วันอาทิตย์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2557

พายุข่าวกระหน่ำวิทยุชุมชน




วิทยุชุมชนเป็นสื่อล่าสุด ที่ได้รับการพิจารณาให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง แต่ก็ยังอยู่ในความสับสน ท่ามกลางพายุข่าวลือที่กระหน่ำเข้ามาไม่หยุดหย่อน

ผ่านไป 1 เดือน กับห้วงเวลาที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาจัดระเบียบ กวาดบ้านปัดฝุ่น ประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาวุธสงคราม ยาเสพติด ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองของขั้วที่คิดต่างและเริ่มส่งสัญญาณของความแตกแยก เครื่องค่าครองชีพสูง บ่อนการพนัน ไม่เว้นอิทธิพลมนต์มืดของรถตู้ มอเตอร์ไซด์รับจ้างที่ต้องอาศัยกำลังทหารเข้ามาจัดระเบียบ และอีกสารพัดปัญหาที่รอชายชุดเขียวเข้ามาจัดการ

และนับเป็น 1 เดือน ของชาววิทยุชุมชน ที่ต้องปรับตัวกันขนานใหญ่ เพราะถูกระงับการออกอากาศจากคำสั่ง ฉบับที่ 32/2557 ของ คสช. เมื่อวันที่ 24 พ.ค. และจนเมื่อวันที่ 14 มิ.ย.  คสช.ได้ออกประกาศ ฉบับที่ 66/2557 เรื่อง การออกอากาศของสถานีวิทยุกระจายเสียงที่ได้รับอนุญาตทดลองประกอบกิจการ  ให้วิทยุชุมชนที่ได้รับอนุญาตทดลองประกอบกิจการ ออกอากาศรายการได้ตามผังรายการปกติ ภายใต้หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ของที่กำหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม กฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และกฎหมายว่าด้วยวิทยุคมนาคม แล้วแต่กรณี

วินาทีนั้นดูเหมือนว่า คสช.จะปลดล็อคผู้ประกอบการวิทยุชุมชนประเภทประกอบกิจการธุรกิจแล้วโยนเผือกร้อนให้ กสทช. รับลูกต่อ 

โดยเงื่อนไขหลัก “ที่คาดว่า” เป็นเงื่อนไขสำคัญการขอออกอากาศได้นั้น ลือออกมามากมาย ข่าวจากส่วนกลางพูดอย่าง ข่าวจากพื้นที่พูดอย่าง เช่น ต้องมีใบอนุญาตทดลองประกอบกิจการ ต้องนำเครื่องส่งสัญญาณผ่านการตรวจมาตรฐานเครื่องส่ง ต้องเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาต มี-ใช้ เครื่องส่งและตั้งสถานี เจ้าของสถานีต้องมาดำเนินการด้วยตนเอง (ผู้มีอำนาจของนิติบุคคล) มอบอำนาจไม่ได้ หรือผู้รับมอบอำนาจจากกลุ่มคน (เฉพาะวิทยุประเภทชุมชน) เท่านั้น โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไข 1 นิติบุคคล ต่อ 1 สถานี ต่อ 1 ส่วนวิทยุชุมชนประเภทชุมชน ออกอากาศได้ 1 สถานี 1 จังหวัด  ต้องลงนามบันทึกข้อตกลงออกอากาศร่วมกับ กสทช. และ คสช. ต้องรอประกาศการอนุญาตออกอากาศทางเว็บไซต์ กสทช.ก่อนจึงจะดำเนินการออกอากาศได้  และอีกสารพัด “ที่ต้อง”ทำที่ลือต่อๆกันมา ทำให้เกิดความสับสนมากทีเดียว

รายละเอียดสำหรับการดำเนินการนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพราะนี่เป็นสิ่งที่กสทช.ระบุไว้ตั้งแต่แรกที่ เหล่าสถานีวิทยุชุมชนทั้งหลาย ต้องทำ เพียงแต่กรอบระยะเวลาที่กำหนดให้นั้นไม่ใช่เอา ณ วันนี้เวลานี้ แรกเริ่มเดิมทีห้องปฏิบัติการตรวจมาตรฐานเครื่องส่งยังมีไม่มี เพราะการสร้างห้องแล็ปสำหรับตรวจมาตรฐานเครื่องส่งนั้นต้องลงทุน อุปกรณ์บางตัวราคาหลักล้านบาท ได้ยินมาว่าห้องแล็ปสำหรับตรวจมาตรฐานเครื่องสั่งนั้นต้องลงทุนหลักสิบล้าน และมีไม่ถึง 25 แห่งทั่วประเทศ

ในเชิงธุรกิจเรียกได้ว่าเป็นการลงทุนที่สูงทีเดียว จึงไม่น่าแปลกใจหากจะมีผู้ประกอบการที่หาผลประโยชน์จากการความต้องการตามหลัก Demand Supply เพราะหนึ่งในเงื่อนไขหลักคือ สถานีวิทยุต้องนำเครื่องส่งไปตรวจสอบมาตรฐาน ดังนั้นในช่วงแรกที่ข่าวนี้ออกมาจึงมีสถานีวิทยุจำนวนมากที่แห่นำเครื่องส่งเข้าห้องแล็ปเพื่อจะได้ผลการตรวจสอบที่ระบุว่า ผ่านไปยื่นเพื่อทำเรื่องในขั้นตอนต่อไป แต่กลายเป็นช่องธุรกิจให้ช่างบางคนเรียกค่าตรวจสูงถึง 30,000 บาท ทั้งที่ กสทช.ได้กำหนดให้คิดค่าตรวจในราคาเพียงเครื่องละ 5,000 บาท เท่านั้น บ้างก็บอกว่าจ่าย 30,000 บาท จะทำให้ผ่านได้เลย บ้างก็บอกว่าซื้อขายสติ๊กเกอร์ในราคา 30,000 บ. โดยไม่ต้องนำเครื่องไปซ่อมเพื่อให้ผ่านมาตรฐานที่กำหนด 

ดังนั้นในช่วงเวลาที่ กสทช.ยังไม่ระบุเงื่อนไขและกรอบระยะเวลา จึงกลายเป็นช่องทางหากิน แต่ก็ต้องชมเชยกับการเคลื่อนไหวในช่องทางข่าวสารที่รวดเร็ว  เพราะทันทีที่มีข่าวลือนี้ออกมา กสทช.ได้ประกาศระงับการตรวจเครื่องส่งชั่วคราวเพื่อตรวจสอบข้อมูลตั้งแต่วันที่ 11 มิ.ย. 57 ซึ่งนั่นก็ผ่านมาราว 2 สัปดาห์ได้ และยังไร้วี่แววการเปิดให้บริการห้องแล็ปอีกครั้ง

นอกจากนี้ในขั้นตอนของการทำเรื่องขออนุญาตตั้งเสาส่งสัญญาณก็ส่งสัญญาณของการถูกเรียกค่าจ้างที่ค่อนข้างสูง ในส่วนของการเขียนแบบ และการดั้นด้นหาลายเซ็นวิศวกร ค่าอำนวยความสะดวกที่ได้ยินจากเหล่ามิตรสหายในแวดวงวิทยุทั้งในลำปางและจังหวัดอื่น บอกเป็นเสียงเดียวกันโดยตัวเลขนั้น อยู่ที่ราวๆ 30,000-90,000 บาท 

คุณพระ!!! (อุทานดังๆ) 
ตัวเหล่านี้ช่างสูงสวนกระแสรายรับที่ได้จริงๆ เพราะนับจากที่ถูกระงับการออกอากาศมา 1 เดือน นี่ก็ถึงเวลาที่จะต้องจ่ายค่าเช่าห้องทำสถานี ค่าไฟแนนซ์ ค่าผ่อนของมากมาย ถ้าต้องมาจ่ายค่าอำนวยการอีก คงจะได้กินแกลบ ได้ยินมาว่าหลายคนถึงกับหน้าซีด ถอดใจไปก็มาก 

นาทีนี้เหล่าดีเจทั้งหลายคงได้แต่ร้องเพลงรอ รอวัน กสทช.แจ้งรายละเอียด และระหว่างนี้ต้องใช้วิจารณญาณในการเลือกรับฟังข้อมูล เพราะข่าวลือแบบ...เขา...บอกว่า มันเยอะเหลือเกิน ข่าวล่าสุด วันที่ 25 มิ.ย. กสทช.เคาะเงื่อนไขออกมาแล้วว่า ต้องเป็นสถานีที่ได้รับใบอนุญาตทดลองประกอบกิจการฯ ผ่านการตรวจเครื่องส่ง สายอากาศ ให้เป็นไปตามประกาศ กสทช. จำกัดหนึ่งนิติบุคคล ต่อหนึ่งใบอนุญาต ทั้งนี้ เนื้อหาในการออกอากาศจะต้องสอดคล้องกับประกาศของ คสช. และจะต้องทำ MOU ในการปฏิบัติตามเงื่อนไขทั้งหมดกับทางสำนักงาน กสทช.

หวังว่าจากนี้คงจะมีแต่ข่าวจริง กลบข่าวลือ และกลบพวกที่ฉวยโอกาสหากินบนความทุกข์ของคนอื่นเสียที

            
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 984 ประจำวันที่ 27 มิถุนายน - 3 กรกฎาคม 2557)



Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์