วันอาทิตย์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

เปิดเทอมใหม่ หัวใจว้าวุ่น

     

เทศกาลรัดเข็มขัด กินใช้ ประหยัด เริ่มขึ้นอีกครั้ง พร้อมๆกับการเปิดเทอมใหม่ ไม่แต่เพียงค่าใช้จ่ายจิปาถะ ค่าเสื้อผ้า หนังสือหนังหาเท่านั้น แต่ค่าเทอม ค่าเรียนพิเศษ ค่าใช้จ่ายที่คาดไม่ถึงอีกมากมาย ก็เป็นภาระหนักพอที่จะทำให้หัวใจว้าวุ่น ด้วยเงินในกระเป๋าไม่พอจ่ายอีกด้วย คล้ายวงจรอุบาทว์ ที่เริ่มจากการเกิดใหม่ของชีวิต การวางแผนการเรียน วางแผนการศึกษา หมุนเป็นวงรอบเปิดเทอม ปิดเทอม สลับกันไปเช่นนี้ไม่มีที่สิ้นสุด                                  
ปิดเทอมใหญ่หัวใจเด็กๆว้าวุ่น เพราะช่วงปิดเทอม 2 เดือน เกือบ 3 เดือน เป็นช่วงระยะเวลามากพอที่จะว้าวุ่น วุ่นวายกับเวลาว่างปิดภาคเรียน  หลายคนอาจจะใช้เวลาว่างไปกับกวดวิชา เรียนพิเศษ พักผ่อนสมอง(จนลืมเนื้อหาที่เพิ่งเรียนจบมา) ใช้เวลากับเพื่อน แฟน กิ๊ก หรือสุดแท้จะเรียกขานกัน บางโรงเรียนหัวใสเปิดเรียนซัมเมอร์ เพื่อให้ผู้ปกครองได้มีสถานที่ฝากลูกหลานระหว่างวันเพราะต้องทำงานไม่มีเวลาดูแลลูกหลานในช่วงปิดเทอม
ในขณะที่เด็กๆว้าวุ่นที่วันหยุดใกล้จะหมดลง ระคนดีใจที่จะได้เจอเพื่อน บ้างก็ดีใจจะได้ชุดนักเรียนใหม่ รองเท้าใหม่ เลื่อนชั้นใหม่ ลุ้นว่าครูที่มาสอนจะเป็นอย่างไหร่ รู้หรือไม่ว่าพ่อแม่ ผู้ปกครองก็เริ่มจะว้าวุ่น เช่นกัน เพราะต้องเตรียมตัวเตรียมเงินให้เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในเทศกาลเปิดเทอม
ไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคกี่สมัย พอถึงช่วงเทศกาลเปิดเทอม จะเป็นช่วงที่แต่ละครอบครัวต้องประหยัด เพราะค่าใช้จ่ายจะหมดไปกับค่าเทอม ค่าชุดนักเรียน-กระเป๋า-รองเท้า ที่อาจจะแทนของเก่าที่ชำรุดไปตามสภาพการใช้งาน อุปกรณ์การเรียน สมุด-หนังสือเรียน สำหรับแต่ละเทอม นั่นคือภาระที่ผู้ปกครองต้องจ่าย
นโยบายเรียนฟรี 15 ปี รัฐบาลเริ่มใช้มาตั้งแต่ปีการศึกษา 2552 คือ ฟรีตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย รวมทั้งประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และการศึกษานอกโรงเรียนและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ให้กับทั้งโรงเรียนรัฐบาล โรงเรียนเอกชน และโรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถ้าเป็นโรงเรียนรัฐบาลค่าเล่าเรียนฟรีหมด ส่วนโรงเรียนเอกชน รัฐจะจ่ายเงินช่วยเหลือมากขึ้นแต่ผู้ปกครองก็ยังรับภาระค่าใช้จ่ายราวๆ 30-50% โดยรัฐจะช่วยเหลือในส่วนค่าเล่าเรียน แบบเรียน เสื้อผ้าชุดนักเรียน 2 ชุดต่อปี ค่าอุปกรณ์การเรียน และค่ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ในแต่ละหมวดก็จะมีเพดานสูงสุดที่รัฐจะอุดหนุนให้ ส่วนต่างที่เหลือผู้ปกครองก็รับหน้าที่ดูแลต่อไป
 จะว่าไปแล้วนโยบายนี้ก็ช่วยแบ่งเบาภาระผู้ปกครองไปได้ไม่น้อยเมื่อเทียบกับสมัย 20 ปีที่แล้ว จำได้ว่าช่วงนั้นบ้านไหนที่มีฐานะแย่ถึงขั้นยากจน ถึงขั้นเอาทองหยอง ของที่พอจะมีค่า หรือแม้กระทั่ง หม้อหุงข้าว เตารีด ครก ไปตึ๊งที่โรงจำนำก็มี หนักกว่านั้นบางบ้านต้องหันหน้าไปกู้หนี้นอกระบบเพื่อให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายช่วงเปิดเทอม ถึงได้พูดกันว่า มีลูก 1 คน จนไป 10 ปี
นโยบายเรียนฟรี เกิดมาเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระได้มากสำหรับโรงเรียนเล็กๆ แต่ในโลกของความเป็นจริงผู้ปกครองทั้งหลายต่างก็มุ่งหวังให้ลูกหลานได้มีโอกาสเข้าเรียนในโรงเรียนชั้นนำกันทั้งนั้น ถึงแม้ว่าจะสอบไม่ติดโรงเรียนประจำจังหวัดแต่มีฐานะดีก็ส่งเสียให้เรียนในโรงเรียนเอกชน สนนราคาค่าเทอมที่ลำปางเบาะๆก็ 2-3 หมื่นบาท/เทอม ไม่รวมค่ากิจกรรม ผ้าป่า ส่วนโรงเรียนทั่วไปที่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐส่วนหนึ่ง ซึ่งโรงเรียนขนาดใหญ่ที่อ้างว่าเพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา จึงต้องเก็บค่าบำรุงการศึกษาเพิ่ม โดยต้นสังกัดก็มีช่องว่างให้ทำเรื่องขออนุมัติเก็บเพิ่มโดยมีเพดานเช่นกัน และเพราะการศึกษาคือการลงทุน จึงเลี่ยงไม่ได้ เพราะค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมมาในคำพูดที่สวยหรู ไม่ว่าจะเป็น
ค่าสอนคอมพิวเตอร์ ที่แม้แต่โปรแกรมมาตรฐานที่ควรจะใช้คล่องอย่างไมโครซอฟท์ออฟฟิศ จนจบปริญญาตรี ก็ยังเห็นหลายคนใช้ไม่คล่อง ทั้งที่จ่ายค่าเรียนมาตั้งแต่ชั้นมัธยม
ค่าจ้างครูต่างประเทศ แต่จนแล้วจนรอด เด็กๆบ้านเราเรียนภาษาอังกฤษมาตั้งแต่ชั้นประถมยันมัธยมปลาย ภาษาอังกฤษแทบไม่กระดิก พิสูจน์ได้จากคะแนนสอบ O-NET ฉะนั้นภาษาจีนไม่ต้องพูดถึง แต่ก็จำเป็นต้องจ่าย เพราะเรากำลังจะเดินหน้าเข้า AEC
ค่าสาธารณูปโภคสำหรับเรียนในห้องปรับอากาศ ช่วงหน้าร้อนเราถึงได้มีวันปิดเทอม เพราะมันร้อนมากถึงมากที่สุด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะติดเครื่องปรับอากาศทุกห้อง ดังนั้นเด็กๆต้องลุ้นว่าชั่วโมงไหนจะได้เรียนในห้องแอร์
ค่าจ้างบุคลากรที่ปฏิบัติงานในสถานศึกษา  ค่าบำรุงสมาคม และอื่นๆอีกจิปาถะ รวมๆแล้ว ผู้ปกครองต้องควักกระเป๋าจ่ายอีกราวๆ 3,000 บาท สำหรับห้องปกติ และ ราว 10,000 บาท สำหรับห้องพิเศษ  
ค่าโสหุ้ยทั้งหลายเหล่านี้ ถ้าแร็ค ลานนา มีลูกก็ย่อมอยากให้ลูกหลานได้รับการศึกษาที่ดีที่สุด แต่ไม่ได้หมายถึงการยินยอมอย่างเต็มใจ ที่จะต้องจ่ายไปกับการเรี่ยไรเงินเพื่อระดมทุนสร้างตึก ค่าใช้จ่ายกิจกรรมที่งอกขึ้นมาในระหว่างเทอม หรือชุดครุยของเด็กเล็กที่จบระดับอนุบาลที่กลายเป็นวัฒนธรรม ธรรมเนียมปฏิบัติไปแล้ว เมื่อสังคมส่วนใหญ่ทำ ลูกเราไม่ทำก็จะกลายเป็นแกะดำอยู่คนเดียวก็ดูไม่ดี และสิ่งที่แปลกที่สุดคือเมื่อจ่ายค่าต่างๆเหล่านี้ไปแล้ว การลงทุนที่คาดหวังว่าจะได้ผลตอบแทนที่ดีในรูปของคุณภาพการศึกษา แต่กลับต้องไปเสียค่าเรียนพิเศษอีกเทอมละเป็นหมื่น
นี่เป็นขบวนรถไฟแห่งรายจ่าย ที่ต้องจ่ายแล้วจ่ายอีกไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าค่านิยมของสังคมไม่เปลี่ยน ผู้ปกครองก็ต้องทนรับชะตากรรม และท่องบ่นคาถาปลอบใจตัวเองไปเรื่อยๆ “เพื่ออนาคตของลูก”
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 979 ประจำวันที่  23 - 29 พฤษภาคม 2557)

Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์