วันจันทร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ยืดเยื้อกว่า 6 ปี ล่าสุด ป.ป.ช.ถอนรากคดีรุกป่าสร้างอ่างเก็บน้ำ ชี้มูลผิดวินัย


ร้ายแรงสมัยผู้ว่าฯดิเรก ก้อนกลีบ พร้อมพวกอีก 14 คน  ขณะที่กลุ่มกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ร่วมตัวกันเดินทางไปยื่นถวายฎีกาที่กรุงเทพฯ ชาวบ้านกว่า 200 คนร่วมให้กำลังใจ เผยเข้าใจว่าได้รับอนุญาตแล้วจึงดำเนินการเพราะเป็นความต้องการของชาวบ้าน  ด้านนักกฎหมายระบุการยื่นถวายฎีกาเป็นการข้ามขั้นตอน ซึ่งตามหลักจะต้องต่อสู้กันในชั้นศาลก่อน 

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 7 ก.ค. 57 บริเวณ ลานด้านหน้าที่ว่าการอำเภอแม่เมาะ จ.ลำปาง กลุ่มชาวบ้าน ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ผู้บริหาร สมาชิกสภาท้องถิ่น ในเขตพื้นที่ อำเภอแม่เมาะ ทั้ง 5 ตำบล กว่า 200 คน พร้อมใจกันมาให้กำลังใจ ผู้นำของตนเองในวันนี้ทั้งหมด 4 ราย ประกอบด้วย นายสว่าง จาคำมา นายก องค์การบริหารส่วนตำบลจางเหนือ นายมนตรี จาคำมา กำนันตำบลนาสัก นายวิช อินจันทร์ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 7 ต.นาสัก  นายคำเภา บุญมา ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 5 ต.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด พร้อมพวกรวม 15 ราย ในคดีละเว้นการจับกุมผู้บุกรุกก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ กิ่วข้าวหลาม อ่างเก็บน้ำปงชัย อ่างเก็บน้ำแม่ทู และอ่างเก็บน้ำแม่หลวง ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง โดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้  ในเรื่องดังกล่าว มี อดีตข้าราชการระดับสูงมีรายชื่อร่วมอยู่ด้วยที่ ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด เช่น นายดิเรก ก้อนกลีบ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง นายเสริมศักดิ์ สีสันต์ นายอำเภอแม่เมาะ และเจ้าหน้าที่ป่าไม้ร่วมด้วยรวมทั้งหมด 15 ราย 

สำหรับการเดินทางมาร่วมตัวในครั้งนี้ ทางกลุ่มแกนนำชาวบ้าน กล่าวว่า มาให้กำลังใจของ ผู้นำทั้ง 4 คน ที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด  ที่ผ่านมาก็พยายามทุกวิถีทางแล้วทั้งการชี้แจงที่มาที่ไปของโครงการฯ การนำงบประมาณมาใช้ในการก่อสร้างอ่างทั้งหมด ซึ่งเป็นงบประมาณจากกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า (ชื่อเดิม) ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่อการพัฒนาและพื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า  โดยได้ทำประชาคมหมู่บ้านแล้วว่าเป็นความต้องการของชาวบ้านอย่างแท้จริง  แต่ไม่ทราบว่าจุดที่สร้างอ่างทั้งหมดเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เพราะพื้นที่ดังกล่าว พบว่าชาวบ้านเข้าไปทำสวนไร่นา ก่อนที่จะมีการสร้างอ่างเก็บน้ำทั้งหมด เพื่อช่วยเหลือการขาดแคลนน้ำในการเพาะปลูก บริโภคในพื้นที่ ซึ่งก็สร้างประโยชน์ โดยรวมและชาวบ้านได้รับผลประโยชน์จริง แต่กลับถูกร้องเรียน ถูก ป.ป.ช.ตรวจสอบ และชี้มูลความผิดออกมา จึงได้มีการชี้แจงมาทุกขั้นตอนจน  กระทั่งล่าสุดได้มีการรวบรวมรายชื่อชาวบ้านที่สนับสนุน การทำหน้าที่ของผู้นำท้องถิ่นเหล่านี้ พร้อมเอกสารต่างๆ โดยมีผู้ใหญ่บ้าน กำนัน  ผู้นำท้องถิ่น ทั้งหมด 36  คน เดินทางไป กทม.เพื่อขอยื่นถวายฎีกา ขอความเป็นธรรมต่อไป 

นายมนตรี จาคำมา กำนัน ต.นาสัก หนึ่งในผู้ที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูล เปิดเผยว่า  กลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้านได้เดินทางไปทั้งหมด 36 คน เพื่อถวายฎีกา โดยมีตัวแทนเข้าไปยื่นหนังสือที่สำนักพระราชวัง 5 คน  ตอนนี้ก็รอหนังสืออย่างเป็นทางการส่งมาให้ หากมาถึงผู้ว่าราชการจังหวัดและมีการเซ็นคำสั่งก็ต้องออกจากตำแหน่งทันที  ตอนนี้เพียงแต่หวังว่าทางสำนักพระราชวังที่ได้ยื่นถวายฎีกาเข้าไป จะมีหนังสือให้ชะลอคำสั่งการปลดพวกตนออกจากตำแหน่ง 

นายมนตรี กล่าวว่า ตอนนี้มีความกังวลมาก ทั้งเรื่องที่จะต้องโดนไล่ออก และมีความผิดทางคดีอาญา อีกทั้งยังต้องโดนคดีแพ่ง ฟ้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับรัฐบาล จะเอาเงินที่ไหนมาชดใช้ให้ เพราะกำนันผู้ใหญ่บ้านไม่ได้มีเงินมากมาย 

ในเขตพื้นที่ ต.นาสัก เป็นการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่หลวง ก่อนที่จะเริ่มการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในครั้งนั้น ได้มีการทำประชาคมไปในหมู่บ้านตำบล และส่งให้ทางสภา อบต.ประชุม เพื่อทำเรื่องเสนอถึงนายอำเภอให้เสนอไปยังป่าไม้ ซึ่งผ่านทางสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดไปถึงอธิบดีกรมป่าไม้ ตอนที่เริ่มสร้างก็เข้าใจว่าได้มีการขออนุญาตเรียบร้อยแล้ว เพราะส่วนใหญ่ทุกครั้งจะขออนุญาตและก่อสร้างคู่ขนานกันไป แต่ได้มีคนไปร้องเรียนที่ ป.ป.ช.ขณะที่กำลังก่อสร้าง จนกระทั่งก่อสร้างเสร็จชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ แต่มีเจ้าหน้าที่ของ ป.ป.ช.เข้ามาสอบปากคำเพียง 2 ครั้ง และยังไม่เคยลงไปดูในพื้นที่จริงเลย  

กำนัน ต.นาสัก กล่าวอีกว่า ปัจจุบันนี้อ่างเก็บน้ำแม่หลวงใช้ประโยชน์ 80 % มีประโยชน์มหาศาลเป็นความต้องการของชาวบ้าน เพราะพื้นที่เราเป็นภูเขาไม่น่าจะทำความเสียหายให้กับรัฐมากมาย เพียงแต่เป็นการกั้นลำห้วยให้ชาวบ้านมีน้ำใช้ อ่างแม่หลวงใช้ใน 4 หมู่บ้าน ใช้ทั้งการเกษตร น้ำกิน น้ำใช้ และยังช่วยลดปัญหาน้ำท่วม เพราะเมื่อก่อนน้ำไหลลงมาแล้วไม่มีที่เก็บกักไว้ เมื่อครั้งนั้นทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน ตอนนี้ชาวบ้านมีน้ำทั้งทำนา และทำการเกษตร ตลอดปี จึงอยากขอให้หารายละเอียด ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมให้ละเอียดกว่านี้ ก่อนที่จะมีการตัดสินใดๆ 

ขณะที่ นายสว่าง จาคำมา นายก อบต.จางเหนือ  กล่าวว่า อ่างเก็บน้ำกิ่วข้าวหลามใช้ประโยชน์ใน 2 ตำบล คือ ต.นาสัก และ ต.จางเหนือ  เมื่อก่อนก่อสร้างได้มีหนังสือคำสั่งมาตนเป็นเพียงผู้บริหารท้องถิ่นจะไม่ปฏิบัติตามก็ไม่ได้ เพราะงบประมาณก็มีมาให้ อบต.ไม่ได้จัดซื้อจัดจ้างเอง  ก่อนทำได้มีการประชาคมชาวบ้านแล้ว ซึ่งชาวบ้านต้องการอ่างเก็บน้ำ ขอกันมาตั้งแต่สมัยนายพินิจ จันทรสุรินทร์ เป็น ส.ส.อยู่ แต่ไม่มีงบประมาณเข้ามาให้ เมื่อมีงบกองทุนรอบโรงไฟฟ้าฯเข้ามา กรรมการกองทุนฯก็ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ประสานงานเอง เมื่อเห็นว่าเป็นประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับทั้งตำบลเราก็ต้องการ ตอนนี้ตนยังคงปฏิบัติหน้าที่นายก อบต.อยู่ ซึ่งคงต้องรอคำสั่ง การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำก็มีคำสั่งมาเราก็ไม่สามารถตอบอะไรได้ อยากให้ไปคุยกันในชั้นศาลจะผิดหรือถูกอย่างไรตนขอให้ข้อมูลในชั้นศาลเท่านั้น

ด้านนายนรศักดิ์ สุขสมบูรณ์  หัวหน้ากลุ่มงานระเบียบ กฎหมาย และเรื่องร้องทุกข์  สำนักงานท้องถิ่นจังหวัดลำปาง กล่าวว่า  หลังจากที่ ป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิดแล้ว ในส่วนของนายก อบต. ทางนายอำเภอท้องที่จะต้องยื่นเสนอเรื่องมายังจังหวัด เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ลงนามในการปลดออกจากตำแหน่ง ส่วนกำนัน ผู้ใหญ่บ้านนั้น ทางท้องถิ่นจังหวัดจะเป็นผู้เสนอเรื่องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดลงนาม ซึ่งตามระเบียบนั้นจะต้องดำเนินการภายใน 30 วันหลังจากที่ ป.ป.ช.ได้ชี้มูล ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ  

สำหรับการยื่นถวายฎีกานั้น เป็นการข้ามขั้นตอนไป ซึ่งจะต้องไปต่อสู้กันในชั้นศาลให้ถึงที่สุดก่อน จึงจะมีการยื่นถวายฎีกา เนื่องจากการยื่นถวายฎีกาจะเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการตัดสินคดี 

ทั้งนี้ การชี้มูลความผิดของ ป.ป.ช.สืบเนื่องจาก นายสมยงค์ หมูแก้วเครือ ได้ร้องเรียนไปยัง ป.ป.ช.ว่าเมื่อเดือนมีนาคม 2551 คณะกรรมการกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าจังหวัดลำปาง ซึ่งมีนายดิเรก ก้อนกลีบ ผู้ว่าราชการจังหวัดในขณะนั้นเป็นประธาน  มีนายธานินทร์ สุภาแสน  ปลัดจังหวัดในขณะนั้นเป็นรองประธาน และนายเสริมศักดิ์ สีสัน นายอำเภอแม่เมาะในขณะนั้นเป็นกรรมการและเหรัญญิก  ได้มีการพิจารณาอนุมัติงบประมาณก่อสร้างอ่างเก็บน้ำกิ่วข้าวหลามมูลค่า 30 ล้านบาท และอ่างเก็บน้ำปงชัย มูลค่า 22.6 ล้านบาทเศษ  ต่อมาเดือนเมษายน 2551 คณะกรรมการกองทุนฯ ได้อนุมัติงบประมาณก่อสร้างอ่างเก็บน้ำอีก 2 แห่งคือ อ่างเก็บน้ำแม่ทู มูลค่า 21 ล้านบาท และอ่างเก็บน้ำแม่หลวงมูลค่า 35 ล้านบาท  รวม 4 โครงการเป็นเงินกว่า 100 ล้านบาท  แต่โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำทั้ง 4 แห่งไม่ได้รับการอนุญาตจากกรมป่าไม้ และก่อสร้างโดยการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน จึงได้ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงและพบว่าการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำกิ่วข้าวหลาม ทางจังหวัดได้ยื่นขออนุญาตไปยังกรมป่าไม้แล้ว แต่ได้ทำการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำก่อนที่จะได้รับการอนุญาต ทำให้พื้นที่ป่าไม้เสียหายเป็นเงิน 3.9 ล้านบาท ในส่วนของอ่างเก็บน้ำปงชัยพบว่าไม่ได้ยื่นขออนุญาต ซึ่งพบความเสียหายของสภาพป่าเป็นเงิน 1.3 ล้านบาทเศษ  ส่วนอ่างเก็บน้ำแม่ทู และอ่างเก็บน้ำแม่หลวง ได้ยื่นคำขอแล้วแต่ยังไม่ได้รับใบอนุญาต     ราคาความเสียหายของสภาพป่าจำนวน 2.3 ล้านบาท และ 3.2 ล้านบาทเศษตามลำดับ  ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้ทำการตรวจยึดอ่างเก็บน้ำทั้ง 4 แห่งและแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้อง 

คณะอนุกรรมการไต่สวนฯ เห็นว่าการดำเนินการก่อสร้างอย่างเก็บน้ำทั้ง 4 แห่งโดยไม่รอใบอนุญาตให้ก่อสร้างจากกรมป่าไม้ โดยได้จัดทำสัญญาก่อสร้างให้ผู้รับจ้างและกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน  จึงเป็นความผิดทางวินัยฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการ โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงแก่ผู้ใดผู้หนึ่งหรือปฏิบัติหรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต  ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการไต่สวนได้ให้บุคคลดังกล่าวชี้แจงข้อกล่าวหาก่อนจะส่งเรื่องไปยัง ป.ป.ช. จนกระทั่ง ป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิดกับคณะกรรมการฯ ทั้ง 15 คน เมื่อเดือน มิ.ย.57 ที่ผ่านมา        
           


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 986 ประจำวันที่ 11 - 17 กรกฎาคม 2557)


Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์