วันอาทิตย์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

งบซื้อ “สื่อ” จากภูธรถึงนครบาล



เราพูดถึงอหังการ์ของนักข่าว มีเกียรติยศ มีศักดิ์ศรี เรากล่อมให้ตัวเองเคลิ้มฝันไปกับคำว่า “ฐานันดรที่ 4” ที่ดูเหนือมนุษย์ แต่ในโลกความเป็นจริงนั้น ราชสีห์อาจเป็นเพียงหมาขี้เรื้อน ที่ยังชีพอยู่ได้ด้วยสารพัดวิธีทั้งทางตรงและทางอ้อมเพื่อความอยู่รอด หากกล่าวเฉพาะเจาะจงสื่อต่างจังหวัด ตั้งแต่เหนือจรดใต้ ลำปางยันสุไหงโกลก มีน้อยอย่างยิ่งที่จะไม่ได้เอนหลังอิงกับนักการเมืองท้องถิ่น นักธุรกิจ ผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ เพราะนี่คือระบบอุปถัมภ์ที่ฝังรากลึกในสังคมสื่อภูธรมายาวนาน

นักข่าวต่างจังหวัดบางคน พูดถึงการรับซองที่แหล่งข่าวจ่ายเป็นค่าพาหนะอย่างหน้าตาเฉย ทั้งที่เป็นการเดินทางไปทำข่าวตามหน้าที่ปกติ นักข่าวหลายคนใช้ความเป็นสื่อเป็นสะพานทอดไปสู่การประมูลงานก่อสร้าง การจัดงานอีเวนท์ของหน่วยงานราชการ อีกหลายคนเปิดพื้นที่ให้กับนักการเมือง หรือผู้ซื้อพื้นที่โฆษณา โดยไม่สนใจภารกิจหลักในการเสนอข่าวเพื่อประโยชน์สาธารณะ นักข่าวบางคน หนังสือพิมพ์หลายฉบับ ตีพิมพ์วางแผงเฉพาะช่วงเทศกาล งานสำคัญ แลกกับค่าลงแสดงความยินดีในวาระและโอกาสต่างๆ

หนังสือพิมพ์เล็ก พื้นที่เล็ก รายได้ก็เล็ก คล้ายหยดน้ำทีละหยด ขยายไปถึงพื้นที่สื่อใจกลางมหานคร การหารายได้ยิ่งแยบยลมากขึ้น ตามมูลค่าของเงินที่ได้มา และก็มาถึงกรณีอื้อฉาว สื่อ ถูกซื้อจากบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเกษตร อุตสาหกรรม CPF

ตลอดระยะเวลาเกือบ 40 ปี ของ “ม้าสีหมอก” ในวิชาชีพสื่อมวลชน เรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจและผลประโยชน์ระหว่างสื่อ กับประชาสัมพันธ์เป็นเรื่องที่ผมได้ยิน ได้ฟัง ได้เห็นเป็นปกติ คล้ายน้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า พีอาร์มีงบ   นักข่าวระดับหัวหน้า หรือบรรณาธิการ มีอำนาจ ถ้าจะเอื้อเฟื้อเงินทอง สิ่งของให้กันบ้าง แลกเปลี่ยนกับการเปิดพื้นที่ให้กับข่าวสาร ข้อมูลของบริษัทนั้น  หรือหากมีข่าวที่ส่งผลกระทบต่อภาพพจน์ของบริษัท ก็ช่วยปรับ ช่วยแก้ ช่วยทิ้งไปไม่ให้เป็นข่าว ก็เป็นวิถีปกติที่มีปฏิบัติกันอยู่  อาจเป็นลักษณะของการกินคนเดียว หรือแบ่งปันกัน โดยที่ต้นสังกัดอาจรู้ หรือไม่รู้ก็ได้

ไม่ต้องถามว่าผิดจรรยาบรรณหรือไม่  หรือต้นสังกัดจะจัดการอย่างไร เพราะปรากฎการณ์เหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นเพียง คำเล่าลือ ไม่มีหลักฐานเอกสาร หรือใบเสร็จมายืนยัน  ถึงแม้ได้เห็นต่อหน้าต่อตา แต่ก็เลี่ยงบาลีกันไปได้ เช่น การจ่ายเงินเดือนโดยระบุชื่อบุคคลธรรมดา ในลักษณะที่เรียกว่า ผูกปิ่นโตแต่อธิบายว่าเป็นการจ่ายค่าโฆษณา ทั้งที่โดยปกติสัญญาจ้างโฆษณาจะต้องกระทำระหว่างนิติบุคคล กับนิติบุคคล และจ่ายให้นิติบุคคล หรือตัวแทนที่มีใบรับมอบอำนาจเท่านั้น

ถ้าจะย้อนยุคไปก่อนหน้าที่ผมจะเข้ามาสู่วงการนี้ และก่อนที่บทบาทของทุนธุรกิจ จะเข้ามามีอิทธิพลเหนือการทำงานของสื่อ  นายสิบผู้เขียน อดีตแห่งปัจจุบัน ได้ฉายภาพความฉ้อฉลของสื่อหนังสือพิมพ์ในความสัมพันธ์ที่ไม่ปกติระหว่างนักข่าว นักการเมือง และตำรวจ  ที่ยังเป็นภาพสะท้อนมาจนถึงวันนี้ อย่างน่าสนใจว่า

“..นับตั้งแต่สงครามโลกสงบลง  หนังสือพิมพ์เกิดขึ้นง่าย คนข่าวหรือนักหนังสือพิมพ์ก็มาจากสารทิศอาชีพเดิม สมัยนั้นความตื่นตัวทางการเมืองสูงในระดับหนึ่ง หมายถึงบุคคลที่เข้าไปเล่นการเมือง หรือนักการเมืองอยากดัง ก็คบพวกนักข่าวหรือนักหนังสือพิมพ์เข้าไว้ เลี้ยงเหล้า เลี้ยงข้าวกันไม่อั้น แถมยังมีเงินค่ารถ หรือบุหรี่ฝรั่งติดไม้ติดมือกลับบ้าน นักข่าวการเมืองจึงมีช่องทางหากินดีกว่าพวกทำข่าวอื่น เมื่อวันเวลาผ่านไป ช่องทางหากินก็เกิดขึ้น ได้กับนักข่าวอาชญากรรมที่พึ่งพิงของตำรวจ ต่างตอบสนองซึ่งกันและกัน ในยุคสมัยหนึ่งการจับกุมทางอาชญากรรม ตั้งแต่เรื่องกระจอกจนถึงเรื่องใหญ่ จะมีรายชื่อตำรวจเข้าไปจับกุมตั้งแต่พลตำรวจถึงนายพลยาวเหยียด บางทียาวเสียกว่าเนื้อข่าวก็มี นักข่าวบันเทิงก็มีทางหากินของเขา

เมื่อกิจการสื่อ ได้เคลื่อนย้ายเข้าสู่ความเป็นอุตสาหกรรม นายทุนสื่อส่วนหนึ่งมาจากพ่อค้า นักธุรกิจ  การขยายกิจการจากสื่อหนึ่งไปยังอีกสื่อหนึ่ง ในลักษณะ ข้ามสื่อ ต้องใช้เงินทุนมหาศาล ลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างสื่อกับนักการเมือง สื่อกับตำรวจ กลายเป็นเรื่องเล็กน้อย เมื่อเปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างนักข่าวสายเศรษฐกิจ กับแหล่งข่าวบริษัทขนาดใหญ่ ที่มีกลยุทธ์การประชาสัมพันธ์เชิงรุก ให้ได้ทั้งข่าว ทั้งโฆษณา รวมทั้งเงินที่เรียกว่า งบพิเศษเพื่อสนับสนุนสื่อมวลชนเฉพาะราย 

ครั้งนี้ คำเล่าลือ ได้ถูกแปรรูปเป็นหลักฐานเอกสารที่ศูนย์ข้อมูล &  ข่าวสืบสวนสิทธิพลเมือง (TCIJ) อ้างว่า เป็นของฝ่ายประชาสัมพันธ์บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทำธุรกิจด้านผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารครบวงจร ต่อมา CPF บริษัทในเครือ CP  ได้มีแถลงการณ์ยอมรับว่า บริษัทที่อ้างถึงคือ CPF 

ในเอกสารชุดนี้มีเนื้อหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อถือของสื่อทั้งระบบ โดยเอกสารบางตอนระบุว่า มีการจ่ายเงินเป็นรายเดือนให้กับสื่อมวลชนอาวุโสเฉพาะรายรวม 19 ราย เป็น งบพิเศษเพื่อสนับสนุนสื่อมวลชน
 
ผมไม่ใช่ศาล ไม่ใช่สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ไม่มีหน้าที่ไปตัดสินความถูกผิดของใคร เพียงแต่ตั้งข้อสังเกตในฐานะสื่อเล็กๆคนหนึ่ง 

หวังว่า คณะกรรมการอิสระที่กำลังทำหน้าที่นี้อยู่ จะทำความจริงให้ปรากฏในเร็ววัน


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 987 ประจำวันที่ 18 - 24 กรกฎาคม 2557)



Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์