วันอาทิตย์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2557

สื่อสะท้าน คสช.



             สื่อมวลชนทั้งระบบ กลายเป็นนักเรียนที่ต้องไปเรียนรู้การทำงานใหม่ กับทหารผู้เข้ามาสยบความเคลื่อนไหว วุ่นวายของบ้านเมือง โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือตอนบน และภาคอีสาน ถูกจับตามองเป็นพิเศษ ดังนั้นสื่อลำปางทั้งสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุชุมชน จึงต้องไปแสดงตัวและฟังคำ แนวทางในการทำงานที่จะไม่ตอกลิ่มความขัดแย้งของสังคมให้ร้าวลึกลงไปอีก
            ที่กรุงเทพ  ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนทุกแขนง ทุกระดับนับจากผู้อาวุโส มานิจ สุขสมจิตร บรรณาธิการอาวุโสไทยรัฐ พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร มติชน สุทธิชัย หยุ่น และเทพชัย หย่อง บรรณาธิการอำนวยการเครือเนชั่น สุนทร ทาซ้าย บรรณาธิการไทยรัฐ ปราเมศ เหตระกูล ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์เดลินิวส์ทีวี  ฉัตรชัย ตะวันธรงค์ ไทยรัฐทีวี สมชัย สุวรรณบรรณ ผอ.ไทยพีบีเอส และท่านผู้อาวุโสในวงการหลายสิบคน ได้ล้อมวงคุยกันถึงสถานการณ์การทำงานของสื่อภายใต้ คสช.อย่างเข้มข้น เมื่อต้นสัปดาห์นี้ หลังจากที่พวกเราถูกเรียกไปพบเมื่อสุดสัปดาห์ก่อนเช่นเดียวกับสื่อในภูมิภาค
            เพื่อนพ้องที่เข้าไปร่วมประชุม ฟังคำตัวแทนคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) เรื่องการเสนอข่าวของสื่อหนังสือพิมพ์ แล้วมีข้อสังเกตที่น่าสนใจ  คือ ทัศนคติ ความคิด ความอ่านของทหาร ไม่แตกต่างไปจากยุคกบฎนักหนังสือพิมพ์  ที่อ่อนไหวมากต่อการใช้ถ้อยคำและยังคงเชื่อว่าสื่อหนังสือพิมพ์มีอิทธิพลสูงมากถึงขนาดจะปลุกปั่น ยั่วยุให้ผู้คนเข้าใจผิด เกลียดชังการใช้อำนาจของทหารได้ ผมฟังแล้วก็เข้าใจว่า ด้วยการออกแบบมาที่แตกต่างกันของคนสองสายพันธุ์ โลกทัศน์ที่แตกต่างกัน ฝ่ายหนึ่งถูกหล่อหลอมมาด้วยการเชื่อฟัง เคารพระเบียบวินัย ไม่แตกแถว ฝ่ายหนึ่งถูกสอนให้เชื่อในเสรีภาพ  ในการคิด พูด แสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์อย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมา ดังนั้น การพูดกันเพียงคำสองคำ ก็คงสื่อสารกันไม่รู้เรือง
            เขาอธิบายว่า คำว่า “คสช.ล้างบาง..” นั้น เป็นการให้หัวข่าวที่อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด และสร้างความแตกแยกได้ อธิบายในแบบของเรา คำว่า ล้างบาง แปลว่า ฆ่าทิ้งจนหมดบาง  แต่ในการให้หัวข่าว ที่ต้องใช้พยางค์สั้นๆ เพื่ออธิบายปรากฏการกวาดล้าง การกำจัดสิ่งที่ไม่ต้องการออกไป  คำว่า “ล้างบาง” เป็นคำสามัญที่เราใช้กันเป็นปกติ และคนโดยทั่วไปก็ไม่ได้เห็นว่า คำนี้เป็นคำที่สามารถสร้างความแตกแยก หรือสร้างความเกลียดชังกันแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ถ้าจะถกเถียงกันเรื่องนี้ ก็เป็นความรู้สึก ที่เถียงกันไม่จบ
            น่ายินดี ที่แถลงการณ์ และจดหมายเปิดผนึกขององค์กรสื่อ 2 ฉบับ ถูกใช้ไปเป็นกรอบในการพูดคุยวันนั้น และน่ายินดียิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ย้ำเตือนในเวลาต่อมาว่า หากสื่อสร้างความแตกแยก สมาคมสื่อก็ช่วยไม่ได้ นั่นเป็นเรื่องที่ควรย้ำเตือนกันอยู่เสมอ ในแถลงการณ์ทุกฉบับ ให้สื่อได้ตระหนักถึงการทำหน้าที่ตามวิชาชีพอย่างสุจริต และยึดมั่นแนวทางการทำงานตามกรอบจริยธรรมอย่างเคร่งครัด
            ย้อนไปในยุคที่ผมเรียกว่า กบฏหนังสือพิมพ์นั้น  คือยุคความขัดแย้งของผู้ใหญ่สองคน คือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์  จอมพลสฤษดิ์ เนรเทศ พล.ต.อ.เผ่า ไปอยู่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์  จากนั้น ออกประกาศคณะปฎิวัติฉบับที่ 17 เพื่อปิดช่องทางการสื่อสารของฝ่ายตรงข้าม  พล.ต.อ.เผ่า เคยมีหนังสือพิมพ์เป็นกระบอกเสียงของตนเองก่อนปฎิวัติ นั่นก็เป็นเหตุผลหนึ่ง ที่คณะปฎิวัติต้องจัดการควบคุมหนังสือพิมพ์อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยผ่านประกาศคณะปฎิวัติฉบับนี้ ซึ่งใช้บังคับมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ปฎิวัติ จนถึงปี 2518 ก่อนเหตุการณ์ตุลาคม 2519
            ในห้วงเวลานั้น หัวหนังสือพิมพ์มีค่าดั่งทองคำ เพราะออกหัวใหม่ไม่ได้ ขออนุญาตไม่ได้ การซื้อขายหัวหนังสือพิมพ์จึงเป็นปรากฎการณ์ร่วมที่เกิดขึ้นยาวนาน เกือบ 20 ปี และหนังสือพิมพ์ที่ดำเนินการอยู่ก็ไม่รู้อนาคตว่าจะถูกปิดเมื่อใด  
            ประกาศคณะปฎิวัติฉบับที่ 17 กำหนดให้ต้องมีการขออนุญาตก่อน จึงจะเปิดหนังสือพิมพ์ได้ ซึ่งก็ไม่มีการอนุญาต นอกจากนั้น ยังกำหนดลักษณะความผิดไว้ชนิดที่ตีความอย่างไรก็ได้ เช่น ข้อความที่เป็นการกล่าวร้าย เสียดสี หรือเหยียดหยามประเทศชาติ หรือปวงชนชาวไทยเป็นส่วนรวม หรือข้อความใดๆที่สามารถจะทำให้ต่างชาติเสื่อมความเชื่อถือไว้วางใจในประเทศไทย รัฐบาลไทย หรือคนไทยโดยทั่วไป ขอความซึ่งเป็นการแสดงอย่างเคลือบคลุมว่า ได้มีการเสื่อมโทรมเลวทราม หรือผิดพลาด เสียหายในรัฐบาล หรือกระทรวง ทบวง กรม ในรัฐบาลโดยไม่แสดงว่าเป็นเรื่องใด
             อีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ที่ไม่แสดงความจริงชัดเจนว่า เป็นเรื่องอะไร ซึ่งในหลายครั้งสื่อมวลชนก็เสนอความคิดเห็นแบบรวมๆ ที่ไม่ได้เจาะจงหน่วยงานใดหน่วยหนึ่ง เช่น วิพากษ์วิจารณ์ว่ามีการคอรัปชั่นอย่างมากในระบบราชการ
            การฝ่าฝืนประกาศฉบับนี้ ซึ่งขึ้นอยู่กับความรู้สึกและการตีความของเจ้าพนักงานการพิมพ์ มีโทษตั้งแต่การตักเตือน ยึด ทำลายหนังสือพิมพ์ สั่งถอนใบอนุญาตบรรณาธิการ
            นี่เป็นสิ่งที่สื่อกังวล และภาวนาอย่าให้ คสช.ย้อนยุคไกลไปถึงขนาดนั้น


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 980 ประจำวันที่  30 พฤษภาคม - 5 มิถุนายน  2557)


Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์