วันพุธที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2557

วิทยุธุรกิจเจ็บหนัก ลูกค้าหด-รายได้หาย รายย่อยขายเครื่องส่งหนีตาย



วิทยุธุรกิจท้องถิ่นจุกอกหลังไม่มีความชัดเจนว่าจะปลดล๊อคคำสั่งห้ามออกอากาศ ระบุลูกค้า-รายได้หาย ดีเจตกงาน แบกภาระทุนโดยไม่มีรายได้ ขณะที่รายย่อยที่ยังไม่ผ่านใบอนุญาตเริ่มระส่ำประกาศขายเครื่องดึงทุนคืน

จากสถานการณ์ทางการเมืองส่งผลให้ เกิดการควบคุมและจัดระเบียบสื่อวิทยุโทรทัศน์ จากกรณี ประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ฉบับที่ 32/2557 เรื่องการระงับการออกอากาศของสถานีวิทยุชุมชนที่ไม่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย และสถานีวิทยุกระจายเสียงที่ได้รับอนุญาตทดลองประกอบกิจการ ส่งผลให้ผู้ประกอบกิจการวิทยุธุรกิจท้องถิ่น ได้รับผลกระทบจากคำสั่งให้ยุติออกอากาศดังกล่าว มาตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2557

จาก การสำรวจข้อมูลและสอบถามเกี่ยวกับผลกระทบทางธุรกิจกับสถานีวิทยุประเภท ธุรกิจท้องถิ่นหลายแห่งให้ข้อมูลตรงกันว่า สถานีวิทยุธุรกิจท้องถิ่นทุกสถานียินดี เสียสละเวลาออกอากาศเพื่อให้ความร่วมมือกับการดูแลควบคุมสถานการณ์บ้านเมือง และเชื่อว่าเป็นผลดีในการจัดระเบียบวิทยุท้องถิ่นให้มีมาตรฐานและคุณภาพ รวมถึงการแข่งขันที่เป็นธรรม แต่ไม่ชัดเจนการดำเนินงานและระเบียบปฏิบัติของกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสท.) หลายประการทำให้การดำเนินงานไปสู่ความถูกต้องและชัดเจนเป็นไปอย่างล่าช้าทั้งระบบ ส่งผลกระทบต่อความไม่ชัดเจนเรื่องของกำหนดกรอบเวลาระงับ และอนุญาตให้ออกอากาศ ซึ่งมีผลต่อการบริหารจัดงานในแง่ธุรกิจ

ขณะ เดียวกันมีรายงานข่าวว่ามีผู้ประกอบการวิทยุธุรกิจ บางส่วนที่อยู่ระหว่างเตรียมเอกสารยื่นขออนุญาตเบื้องต้น ไม่อยู่ในข่ายจะได้รับอนุญาตในวาระการจัดระเบียบการจัดสรรคลื่นครั้งนี้หลาย สถานี ขณะที่บางสถานีไม่เคยยื่นขออนุญาตแต่ลงทุนติดตั้งสถานีและออกอากาศไปแล้ว ต้องหยุดดำเนินการ บางรายมีการประกาศแจ้งขายเครื่องและเสาส่ง ในวงเงิน 50,000 -150,000 บาท เพราะไม่มีความหวังว่าจะจัดตั้งสถานีได้อีก

วชิระ คุณากิตติคุณ ผู้ประกอบการและผู้บริหารสถานีวิทยุท้องถิ่น 3 คลื่น ได้แก่ ฮิตเอฟเอ็ม,ลูกทุ่งนัมเบอร์วัน และ เลิฟเอฟเอ็ม เปิดเผยว่า หลังจากมีคำสั่งให้วิทยุท้องถิ่นระงับออกอากาศ ผู้ประกอบการวิทยุท้องถิ่นทุกสถานีให้ความร่วมมือ และพยายามสอบถามข้อมูลที่เกี่ยวข้องไปยัง กสทช.เขต3 และกสทช.ส่วนกลาง แต่มีหลายส่วนไม่มีความชัดเจนและมีความซับซ้อนเรื่องของการดำเนินการ เช่น ข้อกำหนดเรื่องเอกสารใบอนุญาตที่ถูกต้อง ทุกสถานีได้ยื่นเอกสารทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงประเภทกิจการบริการทางธุรกิจ ได้ลงทุนเกี่ยวกับเครื่องส่ง เสาสัญญาณ ห้องส่ง สตูดิโอ รวมถึงค่าธรรมเนียมต่างๆที่ถูกต้องตามประกาศ กสทช. แต่บางส่วนต้องยอมรับว่าการทำงานของ กสทช.ล่าช้า ทำให้บางสถานีอยู่ในข่ายรอใบอนุญาต และบางสถานี ได้รับใบอนุญาตทดลองออกอากาศ แต่สุดท้ายก็ยังไม่มีความชัดเจนว่า จะได้ออกอากาศเมื่อไหร่ อย่างไร 



"ผลกระทบจากการระงับการออกอากาศ มี 3 ส่วน ส่วนแรกคือผู้ฟังซึ่งไม่เข้าใจ และสอบถามเข้ามาเยอะมาก ส่วนที่สองคือ ลูกค้าที่ซื้อเวลาโฆษณา ซึ่งทางสถานีจะต้องยืดเวลาและชดเชยความเสียหายเกี่ยวกับการเสียโอกาสของลูกค้า และส่วนที่สามคือ ดีเจ หรือนักจัดรายการวิทยุไม่มีงานทำ ที่บริษัทของผม มีดีเจในสังกัดประมาณ 20 คน ซึ่งทางบริษัทจะต้องแบกรับภาระเงินเดือน ค่าตอบแทน โดยที่ไม่มีรายได้เข้ามา รวมแล้วมากกว่า 1 แสนบาทต่อเดือน แต่ยังโชคดีที่เรามีธุรกิจอื่นๆ ทำให้มีรายได้พยุงไว้บางส่วน" นายวชิระกล่าว 

เสาวลักษณ์ จำปาทอง ผู้ประกอบการและผู้บริหารสถานีวิทยุธุรกิจท้องถิ่น สมูทเรดิโอ เปิดเผยว่า ในส่วนของผลกระทบด้านธุรกิจ หากดูตัวเลขอาจจะไม่สูงมากนักในขณะนี้ เนื่องจากส่วนหนึ่ง ลูกค้าที่ซื้อเวลาโฆษณาและประชาสัมพันธ์ที่สมูท เรดิโอ ส่วนใหญ่เข้าใจสถานการณ์ขณะนี้และยินดีรับเงื่อนไขในการยืดหยุ่น ชดเชยเวลาตามสิทธิ์เงื่อนไขข้อตกลง แต่มีบางรายที่เป็นลูกค้าสัญญาระยะยาว ที่ต้องออกอากาศให้ครบตามสัญญา ที่ไม่สามารถชดเชยเวลาคืนได้ ต้องเสียรายได้และเกิดความเสียหายที่ต้องชดเชยในแง่ธุรกิจ แต่ความเสียหายที่มากกว่าตัวเลข คือการเสียโอกาสทางธุรกิจและการสูญเสีย ความเชื่อถือ และความเชื่อมั่นต่อวงการวิทยุท้องถิ่น  

"ปัญหาเรื่องผลกระทบจะมองแต่ตัวเลขทางธุรกิจไม่ได้ เพราะเมื่อสถานีวิทยุถูกระงับการออกอากาศ นั่นหมายถึง ความเสียหายทุกด้าน ทั้งรายได้ โอกาส และความเชื่อมั่น เราไม่ได้ปฏิเสธการจัดระเบียบสื่อวิทยุครั้งนี้ กลับมองว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ คสช.ยื่นมือเข้ามาคัดกรองและจัดระเบียบสื่อวิทยุท้องถิ่นให้เข้ารูปอย่างเป็นรูปธรรม แต่ปัญหาคือ ความล่าช้าจาก กสชท.ซึ่งเป็นเจ้าภาพงานเดิมยังขาดความชัดเจนในการปฏิรูป หรือจัดระเบียบได้อย่างรวดเร็ว ทำให้กลุ่มที่ทำธุรกิจได้รับผลกระทบเหมารวมไปด้วย แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากความล่าช้าของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบยังไม่มีใครพูดถึง ไม่ใช่ให้ผู้ประกอบกิจการวิทยุรับเพียงฝ่ายเดียว" ผู้บริหารสมูทเรดิโอกล่าว


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 982 ประจำวันที่  13 - 19 มิถุนายน 2557)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์