วันอาทิตย์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ปลูกป่าทำไม ถ้าหัวใจไม่รักต้นไม้


 เป็นเวลากว่า 5 วันแล้ว ที่ละแวกบ้านของเราระเบ็งเซ็งแซ่ไปด้วยเสียงเลื่อยยนต์ ต้นมะม่วงเก่าแก่ต้นหนึ่งใช้เวลาเติบโตมาไม่ต่ำกว่า 20 ปี แต่ถูกตัดลงจนเหลือแต่ตอภายในเวลาครึ่งวัน ร่มเงาที่เคยเผื่อแผ่หายวับไปอย่างไร้ร่องรอย ราวกับว่าเมื่อ 20 ปีที่แล้ว มันไม่ได้สร้างความผูกพันใด ๆ ไว้ให้ผู้เป็นเจ้าของเลย ต้นมะม่วงเก่าแก่ต้นนั้น เป็นที่ทำรังวางไข่ของนกจับแมลงจุกดำ และมันมีค่าไม่ถึง 500 บาท

ก่อนหน้านั้น มีการมากว้านซื้อต้นไผ่ในหมู่บ้านเป็นระยะ ตามมาด้วยต้นมะม่วงและต้นฉำฉา ต้นฉำฉาเก่าแก่ 3 ต้นกำลังถูกระดมตัดโดยเลื่อยยนต์ที่กรีดร้องอย่างบ้าคลั่ง ซึ่งก็ไม่แน่ว่าไปขึ้นทะเบียนถูกกฎหมายหรือเปล่า และสเป็กตรงตามที่ไปขอขึ้นทะเบียนหรือไม่ กระรอกที่เคยวิ่งเล่นไปมาระหว่างต้นฉำฉาทั้งสาม วันนี้แตกตื่นวิ่งกันพล่าน พวกมันไร้ที่อยู่ ลูกน้อยในรังอาจกำลังหายใจรวยริน...นกเค้าแมวที่เคยอาศัยเกาะพักคงแปลกใจว่าต้นไม้ของมันหายไปไหน...แต่ใครล่ะจะสน

เสียงกิ่งก้านค่อย ๆ ฉีกขาดก่อนหลุดร่วงลงดิน คนรักต้นไม้ได้ยินแล้วปวดหัวใจยิ่งนัก ดูเหมือนว่ามนุษย์จะมองต้นไม้เป็นสิ่งกีดขวางอยู่เสมอ แล้วลงโทษมันด้วยการโค่นทิ้งอย่างไม่เหลือเยื่อใย หากใครยังจำได้ บริเวณซุ้มประตูเมืองเก่าเขลางค์นครย่านท่ามะโอก็เคยมีต้นฉำฉาเก่าแก่อยู่ แต่ด้วยเหตุผลกลใดก็แล้วแต่ มันถูกตัดทิ้งชนิดที่ไม่มีการประนีประนอม ยังไม่นับรวมต้นอื่น ๆ อีกหลายชนิดที่วันดีคืนดีก็หายไปอย่างไร้ร่องรอย

พืชสีเขียวชนิดแรก ๆ เป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว อาศัยอยู่ในน้ำทะเลจนราว 400 ล้านปีที่แล้วจึงเกิดปฏิวัติใหญ่ พืชปรับตัวขึ้นมาอยู่บนบก ทว่าการใช้ชีวิตบนบกไม่ใช่เรื่องง่าย พืชต้องพัฒนาโครงสร้างที่แข็งแรงค้ำจุนตัวเอง เพราะอากาศไม่หนาแน่นเช่นน้ำ และมันต้องมีระบบรากเพื่อหาน้ำและแร่ธาตุจากในดิน

ในช่วงแรก พืชบกยังขึ้นใกล้แหล่งน้ำ และยังไม่มีระบบรากใหญ่โตมาก แต่ต่อมาพืชแผ่อาณาจักรเข้าครอบครองแผ่นดินไปเกือบทั่วโลก มันสามารถใช้ชีวิตไกลจากแหล่งน้ำ บางชนิดก็ใช้น้ำเพียงนิดเดียว พวกที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในการนี้ ได้แก่ พืชมีเมล็ดทั้งหลาย ทั้งพวกสนและไม้ดอก ไม่เพียงเพราะว่าพวกมันมีระบบผสมพันธุ์แบบใหม่ที่ไม่ต้องพึ่งน้ำเป็นสื่อ แต่พืชมีเมล็ดมากมายหลายชนิดยังมีระบบรากกว้าง ใหญ่โต และแข็งแรง สามารถชอนไชทะลุดินและหินเพื่อค้นหาน้ำและแร่ธาตุมาเลี้ยงร่างกายที่ใหญ่โตและสร้างกิ่งก้านที่แผ่รับแดดไว้ได้ก่อนใคร ๆ

พืชพวกนี้ไม่ใช่พืชธรรมดา เป็นพืชแบบใหม่ เป็นต้นไม้ ความสูงของต้นไม้ทำให้มันได้เปรียบพืชต้นเตี้ย ๆ ต้นอื่น กดดันให้พืชต้นเตี้ยหลายชนิดต้องปรับตัวหาวิธีใช้แสงใต้ร่มไม้อย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อโลกเกิดมาใหม่ ๆ บรรยากาศของโลกยังไม่มีก๊าซออกซิเจนอยู่เหมือนทุกวันนี้ จนเมื่อพืชสีเขียววิวัฒนาการขึ้นมาและปฏิวัติโลกทั้งใบด้วยการปล่อยของเสียในรูปออกซิเจนจากกระบวนการสังเคราะห์แสง จนทุกวันนี้โลกทั้งใบปรับตัวเข้าที่กับการอยู่ร่วมกับต้นไม้แล้ว และการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ตลอดจนการคงสภาพเดิมของโลกเอาไว้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพึ่งต้นไม้

ผืนโลกมีหน้าดินเต็มไปด้วยแร่ธาตุและสารอินทรีย์จากต้นไม้ ซึ่งจะถูกชะล้างจนเหลือแต่หินข้างใต้เปล่า ๆ เช่นเดิม ถ้าไม่มีต้นไม้ หรือพืชอื่นขึ้นคลุมกันแรงกระแทกจากเม็ดฝนและยึดกอดไว้ด้วยระบบรากพืช หลายชนิดกลับขึ้นได้ดีเฉพาะใต้ร่มไม้แสงรำไร อีกหลายชนิดต้องอาศัยเกาะต้นไม้ใหญ่เป็นที่พักพิง ส่วนสัตว์ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะทำอาหารเองไม่ได้ ต้องกินพืชเพื่อเอาพลังงานจากแสงอาทิตย์ โดยเฉพาะสำหรับมนุษย์เรา ที่จะต้องตายภายในเวลาไม่กี่นาทีด้วยซ้ำ ถ้าขาดก๊าซพิษออกซิเจน ซึ่งในแง่หนึ่งก็คือ ของเสียจากโรงงานปรุงอาหารของพืชนั่นเอง

สำหรับเรา ต้นไม้จึงเป็นเพื่อนที่ประเสริฐสุด

อาจเป็นเพราะต้นไม้คือสิ่งมีชีวิตที่ยืนอยู่เฉย ๆ ไม่มีอาการร้องขอชีวิตให้เราใจอ่อน เราจึงตัดมันได้โดยไม่รู้สึกผิดบาป

นึกถึงตอนเป็นเด็กที่ครูให้เพาะเมล็ดถั่วเขียวในกระป๋องนม เด็ก ๆ เพียรรดน้ำ เฝ้าดูเมล็ดพืชเติบโตอย่างทะนุถนอม จนวันหนึ่งยอดใบเลี้ยงสองใบก็ดีดตัวออกมาให้เด็กน้อยตื่นเต้นยินดี หลายคนจำต้นไม้ต้นแรกของเขาไม่ได้

ทุกวันนี้เราต่างคุ้นชินกับกิจกรรมปลูกป่า ซึ่งเป็นกิจกรรม CSR ยอดฮิตขององค์กรต่าง ๆ การระดมคนเพื่อปลูกป่าอาจหมายถึงการรับรู้ชะตากรรมของป่าไม้ที่กำลังหายไปของบ้านเรา นั่นเพราะเราไม่ได้ส่งเสริมให้ผู้คนพลเมืองรักต้นไม้ รักธรรมชาติตั้งแต่เยาว์วัย เพราะต้นไม้ต้นหนึ่งที่โค่นลงมา ไม่ได้หมายความเฉพาะตัวมันเองเท่านั้นที่จะหายไป แต่ระบบนิเวศอันเกี่ยวเนื่องก็พลอยหายไปด้วย ไม่เช่นนั้น คงไม่มีประโยคที่ว่า เด็ดดอกไม้ สะเทือนถึงดวงดาว แน่ ๆ
                       

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 978 ประจำวันที่  16 - 22 พฤษภาคม 2557) 

            
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์