วันจันทร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

วิถีคนเก่ง ลอก-คัด-ตัด-แปะ


เพราะชีวิตวัยเรียนยุคใหม่ วุ่นวายสับสน แข่งกันเรียน แย่งกันเล่น จนต้องคิดอ่านหาวิธีทุ่นแรง ทุ่นสมอง ทุ่นค่าใช้จ่าย ด้วยการคัดลอก ตัด แปะ ความเก่งของคนรุ่นนี้ วัดกันด้วยปริมาณ และความปราดเปรื่องในการหาทางลัด มิใช่คุณภาพ เริ่มเรียน ก.ไก่ กันตั้งแต่ลอกการบ้านชั้นประถม จนถึงจ้างทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท ปริญญาเอก

ปรากฏการณ์ลอกการบ้านไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่ความ (มัก)ง่ายในการลอกการบ้านเริ่มพัฒนาตามโลกเทคโนโลยี ที่สื่อโซเชียลมีเดียนำมาใช้ในการอำนวยความสะดวกในการสะสางงาน (การบ้าน) ที่กองสุมเป็นภูเขาเลากา 

แน่นอนว่าทุกวันนี้แต่ละครอบครัวจะได้ยินลูกๆหลานบ่น โดยเฉพาะเด็กนักเรียน ม.ปลาย เพราะหลายวิชางอกขึ้นมา อีกทั้งความเข้มข้นของเนื้อหาก็สูงขึ้นยากขึ้นตามลำดับ ครูผู้สอนแต่ละรายวิชาก็พร้อมใจกันสั่งการบ้านกันทั้งนั้น บางรายให้เอกสารหนาหลายหน้าสั่งให้ส่งพรุ่งนี้ อีกวิชาก็ให้อ่านเนื้อเรื่อง 30 หน้า แล้วสรุปใจความสำคัญแต่ละย่อหน้าสั่งให้ส่งพรุ่งนี้ บางข้อก็ยกโจทย์ระดับมหาวิทยาลัยมาให้ทำโดยตอนที่สอนกลับสอนการคิดเพียงแค่พื้นฐาน ตัวอย่างการพลิกแพลงโจทย์ไม่เคยสอน คาดหวังว่านักเรียนต้องไปศึกษาเอง ?!?

พอการบ้านแต่ละวิชามะรุมมะตุ้ม เทกระจาดกันมา นักเรียนก็ใช้วิธีตั้งไลน์กลุ่ม เฟสบุ๊คกลุ่ม ตั้งเป็นกลุ่มปิดแล้วแท็คทีมกันทำการบ้าน มีหน่วยวิชาเลข กองกำลังฟิสิกส์ ฝ่ายภาษาศาสตร์ ช่วยกันทำการบ้าน ใครทำเสร็จก่อนก็ถ่ายรูป ส่งให้ดูกันเป็นหน้าๆไป

นักเรียนคนไหนที่ยังพอรู้รับผิดชอบ ก็อาจจะดูเป็นแนวทาง แล้วทำความเข้าใจก่อนลงมือทำ แต่หลายคนก็มัวแต่ลั้นลาเล่นเกม พอถึงเวลาไม่ทันคิดจึงทำได้เพียงแค่ลอกก่อนส่งงาน  ส่วนรายงานไม่ว่าจะเป็นการกลุ่มงานเดี่ยวตอนนี้คุณครูก็แทบจะได้เขียนด้วยลายมือส่ง เหตุเพราะก่อนหน้านี้เจอปัญหานักเรียนเข้าไปสอบถาม คุณครูกูเกิลแล้วใช้คำสั่ง CtrlC + Ctrl V (ก๊อปปี้ข้อความ และวางลงในโปรแกรม word) จากนั้นก็ปริ้น เข้าเล่ม ส่งรายงานให้คุณครูตัวจริง โดยแทบจะไม่ได้อ่านเนื้อหาก่อนส่ง

ที่แย่กว่านั้น หากนำไปปริ้นที่ร้านถ่ายเอกสาร ร้านนั้นก็จะคัดลอกไฟล์ไว้ แล้วนำไปขายต่อให้นักเรียนในปีหน้า เพราะรู้ว่าครูจะต้องสั่งเรื่องเดิม โธ่ถัง...กะละมังตกหม้อ แล้วนักเรียนจะได้องค์ความรู้มาจากไหนกัน

การบ้านจึงกลายเป็นเรื่องของทีมเวิร์ค ที่อาจต้องระดมคนในบ้านมาช่วยกันเพื่อสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว (หรือนี่จะเป็นเหตุผลที่ครูต้องการทางอ้อมกันแน่ !!) แต่หากคนในครอบครัวหมดแรงหรือการบ้านสมัยนี้ล้ำลึกเกินกว่าสมัยพ่อแม่จะเข้าใจได้ ดังนั้น พระเอกขี่ม้าขาวจึงเป็น พวกรับจ้างทำการบ้านที่รับหมดไม่ว่าจะเป็นโครงงานวิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี คณิตศาสตร์ แต่งกลอนภาษาไทย แปลข่าวภาษาอังกฤษ ทำรายงาน เขียนเว็บไซด์ ฯลฯ โดยราคาค่างวดก็ขึ้นอยู่กับเนื้อหา ความยากง่าย และความเร่งรีบในการใช้งาน โดยสนนราคาบวกกับจำนวนความต้องการในยุคสมัยนี้ก็ถือว่าสามารถสร้างรายได้ได้ไม่น้อย อย่างรับทำเว็บไซด์เพื่ออัพขึ้นอินเตอร์เนตอย่างต่ำก็เว็บละ 1,000 บาท เข้าไปแล้ว หากจ้างเขียนรายงานด้วยลายมือสนนราคาก็หน้าละ 20-30 บาท ลองคำนวณดูว่ารายงานเล่มหนึ่งจะสนนราคากี่บาท

ผู้ใหญ่หลายคนจะคิดว่า การบ้านนักเรียนก็ควรจะทยอยทำ ไม่ใช่นำมากองๆไว้ พอถึงวันใกล้จะส่งแล้วค่อยทำ แบบดินพอกหางหมู แต่ผู้ใหญ่ควรจะรู้ความจริงของชีวิตของเด็กสมัยนี้บ้างว่า การบ้านมาแทบจะทุกวิชาที่เรียนในวันนั้น แต่หากมองในแง่ดีนักเรียนก็จะได้ฝึกเรื่องการแบ่งเวลาให้เหมาะสมเพื่อบริหารเวลาที่มีน้อยให้เพียงพอ เพราะนอกจากเรียนแล้วยังต้องเรียนพิเศษเพิ่มเติม(เพราะเกือบทุกคนบอกว่าครูที่โรงเรียนสอนไม่รู้เรื่อง) 

หากพฤติกรรมการลอกการบ้าน ก๊อปปี้รายงาน จ้างทำโครงงานสมัยเรียนมัธยมติดตัวไปจนถึงเรียนระดับมหาวิทยาลัยแล้ว คงไม่แคล้วที่จะจ้างทำวิทยานิพนธ์เป็นแน่ เพราะตลอดชีวิตการเรียนแทบจะจ้างทำงานมาตลอด อีกทั้งการทำวิทยานิพนธ์ทั้งในระดับปริญญาตรี โท เอก ต่างก็มี รายละเอียด ทฤษฎีที่ต้องอ้างอิงมากมาย ดังนั้น หากไม่สะสมกระบวนการคิดวิเคราะห์มาตั้งแต่แรก คงจะเป็นเรื่องยากถ้าต้องทำวิทยานิพนธ์สักเล่มหนึ่ง 

ดังนั้นการรับจ้างทำวิทยานิพนธ์ จึงมีมานานแล้ว แต่สมัยก่อนการตรวจสอบเนื้อหาว่าคัดลอกมาหรือไม่นั้นไม่ใช่เรื่อง่าย เพราะระบบฐานข้อมูลสำหรับสืบค้นยังไม่ทันสมัยเท่าปัจจุบัน สนนราคาวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาตรีที่รับจ้างทำก็อยู่ราวๆ 15,000-20,000 บาท ระดับที่สูงขึ้นก็ค่าตัวก็เพิ่มขึ้นตามกำลังศรัทธา

รูปแบบของการรับจ้างทำวิทยานิพนธ์สมัยก่อนก็จะคัดลอกข้อมูลของคนอื่นแล้วมาใส่ในเล่มรายงาน แต่ด้วยพัฒนาการของเทคโนโลยี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้พัฒนา "โปรแกรมอักขราวิสุทธิ์" มาใช้ในการตรวจสอบการลอกเลียนงานวรรณกรรม ซึ่งในทางวิชาการถือว่าเป็นการกระทำผิดทางจรรยาบรรณเป็นอย่างมาก 

การคิดค้นนี้เป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น หากยังไม่หาทางแก้ปัญหาที่ต้นทาง ลอกการบ้าน  จ้างทำรายงาน ก็ยังวนเวียนอยู่เพื่อให้ได้เกรดที่สวยงามมาประดับบารมียามเรียนแต่ไร้คุณภาพยามต้องทำงานในชีวิตจริง.....

ปัญหาต้นทางที่ว่านั้น ก็คือจิตสำนึก ความละอายต่อชื่อเสียง ความสำเร็จจอมปลอม ที่ไม่ได้มาจากมันสมองของตัวเอง


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 986 ประจำวันที่ 11 - 17 กรกฎาคม 2557)


Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์