วันอังคารที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

สิ่งบอกเหตุ


 สองปีที่แล้ว เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 นักวิชาการภาคธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทยไว้ว่า ประเทศไทยมีรอยเลื่อนที่ได้รับความน่าสนใจที่สุดก็คือ รอยเลื่อนแม่จัน ซึ่งพาดผ่านจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ เนื่องจากเป็นรอยเลื่อนที่มีพลังมากที่สุด และเกิดแผ่นดินไหวใหญ่จากรอยเลื่อนใกล้เคียงไปแล้ว คือ รอยเลื่อนในมณฑลยูนนานของจีน ที่เกิดแผ่นดินไหวใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2552 และรอยเลื่อนน้ำมาในลาวและเมียนมาร์ ที่เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ไปเมื่อปี พ.ศ. 2554 ทว่ารอยเลื่อนแม่จันยังไม่ขยับ คงกำลังสะสมพลังงานอยู่ ทั้งนี้ เมื่อ 1,000 กว่าปีก่อนรอยเลื่อนแม่จันเคยทำให้เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงจนโยนกนครล่มสลายมาแล้ว

สำหรับจังหวัดลำปางอยู่ในกลุ่มรอยเลื่อนเถินและกลุ่มรอยเลื่อนพะเยา โดยทั้งสองนับเป็นรอยเลื่อนมีพลัง แต่ก็ยังรองจากรอยเลื่อนแม่จัน โดยนับเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดความเสียหายในระดับน้อยถึงปานกลาง หรือเขต 2ก ความรุนแรงจะอยู่ที่ประมาณ 5-7 ริกเตอร์

จากสถิติการเกิดแผ่นดินไหวในอดีตพบว่า ทุก ๆ 1,000 ปี รอยเลื่อนในประเทศไทยจะมีการปลดปล่อยพลังงาน ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7 ริกเตอร์ได้ แต่จะเกิดขึ้นเมื่อไรและเกิดขึ้นที่รอยเลื่อนไหนนั้น ยังไม่สามารถระบุได้ เพราะปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ไม่ว่าชาติใดก็ไม่สามารถทำนายการเกิดแผ่นดินไหวได้ นี่เองนำมาสู่การค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับปรากฏการณ์ล่วงหน้าก่อนเกิดแผ่นดินไหวในประเทศใหญ่ ๆ อย่างอเมริกา รัสเซีย จีน และญี่ปุ่น

จากการศึกษาวิจัยของผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวพบว่า หากสัตว์มีพฤติกรรมผิดปกติ มักจะเกี่ยวข้องกับการเกิดภัยธรรมชาติ

นกมีความรู้สึกไวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะนกพิราบป่า อีกา และนกแก้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวของจีนพบว่า นกพิราบป่าที่อยู่ภายในรัศมี 50 กิโลเมตรของพื้นที่แผ่นดินไหวจะรู้ล่วงหน้าและบินหนีไปภายใน 24 ชั่วโมง

ปี พ.ศ. 2538 ก่อนเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ที่โกเบ ชาวประมงญี่ปุ่นจับปลาได้มากกว่าปกติ และมีปลาจากทะเลลึกว่ายเข้ามาในเขตน้ำตื้นด้วย ข้อมูลนี้ทำให้นึกถึงรุ่นพี่นักดำน้ำคนหนึ่งที่เพิ่งกลับจากการดำน้ำที่ภูเก็ต เขาตั้งข้อสังเกตว่า การดำน้ำที่ทะเลภูเก็ตนั้น การเจอมวลน้ำเย็นถือเป็นเรื่องปกติ และมักจะเจอกันเป็นประจำ แต่ปีนี้ไม่เพียงมวลน้ำเย็นจะหายไป สิ่งที่มาแทนที่คือมวลน้ำอุ่นจนเกือบร้อนที่ทำเอานักดำน้ำถึงกับสะดุ้งและตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น รวมถึงนักดำน้ำเมืองไทยคนอื่น ๆ ก็พากันตื่นเต้นแปลกใจที่ปีนี้พบเห็นสัตว์ทะเลหายากกันบ่อย ไม่ว่าจะเป็นฉลามวาฬ กระเบนราหู ฯลฯ

ด้านงูก็นับเป็นสัตว์อีกชนิดหนึ่งที่รู้ล่วงหน้าว่าจะเกิดแผ่นดินไหว โดยมันจะรู้สึกถึงความผิดปกติจากการสั่นสะเทือนของเปลือกโลกและการเปลี่ยนแปลงของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และจะเลื้อยขึ้นมาบนดิน อาจเป็นเช่นเดียวกับที่คนเชียงรายบางคนตั้งข้อสังเกตในสังคมออนไลน์ว่า เขารู้สึกแปลกใจที่เห็นฝูงแมงมันบินออกมาจากรูใต้ดินในตอนกลางวัน ก่อนที่ช่วงเย็นจะเกิดแผ่นดินไหว ขณะที่คนลำปางบางคนก็รู้สึกได้ว่า ฝูงมดดำพากันเดินเพ่นพ่านอยู่เต็มใต้ถุนบ้านของเขาก่อนเกิดแผ่นดินไหว

คางคกและกบก็บอกเหตุได้เช่นกัน ที่มณฑลเสฉวนของจีนเมื่อครั้งเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงในปี พ.ศ. 2551 เหล่าคางคกพากันอพยพก่อนผู้คนเสียอีก เช่นเดียวกับกบนับพันนับหมื่นตัวที่มีคนเห็นมันพากันอพยพก่อนเกิดแผ่นดินไหวที่เมืองถังซาน

มาดูสัตว์ที่ใกล้ชิดกับมนุษย์อย่างสุนัข มีรายงานว่า สุนัขบางตัวมีอาการตื่นตระหนก วิ่งไปวิ่งมา บางตัวก็เริ่มก้าวร้าวและเห่าหอน สำหรับแมวส่วนใหญ่หาที่หลบ คนญี่ปุ่นมีคำกล่าวว่า ก่อนแผ่นดินไหวแมวจะปีนขึ้นต้นไม้สูง บางตัวงุ่นง่าน วิ่งไปมา และร้องอย่างกระวนกระวาย

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวชาวญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยเชื่อว่า ท้องฟ้าก็บอกเหตุได้ โดยก่อนเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงท้องฟ้าจะมีเมฆรูปร่างประหลาด เกิดประกายแสง หรือรุ้งกินน้ำ แต่ที่พบบ่อยที่สุด คือ เมฆแผ่นดินไหว หรือ Earthquake Clouds หลักการเกิดเมฆแผ่นดินไหวนั้น นักวิชาการอธิบายว่า บริเวณที่มีแนวรอยเลื่อนมีพลัง เมื่อหินถูกแรงเค้นจากภายนอกเข้ากระทำ จะทำให้หินบริเวณนั้นแตกร้าวบางส่วนเป็นรอยเลื่อนชั้นหินและเกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กทันที ก่อนแผ่นดินไหวใหญ่จะตามมา แอ่งน้ำร้อนที่สะสมตัวอยู่ใต้ดิน หรือหิน จะกลายเป็นไอที่มีอุณหภูมิสูงและมีความดันสูง ไหลพุ่งขึ้นมาตามรอยเลื่อนนี้ ระเหยขึ้นสู่ท้องฟ้า ขณะที่บรรยากาศโดยรอบมีอุณหภูมิต่ำ จึงก่อให้เกิดเมฆแผ่นดินไหวปรากฏเหนือและขนานยาวตามแนวรอยเลื่อนนั้น ๆ

สอดคล้องกับที่นักวิชาการอิสระด้านภัยพิบัติคนหนึ่งระบุว่า ก่อนเกิดเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงเมื่อเวลา 18.08 นาฬิกา ก่อนหน้านั้น 4 ชั่วโมง เวลา 14.00 นาฬิกา ท้องฟ้าในจังหวัดเชียงรายมีริ้วคลื่นคล้ายก้างปลา หรือที่เรียกว่าเมฆแผ่นดินไหว และยังมีแสงสีส้ม สีม่วง แซมอยู่ในชั้นบรรยากาศเหนือก้อนเมฆ เป็นจุดบ่งชี้ว่าจะเกิดแผ่นดินไหวในระยะเวลาอันใกล้นี้

อันที่จริง เมฆแผ่นดินไหวมีหลากหลายรูปทรง ได้แก่ เมฆรูปเส้นตรง เมฆรูปคลื่น เมฆรูปขนนก เมฆรูปตะเกียง และเมฆรูปรัศมี

เหตุแผ่นดินไหวรุนแรงครั้งนี้ รวมถึงความผิดแผกแตกต่างอื่น ๆ ของธรรมชาติ ไม่เพียงทำให้มนุษย์ต้องเร่งรีบหาคำตอบว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ แต่ควรตั้งคำถามกับตัวเองด้วยว่า เรากระทำย่ำยีอะไรต่อธรรมชาติไว้บ้าง



(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 976 ประจำวันที่  9 - 15 พฤษภาคม 2557)             
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์