วันอังคารที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

“ แร็ค “ ขอร้อง ของแพง ค่าแรงไม่ถูก




อพื้นที่ มานั่งปรับทุกข์เรื่องชีวิตกันสักวัน แม้จะฟังเป็นเรื่องบ่นๆ ในสิ่งที่ยังแก้ไขอะไรไม่ได้ แต่ก็เชื่อว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนี้ ทั้งข้าวของ อาหารการกิน ราคาแพงจนต้องให้ขานราคาซ้ำ แม้ค่าแรงจะแพง แต่ก็เหมือนงูกินหาง ได้เงินมามากขึ้น จ่ายมากขึ้น ฝืดเคืองมากขึ้น แต่ก็จะกลับไปกดค่าแรงไม่ได้ กำลังซื้อที่ดูเหมือนมีมากขึ้นนี้ วิ่งไล่ไม่ทันภาวะเงินเฟ้อ ที่ทำให้ค่าเงินมันถูกลง ภาวะลำบากลำบนแบบนี้เป็นอาการที่คนตั้งแต่ชั้นกลางลงมาจนถึงคนรากหญ้า ต่างก็มีความรู้สึกร่วมกัน

วันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี ได้ถูกกำหนดให้เป็นวันแรงงานแห่งชาติ เป็นวันหยุดประจำปี เป็นวันหยุดแรงงานของสากลของผู้ให้แรงงานทั่วโลก หรือที่เรียกกันว่า May Day และวันแบบนี้ในทุกปี จะต้องมีการพูดถึงเรื่องค่าจ้างแรงงาน

ก่อนหน้าที่จะได้มีการปรับค่าแรงขึ้นได้มีการทดลองใช้ใน 7 จังหวัดนำร่องในปี 2555 จนในที่สุดนโยบายขึ้นค่าแรงเป็น 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ ได้ถูกบังคับใช้มาตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม 2556 จนถึงวันนี้นโยบายนี้ได้ถูกนำมาใช้อย่างเป็นทางการได้ 1 ปี 4 เดือน เมื่อมองย้อนกลับมามองสู่โลกของความเป็นจริง มีคำถามเกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะผู้ใช้แรงงานได้ประโยชน์จากนโยบายนี้มาน้อยเพียงใด ผู้ใช้แรงงานได้ค่าแรงรายวันมาขึ้นจริงแต่มีเงินเก็บมาขึ้นจริงหรือไม่เพราะค่าครองชีพต่างก็ขึ้นเป็นเงาตามดู เหล่านี้ยังเป็นสิ่งที่พูดถึงกันอยู่มาก

ย้อนกลับมาดูในฝั่งของผู้ประกอบการบ้าง ถามว่าผลกระทบเป็นอย่างไร ชัดๆเลยว่ามีผู้ประกอบการหลายรายพับเสื่อเลิกกิจการไปก็มากโดยเฉพาะ SME ขนาดเล็ก ต่างจากผู้ประกอบการ ธุรกิจรายใหญ่ ที่ยืนอยู่ได้เพราะผลประกอบการที่จะกระทบก็เพียงแค่ขาดทุนกำไร ส่วนผู้ประกอบการขนาดกลางที่ยังขาแข็งยืนกิจการได้ หลายรายก็ขาเริ่มสั่นแล้ว บ้างก็แก้ด้วยการปรับสวัสดิการที่ให้พนักงานลดลง โบนัสหด

และสิ่งที่วาดฝันให้ผู้การประการนั่นคือการรอคอยให้สภาวะเศรษฐกิจได้รับการกระตุ้น เพราะเมื่อไหร่ที่เศรษฐกิจดี เส้นทางการทำมาค้าขายดี ก็ช่วยให้อยู่รอดในภาวะค่าครองชีพสูงได้

เหมือนผีซ้ำ ด้ำพลอย ค่าแรงขึ้น แต่ค่าครองชีพกระฉูด ซ้ำเติมกันด้วยค่าไฟที่มีการปรับขึ้นค่า FT

เมื่อค่าครองชีพสูงขึ้น พ่อแม่ ลุงป้า น้าอา ชนชั้นที่ต้องทำงานต่างก็ต้องทำงานตัวเป็นเกลียวมากขึ้น เพราะการที่ได้รับค่าจ้างมากขึ้น นั่นหมายถึงงานที่ทำคงต้องมากขึ้นด้วยเนื้องาน ความรับผิดชอบ เพราะในบางสถานประกอบการอาจต้องปรับขนาดองค์การลง โดยบางที่เลย์ออฟ จ้างออก หรือใช้วิธีไม่รับคนเพิ่มเมื่อมีมีพนักงานลาออก ซึ่งนั่นก็แล้วแต่กลยุทธ์การเตรียมพร้อมของผู้ประกอบการแต่ละแห่ง

ค่าแก๊ส ค่าผัก หญ้า สารพัด ต่างปรับราคาขึ้นกันแทบทุกร้าน แร็ค ลานนา เจ้าแม่ตลาดนัด ที่นิยมชมชอบการจับจ่ายใช้สอย ทำให้ได้ติดตามการเติบโตของราคา ค่าครองชีพ สินค้าจำเป็นไม่ว่าจะเป็น ผัก ผลไม้ ที่มาด้วยเหตุผลหนาวเกิน ร้อนไป ผัก ผลไม้มีน้อย ราคามาเลยพุ่งกระฉูด ยิ่งจังหวัดเล็กอย่างลำปางจากที่เคยอยู่ด้วยค่าครองชีพที่ไม่มาก ที่เคยซื้อผักชีกำเล็กพอใช้ในครัวเรือนกำละ 2 บาท ตอนนี้ไม่มีแล้ว อาหารจานเดียวตามสั่ง ข้าวราดแกง ตกอยู่ที่ราคาจานละ 35-45 บาท มาพร้อมด้วยราคาน้ำแข็งแก้วละ 1-2 บาท น้ำเปล่าฟรีแทบจะไม่มีบริการแล้วกลายเป็นบังคับกลายๆว่าต้องเปิดน้ำขวดในราคา 10-15 บาท ด้วยเหตุผลค่าน้ำมันขนส่งแพง ค่าไข่แพง น้ำมันพืชแพง ค่าพริกขี้หนูแพง ปุ๋ยแพง ทุกอย่างมีแต่คำว่าแพง...แต่ต้นเหตุที่แท้จริงต้นทุนวัตถุดิบต่อรายการไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นขนาดนี้ แต่เป็นที่ต้นทุนแรงงานที่บานตะไท

ท้ายที่สุด ผลกระทบก็ตกอยู่ที่ผู้บริโภค

จากอาหารมื้อง่ายที่ร้านข้าวต้ม อย่างยำไข่เค็ม ที่มีไข่เค็มอยู่ 1 ฟองกับอีก 1 เสี้ยว มีแตงกวาฝานบางๆนิดหน่อย หอมพริกขี้หนูเล็กน้อย เสริ์ฟในราคา 30 บาท!!!! คำนวณด้วยสายตาคร่าวๆอย่างโหดจานนี้ต้นทุนอยู่ที่ 12 บาท แล้วกำไรที่เหลือแปรสภาพกลายเป็นค่าแรงพนักงานเสริ์ฟ

สงสัยจากนี้ แร็ค ลานนา คงต้องช่วยเหลือตัวเองด้วยการหันมาทำอาหารกินเอง หันมากิน อาหารคลีน ที่ตอนนี้กำลังมาแรง อินแทรนด์มิใช่น้อย เพราะจะรอมาตรการเยียวยา ช่วยเหลือจากภาครัฐคงอยาก เพราะตอนนี้เป็นเหมือนรัฐบาลลูกผีลูกคน มีตำแหน่งแต่ไม่มีอำนาจ

ใครอยากชิมอาหารฝีมือแร็ค ลานนา ลดค่าครองชีพ ติดต่อหลังไมค์ได้ตลอดเวลา ^^

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 977 ประจำวันที่  9 - 15 พฤษภาคม 2557) 
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์