วันอาทิตย์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2557

วิกฤตป่าไม้ลำปาง ปัญหาอยู่ที่คน และผลประโยชน์

เป็น ที่น่าสังเกตว่า ในช่วงที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าควบคุมอำนาจการบริหารประเทศ ข่าวการจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า การบุกรุกพื้นที่ป่าในจังหวัดลำปางถี่จนผิดหูผิดตา โดยเฉพาะในพื้นที่อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท ที่อยู่ระหว่างเตรียมการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ

ไม่ใช่เพราะคนตัดไม้ และคนรุกป่าเพิ่มขึ้น ทุกอย่างดำเนินการไปตามปกติ หากแต่การจับกุมผู้กระทำผิดมีความเข้มงวดเอาจริงเอาจังมากกว่าที่ผ่านมา เนื่องจาก คสช.ให้ความสำคัญต่อปัญหานี้ เรื่องที่เคยอยู่ในมุมมืดมาเป็นเวลานานจึงถูกเปิดเผยต่อสาธารณะชน

หากท่านได้ติดตามชม รายการข่าว 3 มิติ ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 เมื่อคืนวันที่ 10 มิถุนายน 2557 ทหารจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และเจ้าหน้าที่สำนักจัดจัดการป่าไม้ที่ 3 ลำปาง เข้าตรวจยึดบ้านไม้จำนวน 5 หลังที่สร้างอำพรางตบตาเจ้าหน้าที่ รอการจำหน่าย ที่บ้านไผ่งาม หมู่ 1 ต.เมืองมาย อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง รวมทั้งยังพบไม้สักท่อนและไม้กระยาเลยซุกซ่อนอยู่ในบ้านอีกจำนวนหนึ่ง

สิ่งที่น่าตกใจมาก ก็คือ มีโพยรายชื่อ เจ้าหน้าที่ของรัฐ และนักข่าว รับส่วยจากนายทุนค้าไม้รายนี้หลายคน ทำให้สังคมได้รับรู้ว่า ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องในพื้นที่จังหวัดลำปางเป็นเพราะเหตุใด ?  เรื่องนี้จึงไม่ควรหยุดอยู่เพียงแค่นี้เป็นแน่นอน...

จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า..ที่ผ่านมามีการจับกุมหลายครั้งที่ไม่ได้ตัวผู้ต้องหาที่กระทำความผิด ยึดได้เพียงของกลางและมีไม่มาก นำส่งพนักงานสอบสวน เพื่อสืบหาตัวผู้ดำเนินคดีต่อไป สุดท้ายคดีก็เงียบหายไป..

ตัวแทนเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ป่าอำเภอเมืองปานเคยเล่าให้ฟังว่า “ชาวบ้านในพื้นที่อำเภอเมืองปานเคยรวมตัวกันยึดรถที่กำลังขนไม้ออกจากป่า แต่ปรากฏว่า มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงในพื้นที่จากหลายหน่วยเข้ามาขอให้ปล่อย และบอกว่าผู้ใหญ่ขอ หากถ้าไม่ปล่อยชาวบ้านก็เกรงจะไม่ได้รับความปลอดภัยจากกลุ่มผู้มีอิทธิพลเหล่านี้ สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงการแก้ไขปัญหาป่าไม้ในจังหวัดลำปางได้อย่างชัดเจน”

จังหวัดลำปางมีเรื่องร้องเรียนกับการบุกรุกป่าจำนวนมาก เนื่องจากจังหวัดลำปางมีพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 33 ป่า มีอุทยานแห่งชาติ 8 แห่ง มีพื้นที่ป่า 5,976,037.50 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 76.29 ของพื้นที่ทั้งจังหวัด (ข้อมูลกรมป่าไม้เมื่อปี พ.ศ. 2551) 

จากสถิติการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับพระราชบัญญัติป่าไม้ เฉพาะรายสำคัญ ในระหว่างปี พ.ศ. 2554 ถึง พฤษภาคม 2557 จำนวน 1,951 คดี จับผู้ต้องหาได้ 257 คน ตรวจยึดไม้ของกลางได้ 11,506 ท่อน ไม้แปรรูป 23,257 แผ่นเหลี่ยม พื้นที่ป่าถูกบุกรุก 13,406 ไร่ 

พื้นที่ล่อแหลมและน่าเป็นห่วง ได้แก่ อำเภอวังเหนือ แจ้ห่ม เมืองปาน เถิน และงาว หากไม่ดำเนินการอย่างจริงจังพื้นที่ป่าในจังหวัดลำปางก็จะหมดไปในไม่ช้า

จากการวิเคราะห์สาเหตุของการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าของจังหวัดลำปาง พบว่ามีกลุ่มนายทุน หรือ ผู้มีอิทธิพลที่หวังผลประโยชน์จากป่าไม้และที่ดินเข้ามาว่าจ้างชาวบ้านในพื้นที่ไปตัดไม้ในป่า รวมถึงการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้เพื่อครอบครองที่ดินและที่อยู่อาศัยของราษฎร 

ขบวนการค้าไม้ประดู่ ชิงชัน และไม้มะค่าโมง ทางภาคอีสานถูกปราบปรามอย่างหนักจึงเบนเข็มมาทางภาคเหนือโดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดลำปาง เชียงราย พะเยา และแพร่ ลักลอบตัดและแปรรูปส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ขนขึ้นที่ท่าเรือ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ด้วยเพราะความต้องการสูง ราคาไม้จึงสูงตามไปด้วย ราคาไม้ชิงชันอยู่ระหว่าง กิโลกรัมละ 500 บาท ขึ้นไป ทำให้ราษฎรในพื้นที่กล้าเสี่ยงเข้าไปลักลอบตัด ในลักษณะกองทัพมดนำออกมาส่งต่อให้กับนายทุน

นอกจากนี้ยังพบว่าสาเหตุหนึ่ง มาจากนโยบายการประกันราคาพืชผลทางการเกษตร (ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง) เป็นเหตุจูงใจให้ราษฎรบุกรุกป่าเพิ่มขึ้น ซึ่งการกระทำดังกล่าวมีผลกระทบต่อระบบนิเวศ ทำให้เกิดภัยทางธรรมชาติ น้ำป่าไหลหลาก ดินไหลถล่ม ฝนไม่ตกตามฤดูกาล ผู้นี้ได้รับผลกระทบโดยตรงคือราษฎรในพื้นที่

การแก้ไขปัญหา จังหวัดลำปางได้จัดทำโมเดลการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าและถือครองที่ดินของจังหวัดลำปาง โดยบูรณาการทำงานทุกภาคส่วน มีคำสั่งให้สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 (ลำปาง) สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ 13 (สาขาลำปาง) และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลำปาง จัดตั้งจุดตรวจ สายตรวจ จุดสกัด ศูนย์ปฏิบัติการในพื้นที่ล่อแหลมต่อการบุกรุกทำลายป่า โดยสนธิกำลังออกลาดตระเวน และประสานความร่วมมือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ฝ่ายทหาร ฝ่ายตำรวจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนในพื้นที่ ประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่ สืบหาข่าว และเข้าดำเนินการจับกุมผู้กระทำผิด รวมทั้งเฝ้าระวังไม่ให้เกิดไฟป่าในพื้นที่

แนวทางการปฏิบัติ ให้ดำเนินการตามคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ผ่อนผันให้ราษฎรที่อยู่อาศัยทำกินในเขตป่าสงวนแห่งชาติก่อนปี 2541 ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินไปพลางก่อน โดยให้ชะลอการจับกุมไว้จนกว่าจะมีการตรวจพิสูจน์สิทธิ์ตามระเบียบข้อกฎหมาย และห้ามมิให้มีการบุกรุกเพิ่มเติมโดยเด็ดขาด

ฉะนั้น หากมีผู้บุกรุกแผ้วถางป่าโดยเจตนาจัดแจ้ง ภายหลังมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ต้องดำเนินการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้บุกรุกอย่างเฉียบขาด โดยจะไม่มีการพิจารณาให้สิทธิ์ใดๆโดยเด็ดขาด  ทั้งการบุกรุกแผ้วถาง ยึดครองพื้นที่ป่ารายใหญ่เพื่อขายให้นายทุน หรือ ยึดถือครอบครองด้วยตนเอง ที่ไม่ได้รับการผ่อนผันตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 มิถุนายน 2541 และมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 11 พฤษภาคม 2542  หรือ มติคณะรัฐมนตรีอื่นที่เกี่ยวข้อง การลักลอบจุดไฟเผาป่าเพื่อล่าสัตว์ หรือ ประโยชน์ผลิตผลป่าไม้อื่นๆ และบุกรุกยึดถือครองที่ดิน

โดย เฉพาะ การบุกรุกทำลายป่าไม้ที่เป็นขบวนการ โดยมีนายทุนและเจ้าหน้าที่ของรัฐอยู่เบื้องหลัง ให้การสนับสนุนช่วยเหลือ จะต้องดำเนินการปราบปรามจับกุมดำเนินโครงตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด

ในกรณีที่มีการจับกุมผู้กระทำผิดและสืบสวนแล้ว ทราบว่ามีนายทุนหรือผู้มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลัง หรือเข้าข่ายเป็นคดีรายใหญ่ หรือ คดีที่สื่อมวลชนให้ความสนใจ ให้จับกุมพิจารณาดำเนินคดีตามกฎหมายโดยเด็ดขาด และดำเนินการยึดทรัพย์ตามกฎหมายเกี่ยวกับการฟอกเงิน และการใช้มาตรการทางภาษีต่อบุคคลดังกล่าว และให้จัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีอิทธิพล ผู้กระทำความผิด ขบวนการทำลายทรัพยากรธรรมชาติเพื่อ  ตรวจสอบติดตามพฤติกรรมการกระทำผิด อย่างต่อเนื่อง
 
หากวิเคราะห์จากมาตรการและแนวทางการดำเนินการป้องกันและปราบปรามการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าของจังหวัดลำปาง จะเห็นได้ว่ามีความครอบคลุมในทุกด้าน และเป็นมาตรการที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายที่มีมานานแล้ว แต่ในทางปฏิบัติอยู่ที่เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบทุกระดับที่อย่างจริงจังแค่ไหน หากเจ้าหน้าที่รับส่วย ร่วมกระทำผิด หรือแม้แต่เพิกเฉยต่อหน้าที่ เพราะผลประโยชน์เล็กน้อย มาตรการจะสวยหรูแค่ไหนก็ไม่มีประโยชน์

การจะรักษาป่าตามแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพียงปล่อยให้ป่าขึ้นเองตามธรรมชาติ ป้องกันไม่ให้คนไปบุกรุกแผ้วถาง ตัดทำลาย และไม่ให้มีการเผาพื้นที่ป่า ต้นไม้ก็จะเจริญเติบโต กลายเป็นป่าไม่ โดยไม่ต้องไปรณรงค์ปลูกป่าให้สิ้นเปลืองงบประมาณ

ที่สำคัญต้องยอมรับว่า  การปลูกป่าในบางพื้นที่เป็นได้เพียงแค่เป็นกิจกรรม CSR ของหน่วยงานบางองค์กรเท่านั้น เป็นการสร้างภาพความใส่ใจ และความรักษ์ธรรมชาติ หรืออาจมีผลต่อการกระตุ้นจิตสำนึกของคนเพียงไม่กี่คน แต่ไม่สามารถจะแก้ปัญหาป่าไม้ในจังหวัดลำปางได้อย่างแท้จริง..
           
พื้นที่ล่อแหลมและน่าเป็นห่วง ได้แก่ อำเภอวังเหนือ แจ้ห่ม เมืองปาน เถิน และงาว หากไม่ดำเนินการอย่างจริงจังพื้นที่ป่าในจังหวัดลำปางก็จะหมดไปในไม่ช้า

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 982 ประจำวันที่  13 - 19 มิถุนายน 2557)
 
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์