วันศุกร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ค้านเหมืองถ่านหิน คนบ้านแหงรวมพล


บ้านแหงเดินขบวนกดดัน และปักหลักปิดถนนสายลำปาง-พะเยาเรียกหน่วยงานรับผิดชอบให้มา เพิกถอนใบอนุญาตป่าไม้ฯ ให้นายทุนทำเหมืองถ่านหิน ด้านนายอำเภองาวรุดเคลียร์จัดทำข้อตกลงร่วมกันส่งถึงผู้ว่าฯให้ทบทวนการออกประทานบัตร และขอคำตอบใน 7 วัน ไม่เช่นนั้นจะกลับมาปิดถนนอีก

เมื่อวันที่ 28 เม.ย.57 เวลา 8:00 น. ชาวบ้านแหง ต.บ้านแหง  อ.งาว  จ.ลำปาง และกลุ่มรักษ์บ้านแหง ประมาณ 300 คน เดินขบวนออกจากหมู่บ้าน มาตามเส้นทาง จากสามแยกซุปเปอร์ไฮเวย์พะเยา-งาว ถึง ที่ว่าการอำเภองาว เรียกร้องให้ยกเลิกใบอนุญาตป่าไม้ เนื่องจากผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางได้ออกใบอนุญาตให้ บริษัท เขียวเหลือง จำกัด ใช้พื้นที่ป่าไม้-ป่าสงวนแห่งชาติแม่งาวฝั่งซ้าย เพื่อทำเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์แอ่งงาว แต่มีประชาชนในพื้นที่ได้แสดงออกถึงการคัดค้านไม่ยินยอมให้นายทุนนำป่าไปทำเหมือง ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างบริษัทฯ หน่วยงานรับผิดชอบ และชาวบ้านแหงมานานถึง 5 ปี และการอนุญาตให้ใช้ป่าสงวนฯ ในครั้งนี้ยังผิดระเบียบกรมป่าไม้ว่าด้วยการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออาศัยอยู่ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2548 เนื่องจาก การที่บริษัทจะยื่นคำขอและได้รับอนุญาตตามคำขอเพื่อใช้ประโยชน์ที่ดินในการทำเหมืองแร่ถ่านหินตามคำขอที่ 4-8/2553 ได้  กฎหมายกำหนดว่า จะต้องเป็นพื้นที่ไม่มีความขัดแย้งกับราษฎร  และต้องได้รับความตกลงยินยอมจากราษฎรในพื้นที่ในการเข้าทำประโยชน์เสียก่อน

เมื่อชาวบ้านแหงเดินทางมาถึงที่ว่าการอำเภองาว ได้มีนายโกศล ชุมพลวงศ์ ปลัดอำเภออาวุโส เป็นผู้แทนเจรจากับชาวบ้าน เนื่องจากนายสมเกียรติ ตันตระกูล นายอำเภอติดภารกิจเข้าไปประชุมจังหวัด  โดยชาวบ้านต้องการให้ให้อำเภอฯ ประสาน ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ทรัพยากรธรรมธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) สำนักงานปฏิรูปที่ดิน (สปก.) ให้มาดำเนินการยกเลิกใบอนุญาตใช้พื้นที่ป่าฯและมาเจรจากับชาวบ้านภายใน 1 ชั่วโมง  เมื่อได้มีการส่งตัวแทนมาเจรจาพูดคุยกัน ปรากฏว่าไม่สามารถตกลงกันได้  และสรุปว่า ทางกรมป่าไม้ได้อนุญาตไปแล้ว ไม่สามารถแก้ไขคืนได้ ทำให้ชาวบ้านที่เข้าร่วมประชุม ได้ลุกออกจากห้องประชุมทันที และพากันเดินทางไปปิดถนนลานลำปาง-พะเยาตามที่บอกไว้ทันที จนกว่าจะได้ข้อตกลง 

โดยชาวบ้านได้ยกเต็นท์ผ้าใบกว่า 7 หลัง และเคลื่อนรถยนต์กว่า 10 คัน มาปิดบนถนนสายลำปาง-พะเยา ส่งผลทำให้รถที่วิ่งมาถึงติดขัดยาวอย่างมาก นอกจากนี้ บริเวณจุดปิดถนน ซึ่งอยู่บริเวณถนนด้านหน้าที่ว่าการอำเภองาว จ.ลำปาง เขตบ้านหนองเหียง ม.2 ต.นาแก อ.งาว จ.ลำปาง ชาวบ้านผู้ชุมนุม ยังมีการนำยางรถยนต์กว่า 10 เส้น มาวางปิดทับเส้นทาง ก่อนที่จะจุดไฟเผา สร้างกลุ่มควันไฟสีดำโพยพุ่งอยู่บนถนนสายดังกล่าว โดยทางกลุ่มชาวบ้านแหงได้ประกาศว่า จะชุมนุมปิดถนนออกไปอย่างไม่มีกำหนด  โดยจะปิดถนนไปจนกว่าทางกรมป่าไม้จะยกเลิกใบอนุญาตให้ใช้พื้นที่ป่า เพื่อเปิดบ่อเหมืองลิกไนต์ในพื้นที่ ต.บ้านแหง อ.งาว จ.ลำปาง พร้อมกับออกแถลงการณ์กลุ่มรักษ์บ้านแหง ต้อง  ยกเลิกใบอนุญาตป่าไม้ เพื่อขอทำเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์แอ่งงาว  ของบริษัท เขียวเหลือง จำกัด  เนื่องจากการทำเหมืองดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายประการ เช่น  รายงานการไต่สวนพื้นที่ประกอบคำขอประทานบัตร  แปลงที่ 4-8/2553  เป็นเท็จ  โดยการไต่สวนฯ พื้นที่ประมาณ 1,500 ไร่  ระบุว่าไม่พบถนนหนทางและทางน้ำสาธารณะ (ห้วย หนอง คลอง ลำธาร ฯลฯ)  ซึ่งสวนทางกับข้อเท็จจริง เพราะมีถนนหนทางและทางน้ำสาธารณะหลายเส้นทางที่ประชาชนใช้สอยประโยชน์ร่วมกันเพื่อการสัญจรไปมาและทำการเกษตร , บริษัทจดทะเบียนเพื่อประกอบกิจการป่าไม้ การทำไม้ ปลูกสวนป่า เพื่อหลอกซื้อที่ดินชาวบ้าน แต่พอซื้อได้แล้ว กลับนำที่ดินมาขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ภายหลัง   , ประชาคมเท็จ หลอกลวง สวมรอย เพื่อช่วยเหลือให้บริษัทดำเนินการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ถ่านหินต่อไปให้ได้ โดยไม่ฟังเสียงประชาชนด้วยการบิดเบือนความเห็นที่ได้จากการประชุม  โดยในการประชุมชี้แจงข้อมูลของบริษัท เมื่อวันที่ 24 ก.ย.53 ที่ศาลาเอนกประสงค์โรงเรียนบ้านแหงเหนือ โดยมีปลัด อบต.บ้านแหง เป็นผู้บันทึกการประชุม  และผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 และหมู่ 7 เป็นผู้รับรองรายงานการประชุม ข้อเท็จจริงที่บันทึกได้ในแผ่นซีดีบันทึกภาพและเสียง พบว่าขัดแย้งกับรายงานการประชุม โดยรายงานการประชุมบันทึกไว้ตอนหนึ่งว่า ใครเห็นด้วยให้บริษัทขอประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่ถ่านหิน ให้ยกมือขึ้นแต่ข้อเท็จจริงที่ได้จากแผ่นซีดีบันทึกภาพและเสียงที่บันทึกไว้ได้ในช่วงเวลาเดียวกันระบุว่า ใครเข้าใจในเรื่องที่อธิบายเกี่ยวกับการชี้แจงการขอประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่ถ่านหิน ให้ยกมือขึ้น , มติของสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแหง เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 53 มิชอบด้วยกฎหมาย  ซึ่งสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแหงมีมติเห็นชอบการขอประทานบัตรและการประกอบกิจการเหมืองแร่ถ่านหินของบริษัท โดยนำรายงานการประชุมชี้แจงข้อมูลของบริษัทเมื่อวันที่ 24 ก.ย.53 ที่บ้านแหงเหนือ มาใช้เป็นหลักฐานพิจารณาลงมติของสภา ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่เป็นไปตามหลักการของการมีส่วนร่วมของประชาชน  และขอประทานบัตรทับที่ดิน ส.ป.ก. ของชาวบ้าน 500 กว่าไร่

กลุ่มชาวบ้านแหงจึงต้องการให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางได้ออกใบอนุญาตให้ใช้พื้นที่ป่าไม้-ป่าสงวนฯ เพื่อทำเหมืองแร่ถ่านหินแก่ บริษัท เขียวเหลือง จำกัด  แล้ว  เพื่อจะเร่งรีบออกประทานบัตรให้แก่บริษัทฯ    โดยราษฎรบ้านแหงเหนือ  หมู่ที่ 1 และ 7 ติดอยู่ในพื้นที่คำขอประทานบัตรประมาณ 100 กว่าไร่  ยังไม่ยินยอมหรือขายให้บริษัทดังกล่าวเอาไปใช้ประโยชน์เพื่อการทำเหมืองแร่ถ่านหิน   และตามระเบียบกรมป่าไม้ว่าด้วยการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออาศัยอยู่ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2548  การที่บริษัทดังกล่าวจะยื่นคำขอและได้รับอนุญาตตามคำขอเพื่อใช้ประโยชน์ที่ดินในการทำเหมืองแร่ถ่านหินตามคำขอที่ 4-8/2553  ได้  จะต้องเป็นพื้นที่ไม่มีความขัดแย้งกับราษฎร  และต้องได้รับความตกลงยินยอมจากราษฎรในพื้นที่ในการเข้าทำประโยชน์เสียก่อน  แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัทดังกล่าวและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้รับและออกใบอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออาศัยอยู่ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยยังมีความขัดแย้งกับราษฎรในพื้นที่คำขอประทานบัตรทั้ง 5 แปลง อยู่ในขณะนี้  นอกจากนั้น คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านโครงการเหมืองแร่ (คชก.) ได้มีมติให้ความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเหมืองแร่ถ่านหินของบริษัท  เขียวเหลือง  จำกัด และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้มีหนังสือแจ้งมติความเห็นชอบไปยังบริษัท เขียวเหลือง จำกัด เมื่อวันที่ 15 พ.ย.56 ที่ผ่านมา  ทั้งๆที่ราษฎรบ้านแหงเหนือที่อาศัยอยู่รอบบริเวณพื้นที่คำขอประทานบัตรทั้ง 5 แปลง ไม่ได้มีส่วนร่วมและรับรู้ข้อมูลข่าวสารในการจัดทำรายงานอีไอเอเลยตั้งแต่ต้น  ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญฯ เป็นอย่างยิ่ง


ต่อมา นายสมเกียรติ ตันตระกูล นายอำเภองาว  ได้เข้าร่วมประชุมพร้อมตัวแทนจากกลุ่มรักษ์บ้านแหง จำนวน 6 คน เพื่อเจรจาหารือจนในที่สุดได้ตกลงร่วมกัน โดยทำร่างหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ให้ทบทวนตรวจสอบขั้นตอนการออกใบประทานบัตร ให้แก่บริษัทเขียวเหลืองใหม่ โดยหลังมีข้อสรุปในระดับหนึ่ง กลุ่มชาวบ้านจึงยอมเปิดถนนให้รถสัญจรผ่านได้ตามปกติ พร้อมกำชับว่าหนังสื่อที่ร่างถึงผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ต้องได้ข้อสรุปที่เป็นรูปธรรม ใน 7 วันทำการ มิฉะนั้นชาวบ้านจะกลับมาปิดถนนอีกครั้งต่อไป จากนั้นกลุ่มชาวบ้านจึงได้แยกย้ายกันกลับหลังจากที่ปักหลักปิดถนนมายาวนานถึง 6 ชั่วโมง


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 976 ประจำวันที่  2 - 8 พฤษภาคม 2557)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์