วันอาทิตย์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ส้มไม่หล่นคลื่นหลัก วิทยุชุมชนยังรอ กสทช.





จากรณีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระงับการออกอากาศของสถานีวิทยุชุมชนที่ไม่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นตาม กฎหมาย และสถานีวิทยุกระจายเสียงที่ได้รับอนุญาตทดลองประกอบกิจการ ตามประกาศฉบับที่ 66/2557 ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 ส่งผลให้สถานีวิทยุชุมชนต้องหยุดออกอากาศ โดยสถานีวิทยุที่ได้รับใบอนุญาตทดลองประกอบกิจการประเภทกิจการบริการธุรกิจ ได้รับผลกระทบเกี่ยวกับรายได้ ด้านบริการโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้กับลูกค้าที่ซื้อเวลาประชาสัมพันธ์ทางวิทยุ และรับภาระเรื่องการบริหารจัดการธุรกิจและลูกจ้าง 

ผู้ สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการวิทยุธุรกิจต่างเร่งดำเนินการในการนำเครื่องส่งวิทยุ ปรับแก้ไขและนำเครื่องส่งสัญญาณส่งตรวจสภาพเครื่องตามมาตรฐาน ที่กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำหนด นอกจากนี้ยังมีกระแสข่าวว่ากำหนดให้สถานีวิทยุทุกแห่งที่มีใบอนุญาตทดลอง ประกอบกิจการ ดำเนินการเขียนแบบและให้วิศวกรรับรองแบบก่อสร้างติดตั้งเสาส่งสัญญาณ เพื่อขออนุญาตตั้งเสาส่งสัญญาณกับองค์กรส่วนท้องที่ให้ถูกต้องตามกฎหมายก่อน จึงเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบและอนุญาตให้ออกอากาศซึ่งยังไม่ระบุชัดเจนว่าจะ พิจารณาเมื่อไหร่ อย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ ผู้ประกอบการวิทยุธุรกิจมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและมีให้ความเห็นตรงกันว่า การกำหนดระเบียบหลักการดังกล่าว เป็นการเปิดช่องให้เกิดการทุจริตและหารายได้อันไม่ชอบธรรมในกระบวนการตรวจ สอบที่เกี่ยวข้องก่อนได้รับอนุญาต เช่น การเรียกร้องค่าเซ็นรับรองแบบก่อสร้างของวิศวกร บางรายเรียกค่าดำเนินการ หลักหมื่นสูงสุดถึง 30,000 บาท ค่าเขียนแบบก่อสร้างติดตั้งเสา ราคาเกือบ 20,000บาท หรือมากกว่านั้น นอกจากนี้ยังมีค่าปรับแก้ไขเครื่องส่งสัญญาณให้ได้มาตรฐานที่ กสทช.กำหนด ราคา 20,000-40,000 บาท รวมค่าใช้จ่ายร่วมแสนบาท ขณะที่รายได้จากค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์ขาดไปทันที ทำให้แบกภาระทุนที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หลักแสนบาท 

ขณะที่ผู้ประกอบการธุรกิจโฆษณาและกลุ่มวิทยุชุมชนบางส่วน ยังรอความชัดเจนของการออกอากาศ และบางส่วนเตรียมแผนขอเช่าซื้อเวลาจากสถานีวิทยุคลื่นหลักซึ่งมีอัตราค่าเวลาสูง เพื่อรักษาฐานลูกค้าโฆษณาและหารายได้ระหว่างที่สถานีท้องถิ่นหยุดออกอากาศ 

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ขณะนี้มีกระแสข่าวในวงการวิทยุท้องถิ่นในลำปางว่า ธุรกิจประเภทสินค้าและบริการ รวมถึงองค์กรภาครัฐและเอกชนที่อาศัยช่องทางการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อวิทยุท้องถิ่น ส่วนหนึ่งเริ่มขยับฐานการเช่าซื้อเวลา และสนับสนุนงบประมาณประชาสัมพันธ์ไปยังสถานีวิทยุคลื่นหลัก โดยในจังหวัดลำปาง มี 4 สถานีวิทยุคลื่นหลัก ได้แก่ สถานีวิทยุตำรวจภูธรภาค 5 ลำปาง 91.50 MHz. สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศจังหวัดลำปาง (สวท.ลำปาง) 97.0 MHz. สถานีวิทยุ อสมท. ลำปาง 99.0 MHz. และ สถานีวิทยุกระจายเสียงกองทัพภาคที่ 3 ลำปาง 101.75 MHz. 

มติมนต์ คำมณี ผู้จัดการพื้นที่จังหวัดลำปาง บ. ศิลามาร์เกตติ้ง ซึ่งเป็นบริษัทผู้ร่วมผลิตรายการวิทยุ อสมท. เผยว่า ในส่วนของการตลาดและการจัดผังรายการวิทยุ อสมท. ในส่วนของบริษัทศิลามาร์เกตติ้ง ยังคงยันราคาเดิมเป็นมาตรฐาน และไม่มีการขึ้นราคาค่าเช่าซื้อเวลาโฆษณาประชาสัมพันธ์แต่อย่างใด  โดยเฉลี่ยค่าเวลาอยู่ที่ 50,000 บาท/ชั่วโมง/เดือน และขณะนี้กลุ่มลูกค้าโฆษณายังไม่มีตัวเลขสถิติเพิ่มขึ้นไปมากกว่าภาวะปกติ แต่มีข่าวฝากประชาสัมพันธ์เข้ายังสถานีฯเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะช่องทางการประชาสัมพันธ์ ผ่านสื่อวิทยุ มีน้อยลงข่าวสารจึงถูกส่งมาเพิ่มขึ้น 

พ.อ.จรินทร์รัตน์ นาคสนิท รองประธาน คณะกรรมการดำเนินการกิจการวิทยุกระจายเสียง กองทัพภาคที่ 3 เปิดเผยว่า สถานีวิทยุที่อยู่ในความดูแลของกองทัพภาคที่ 3 ทั้งหมด 8 สถานี ซึ่งหนึ่งในนั้น มี สถานีวิทยุที่ลำปางด้วยนั้น ยังคงดำเนินไปตามระเบียบและข้อกำหนดของวิทยุสาธารณะ โดยเน้นการบริการข่าวสารและความบันเทิงเพื่อสาธารณะ ซึ่งมีสัดส่วนของการให้เวลากับนักจัดรายการวิทยุหรือหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเข้ามาทำรายการวิทยุที่เป็นประโยชน์ และไม่ขัดกับระเบียบ ดังนั้นเมื่อวิทยุชุมชน ถูกระงับการออกอากาศอาจจะมีข่าวสารเข้ามาให้ทางสถานีวิทยุช่วยเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ แต่ไม่ได้เป็นการบริการโฆษณาประชาสัมพันธ์แบบธุรกิจ และขณะนี้ยังไม่มีรายงานว่ามีการขอเช่าซื้อเวลาเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติแต่อย่างใด

ถิร ไชย แจ้งไพร ผอ.สวท.ลำปาง เปิดเผยว่า ทางสถานีวิทยุ สวท.ลำปาง ยังคงเน้นย้ำนโยบายในการปฏิบัติตามคำสั่งและประกาศของ คสช. เกี่ยวกับการออกอากาศวิทยุกระจายเสียงอย่างเข้มงวด และยังไม่มีการปรับผังรายการวิทยุ หรือมีการจัดสรรเวลาเพิ่มเติมในรูปของการโฆษณาประชาสัมพันธ์ แบบธุรกิจ โดยในส่วนของการบริการสังคมและสาธารณะนั้นมีสัดส่วนผังรายการด้านความ บันเทิง ไม่เกิน 20 % ของผังรายการทั้งหมด ซึ่งมีการสนับสนุนงบประมาณเพื่อการประชาสัมพันธ์ในภาคธุรกิจและองค์กรต่างๆในท้องถิ่นเป็นรายได้ใช้ในบริหารจัดการ โดยรายได้ที่เข้ามาทั้งหมดเฉลี่ยประมาณเดือนละ 50,000 บาท รายได้ดังกล่าว แบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนแรก 50 % ใช้เพื่อการบริหารจัดการและเบี้ยเลี้ยงล่วงเวลาเจ้าหน้าที่  ส่วนที่ 2 และ 3 ส่วนละ 25 % ของ รายได้ ส่งกลับไปยังกระทรวงการคลังและสำนักงานเขต กรณีวิทยุชุมชนจะระงับการออกอากาศ เกิดผลดีในทางเทคนิค คือคลื่นความถี่ถูกรบกวนน้อยและมีศักยภาพในการกระจายเสียงระยะไกลเพิ่มขึ้น จากเดิม แต่ในส่วนของงานด้านผังรายการยังไม่พบว่ามีการย้ายฐานการโฆษณาประชาสัมพันธ์ มายังคลื่น สวท.มากกว่าปกติแต่อย่างใด



(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 984 ประจำวันที่ 27 มิถุนายน - 3 กรกฎาคม 2557)


Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์