือมีความรู้เรื่องจริยธรรมในระดับที่คิดได้เอง เพราะเหตุนี้ จึงมีภาพพยานเด็กในคดีฆ่า มีภาพแม่เด็กหญิงที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศเซ็นเซอร์หน้าตาบางเบา ปรากฏอยู่ในจอ โดยที่ไม่มีใครตระหนัก หรือตักเตือนกันว่า ภาพและข่าวเช่นนี้มีความผิดทั้งทางกฎหมายและจริยธรรม

ในความรวดเร็ว ของสื่อสังคมออนไลน์ ตลอดวานนี้ มีการส่งภาพและข้อความนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงรายตกบันไดเสียชีวิต ภาพถนนพังทั้งสาย ภาพและข้อความเหล่านี้ถูกแชร์ออกไปในวงกว้าง มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง สื่อกระแสหลักที่ไม่ได้มีกระบวนการตรวจสอบที่เข้มข้น ก็ส่งผ่านข้อความและภาพนี้ออกไปเช่นกัน

ความเป็นจริง ภาพและข้อความข่าวที่ว่า นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงรายเสียชีวิตจากการพลัดตกบันไดจากการวิ่งหนีแผ่นดินไหว ไม่เป็นความจริงเป็นเพียงการกลั่นแกล้งกันเท่านั้น ในขณะที่ภาพถนนพังทั้งเส้นที่มีการแชร์มากมายเป็นภาพที่เกิดจากแผ่นดินไหวที่ฟิลิปปินส์ เมื่อปี 2013 ไม่ใช่แผ่นดินไหวที่เชียงราย

เร็วแต่ผิด ยังคงเป็นบาดแผลฉกรรจ์ของสื่อใหม่ ในขณะที่สื่อเก่าก็ต้องใช้ความพยายามที่จะพึ่งพาตัวเองมากขึ้น แยกแยะความถูกผิด จากโลกออนไลน์ที่กำลังฉุดดึงตัวเองเข้าสู่หลุมดำแห่งความสับสนให้เร็วที่สุด


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 977 ประจำวันที่  9 - 15 พฤษภาคม 2557) 
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์