วันจันทร์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ดับไฟ สร้างฝาย ด้วยพลังเครือข่าย “จิตอาสา” ปกป้องผืนป่า โครงการเฮาฮักม่อนพระยาแช่ ลำปาง


“ภาพในหลวงทรงงานอย่างหนัก เพื่อความอยู่ดีกินดีของคนไทย เพื่ออนุรักษ์ต้นน้ำและป่าไม้ในฐานะที่เราเป็นข้าพระบาทคนหนึ่ง เป็นเฟืองเล็กๆ ในสังคม แต่อยากจะช่วยงานพระองค์ท่าน”
ประมาณปี พ.ศ. 2552 คนกลุ่มหนึ่ง ที่เรียกตัวเองว่า สมาชิกชมรม We love the King We love Thailand นครลำปาง โดยการนำของ เสกสรรค์ แดงใส อดีตอาจารย์สอนคอมพิวเตอร์ จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาลำปาง เดินทางเข้าไปยังวัดม่อนพระยาแช่ ต.พิชัย อ.เมือง จ.ลำปาง เพื่อปลูกหญ้าแฝก ปลูกต้นไม้ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในวาระสำคัญ จากนั้น ก็ได้แวะเวียนเข้ามาเรื่อยๆ
            จนในที่สุด เสกสรรค์ แดงใส ได้ตัดสินใจผันตัวเองออกจากห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆเข้าสู่ห้องเรียนธรรมชาติที่กว้างใหญ่  ทิ้งโอกาสความก้าวหน้าในชีวิตครู และเจ้าของธุรกิจร้านคอมพิวเตอร์ เข้าไปพักอาศัยในกุฏิ วัดม่อนพระยาแช่ เพื่อสานต่อแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เกี่ยวกับดิน น้ำ ป่า ตั้งแต่นั้น เป็นต้นมา
            “แรงบันดาลใจเกิดจากที่ได้เห็นภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงงานอย่างหนัก พระองค์ทรงเหน็ดเหนื่อย เพื่อความอยู่ดีกินดีของพสกนิกรชาวไทย เพื่ออนุรักษ์ต้นน้ำและป่าไม้  ในฐานะที่เราเป็นข้าพระบาทคนหนึ่ง  ถึงจะไม่ใช่คนในพื้นที่ เป็นเฟืองเล็กๆ ในสังคม แต่อยากจะช่วยงานพระองค์ท่าน  จึงออกมาเรียนรู้และลงมือปฏิบัติร่วมกับชุมชนตั้งแต่ปลายปี 2552 เป็นต้นมา”
            ในช่วงนั้น จังหวัดลำปางเริ่มเผชิญกับปัญหาหมอกควันและไฟป่า จนเครื่องบินไม่สามารถลงจอดได้ ต้นไม้และหญ้าแฝกที่ปลูกไว้ถูกไฟเผาไหม้จนหมดสิ้น  จึงเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการเฮาฮักม่อนพระยาแช่ โดยการรวมตัวของคนผู้มีจิตอาสา ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะพลิกฟื้นผืนป่าม่อนพระยาแช่ ซึ่งเปรียบเสมือนปอดของคนลำปาง ให้กลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง ในพื้นที่ทั้งหมด 350 ไร่ เป็นพื้นที่ของวัดม่อนพระยาแช่ และพื้นที่บางส่วนของวนอุทยานม่อนพระยาแช่ ห่างจากตัวเมืองลำปางเพียง  10 กิโลเมตร
            นายเสกสรรค์ เล่าว่า  ที่ผ่านมาได้ออกเชิญชวนประชาชน นักเรียน-นักศึกษา บุคคลทั่วไป บริษัท ห้างร้าน องค์กรต่างๆทั้งในพื้นที่จังหวัดลำปาง และจังหวัดใกล้เคียง เข้ามาร่วมกันปลูกไม้ตะเคียน มะหาด มะค่าโมง รวมถึงไม้กินได้ รณรงค์สร้างฝายชะลอน้ำต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยเน้นการสร้างฝายแบบผสมผสาน ตามห้วยสาขาให้มากที่สุด ตั้งแต่ยอดดอย ถึงตีนดอย  เมื่อฝายชำรุดก็จะเข้าไปซ่อมแซม จนขณะนี้มีฝายชะลอน้ำไม่น้อยกว่า 500 ฝายกระจายอยู่ในพื้นที่โครงการ
            การเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ ไม่ว่าจะปลูกด้วย เมล็ด ปลูกด้วยกล้าไม้ หรือแม้แต่ขึ้นเครื่องโปรยเมล็ดพันธุ์เป็นล้านๆ ตราบใดที่ยังปล่อยให้มีไฟป่าเกิดขึ้นทุกปี  ต้นไม้เล็กๆ ที่กำลังเติบโตก็ตายทั้งหมด จึงเกิดแนวคิดในการจัดตั้ง “ชุดปฏิบัติการพิเศษ ดับไฟป่าม่อนพระยาแช่” ขึ้น โดยเชิญชวนผู้ที่มีจิตอาสาจาก ทุกภาคส่วน มาช่วยเฝ้าระวัง และออกไปดับไฟทันทีที่ได้รับแจ้ง ทั้งเวลากลางวันและกลางคืน พื้นที่ข้างทางและภูเขาที่สูงชัน เสี่ยงอันตราย  ทำกันอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา ทุกคนมาด้วยจิตอาสา เสียสละ เห็นประโยชน์ของป่า และตระหนักถึงผลกระทบของปัญหาหมอกควัน โดยไม่มีงบประมาณสนับสนุนจากหน่วยงานใด
            เสกสรรค์ มองว่า ปัญหาหมอกควันและไฟป่าในพื้นที่จังหวัดลำปาง ยังเป็นปัญหาที่แก้ยาก จากการทำงานในพื้นที่มาเกือบ 5 ปี  พบว่า  มีหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดไฟป่า  กลุ่มแรก คือ กลุ่มชาวบ้านที่มีอาชีพหาของป่า ยังมีค่านิยมเผาป่าเพื่อล่าสัตว์  เผาเพื่อให้ป่าโปร่ง เพื่อให้หญ้างอกสำหรับเลี้ยงสัตว์  ส่วนกลุ่มเกษตรกร เผาไร่ เผาตอซัง ฟางข้าว และเผาสวน แล้วลุกลามเข้าไปในป่า ซึ่งการเผาเป็นค่านิยมที่แก้ได้ยาก  ผู้นำชุมชนเองก็รู้ว่าใครมีอาชีพหาของป่าบ้าง แต่ไม่กล้าดำเนินการกับผู้กระทำผิด ด้วยกลัวอิทธิพลหรือกลัวเกิดปัญหาขัดแย้งในชุมชน
            “ในบางพื้นที่ของจังหวัดลำปาง มีกลุ่มนายทุน จ้างชาวบ้านเผา และแผ้วถางเพื่อยึดครองพื้นที่  บางครั้งพบว่า เป็นฝีมือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง จุดไฟเผาเอง เพื่อเป็นข้ออ้างของบประมาณ หรือ รีบเผาให้หมดๆ ไป  รวมถึงการจุดไฟเผาหญ้าตามเกาะกลางถนน และข้างทางหลวงแล้วลุกลามเข้าไปในป่า ขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ  ปัญหาเหล่านี้เกิดจากคนยังไม่ตระหนักถึงผลกระทบ ยิ่งแก้ ยิ่งใช้เงินมาก สถานการณ์หนักขึ้นทุกปี  พอดับที่หนึ่งก็ไปเผาอีกที่หนึ่ง ไม่รู้จักจบสิ้น”
            เสกสรรค์  เล่าต่อไปว่า  การทำงานของเครือข่ายจิตอาสา ชุดปฏิบัติการดับไฟป่า ม่อนพระยาแช่ หลายครั้งถูกคนที่เสียประโยชน์ ด่าว่าไปก้าวก่ายหน้าที่  ข่มขู่  กลั่นแกล้ง และใส่ร้ายต่างๆ นานา  จนทำให้คนทำงานรู้สึกท้อ แต่ก็ถอยไม่ได้  เพราะคนที่มาทำงานร่วมกัน เป็นคนในพื้นที่ คนในชุมชน ทุกคนมาเพื่ออนาคตที่ดีขึ้นของชุมชนและจังหวัดของตัวเอง
            จากการทำงานอย่างจริงจังของเครือข่ายจิตอาสา ในโครงการเฮาฮักม่อนพระยาแช่ จังหวัดลำปาง เกือบ 5 ปี ทำให้พื้นที่โครงการเฮาฮักม่อนพระยาแช่ กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติ และเป็นสถานที่ทำกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ ที่หน่วยงาน องค์กร สถาบันการศึกษาทุกระดับในจังหวัดลำปาง เข้ามาสร้างฝาย ปลูกต้นไม้ และช่วยกันดับไฟป่าตลอดทั้งปี   
            ฝายชะลอน้ำที่ร่วมกันสร้างและซ่อมแซมต่อเนื่อง สามารถกักเก็บน้ำให้เห็นจริง หลังจากช่วยกันเฝ้าระวังป้องกันไม่ให้มีการเผาป่า ต้นไม้ต้นเล็กๆ มีโอกาสเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ป่าไม้เริ่มฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์  กลายเป็นแหล่งอาหาร มีผักหวานป่า มีเห็ด และอาหารป่าเพิ่มขึ้น อ่างเก็บน้ำห้วยโจ้ ที่ตั้งอยู่ภายในโครงการมีปริมาณน้ำเหลือมากกว่าทุกปีในช่วงหน้าแล้ง
            คนที่ไม่รู้จักมักจะถามเสมอว่า “เสกสรรค์ แดงใส”  เป็นใคร  ทำเพื่ออะไร เป็น “คนบ้า” หรือว่า อยากจะดัง... แต่สำหรับคนที่เคยทำงานเป็นเครือข่ายจิตอาสา ในโครงการเฮาฮักม่อนพระยาแช่ ต่างรู้ดีว่าชายต่างถิ่นผู้นี้มีความเชื่อมั่น ศรัทธา และมีความมุ่งมั่นสูง เพื่อทำในสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทำโดยไม่เคยเหน็ดเหนื่อย...สุดท้าย  ทำเพื่อใคร..เราคนไทยต่างก็รู้ดี

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 979 ประจำวันที่  23 - 5 พฤษภาคม  2557)

Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์