วันจันทร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ดูแลหัวใจเขา ด้วยใจของเรา ศูนย์โรคหัวใจโรงพยาบาลลำปาง



เป็นเวลากว่า 5 ปีที่โครงการเปิดสวิตช์หัวใจ อันเป็นความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลลำปางกับโรตารีสากลภาค 3360 ได้เปิดรับเงินบริจาคเพื่อจัดสร้างศูนย์ผ่าตัดหัวใจโรงพยาบาลลำปาง เฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา โดยดำเนินการจัดหาอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์สำหรับใช้ผ่าตัดผู้ป่วยโรคหัวใจอย่างเต็มรูปแบบ 34 รายการ เพื่อให้การรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดในจังหวัดลำปางและภาคเหนือตอนบนทั้ง 8 จังหวัดแบบครบวงจร

หลังจากสิ้นสุดโครงการไปเมื่อไม่นานนี้ ปรากฏว่ายอดเงินซึ่งส่วนหนึ่งมาจากงบของรัฐบาลกับอีกส่วนหนึ่งมาจากการบริจาคของพี่น้องประชาชนชาวลำปาง รวมแล้ว 80 กว่าล้านบาท ในจำนวนนี้ทางโรงพยาบาลลำปางนำไปจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ด้านการรักษาโรคหัวใจ ที่เรียกได้ว่าทันสมัยไม่แพ้โรงพยาบาลอื่นใด เงินส่วนที่เหลือนำไปจัดตั้งมูลนิธิโรคหัวใจ เพื่อต่อยอดการดำเนินงานด้านนี้ในอนาคต

ศูนย์โรคหัวใจโรงพยาบาลลำปางตั้งอยู่บนชั้น 3 ของอาคารใหม่ หรือตึกอุบัติเหตุ เริ่มดำเนินการผ่าตัดหัวใจให้ผู้ป่วยรายแรกเมื่อต้นปี พ.ศ. 2553 จวบจนกระทั่งปัจจุบัน ทีมแพทย์ผ่าตัดผู้ป่วยไปแล้วประมาณ 1,500 ราย ศูนย์โรคหัวใจฯ ยังให้บริการตรวจสวนหัวใจและหลอดเลือด การฉีดสีเข้าหลอดเลือดหัวใจ ผ่าตัดลิ้นหัวใจ ผ่าตัดหัวใจเด็กชนิดซับซ้อน ซ่อมลิ้นหัวใจ บายพาสแบบไม่หยุดหัวใจ ซึ่งปกติทำได้ยาก ผ่าตัดแบบแผลเล็ก ไม่เปิดแผลใหญ่ ตลอดจนสามารถผ่าตัดโรคหลอดเลือดแดงใหญ่ได้ โดยมีอัตราการเสียชีวิตเพียง 2-3 % ซึ่งถือว่ามาตรฐาน โดยทางศูนย์โรคหัวใจฯ มีห้องไอซียูที่เพียบพร้อมไปด้วยอุปกรณ์ทันสมัยจำนวน 12 เตียง ห้องผ่าตัดหัวใจ 2 ห้อง และห้องผู้ป่วยสามัญ 30 เตียง ความทันสมัยของอุปกรณ์ทางการแพทย์ทำให้ศูนย์โรคหัวใจฯ ของเราเป็นศูนย์โรคหัวใจระดับ 1 ของโรงพยาบาลที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุข คือ เป็นศูนย์โรคหัวใจที่ผ่าตัดหัวใจแบบเปิดได้และฉีดสีหัวใจได้ และส่งผลดีแก่ผู้ป่วยในแง่ที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ (ปกติค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดไม่ต่ำกว่า 1-2 แสน)

สำหรับการเปิดศูนย์โรคหัวใจฯ อย่างเป็นทางการคาดว่าคงรอความพร้อมของห้องฉีดสีหัวใจให้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ก่อน อย่างไรก็ตามในวันที่ 25 พฤษภาคมนี้นับเป็นวันเกิด หรือวันเริ่มต้นโครงการเปิดสวิตช์หัวใจ และวันที่ 26 พฤษภาคม ทางโรงพยาบาลลำปางจะจัดงาน “จากสวิตช์หัวใจสู่มูลนิธิโรคหัวใจ” ด้วย

อุปกรณ์ทางการแพทย์ของศูนย์โรคหัวใจฯ นั้น อย่างที่กล่าวในตอนต้นว่าไม่เป็นรองใคร แต่เหนือสิ่งอื่นใด เครื่องไม้เครื่องมืออันทันสมัยคงไม่มีความหมายหากไร้ซึ่งทีมแพทย์ที่เชี่ยวชาญและทุ่มเท

ทีมศัลยแพทย์โรคหัวใจของศูนย์โรคหัวใจฯ มีทั้งหมด 4 คน ซึ่งในอนาคตจะต้องผลัดเปลี่ยนกันไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ ได้แก่ นายแพทย์ณัฐพล อารยวุฒิกุล ซึ่งนับเป็นแพทย์รุ่นบุกเบิก แพทย์หญิงบุญทรัพย์ ศักดิ์บุญ นายแพทย์เจริญ ชีวินเมธาสิริ และนายแพทย์อังศุธ์ร ชาติรังสรรค์ ทุกคนล้วนแล้วแต่มีตำแหน่งเป็นนายแพทย์ชำนาญการพิเศษ เป็นการผนึกกำลังกันของแพทย์ด้านหัวใจรุ่นใหม่ไฟแรงที่ทำงานด้วยอุดมการณ์อย่างน่ายกย่อง

นอกจากทีมแพทย์แล้ว ยังต้องมีทีมงานที่เข้มแข็งไม่แพ้กัน เช่น พยาบาล ซึ่งไม่ใช่พยาบาลทั่วไป แต่ต้องเป็นพยาบาลเฉพาะทาง คือชำนาญการด้านนี้ด้วย เพราะต้องดูแลผู้ป่วยทั้งก่อนผ่าตัด หลังผ่าตัด จนกระทั่งผู้ป่วยกลับบ้านก็ต้องให้คำแนะนำอย่างเคร่งครัดและถูกต้อง ซึ่งขณะนี้มีพยาบาลเฉพาะในห้องไอซียูจำนวน 15 คน พยาบาลในห้องผ่าตัดอีก 11 คน นอกจากนี้ ก็ยังมีแพทย์วิสัญญี นักเทคโนโลยีปอดและหัวใจเทียม ตลอดจนบุคลากรด้านอื่น ๆ ที่ประกอบกันเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนศูนย์โรคหัวใจฯ ให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ

นายแพทย์อังศุธ์รกล่าวว่า โดยทั่วไปแพทย์จะผ่าตัดผู้ป่วยวันละ 3 ราย บางรายใช้เวลาถึงกว่า 10 ชั่วโมง และแต่ละครั้งที่ผ่าตัดต้องใช้แพทย์อย่างน้อย 2 คน ผู้ป่วยเด็กที่มีอายุน้อยที่สุด คือทารกที่มีน้ำหนักแรกคลอดเพียง 600 กรัม ส่วนผู้ป่วยที่มีอายุมากที่สุด คือ 93 ปี ซึ่งความเสี่ยงก็ขึ้นอยู่กับอายุด้วยเช่นกัน

ปีหนึ่ง ๆ เฉพาะที่ศูนย์โรคหัวใจฯ ของเรามีผู้ป่วยจากเขตภาคเหนือมาเข้ารับการผ่าตัดหัวใจประมาณ 600 ราย ทั้งจากแพร่ น่าน พะเยา อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร พิจิตร ฯลฯ ขณะที่ในเขตภาคเหนือมีโรงพยาบาลของรัฐที่สามารถผ่าตัดหัวใจได้และสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ ลำปาง เชียงราย และพิษณุโลกเท่านั้น (โรงพยาบาลมหาราชเชียงใหม่สังกัดทบวงมหาวิทยาลัย) และประเทศไทยก็มีแพทย์ผ่าตัดหัวใจเพียงราว ๆ 200 คน ซึ่งในเรื่องนี้ นายแพทย์อังศุธ์รเห็นว่า ยังมีผู้ป่วยเกี่ยวกับโรคหัวใจและหลอดเลือดอีกมากที่ยังไม่ได้รับโอกาสในการรักษา

มีผู้ป่วยอีกมากครับที่ยังรอเราอยู่ นายแพทย์หนุ่มโคลงศีรษะ ทุกคนควรได้รับโอกาสเท่าเทียมกันในการรักษา ความมุ่งมั่นของศูนย์โรคหัวใจฯ สะท้อนออกมาในรูปแบบการจัดทีมแพทย์สัญจรไปตามจังหวัดต่าง ๆ ทั่วภาคเหนือ เพื่อไปตรวจวินิจฉัยเบื้องต้น ให้คำแนะนำในการดูแลตนเอง หรือหากต้องเข้ารับการผ่าตัดก็จะนัดวันเวลาให้ ผู้ป่วยที่อยู่ไกล ๆ จึงไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปกลับโรงพยาบาล จะมาก็ต่อเมื่อวันผ่าตัดหัวใจเพียงครั้งเดียว ซึ่งโครงการนี้นับว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก และทีมงานทุกคนก็เดินทางไปให้บริการกันด้วยใจอย่างแท้จริง


เวลาออกสัญจรไปเห็นคนไข้ที่เราเคยรักษาเขาหายป่วย บางคนถักเสื้อให้ บางคนเก็บผักที่สวนมาให้ก็มี นั่นเป็นน้ำใจที่ผมได้รับแล้วรู้สึกว่ามีค่ามาก แต่สิ่งที่ผมซาบซึ้งใจกว่านั้นก็คือ ผมเห็นคนไข้ของผมหายครับ นายแพทย์อังศุธ์รกล่าวพลางยิ้ม


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 978 ประจำวันที่  16 - 22 พฤษภาคม 2557) 
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์