วันจันทร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ภาคเอกชนรวมตัวหาแนวทางคืนคุ้มหลวงลำปาง ใช้แผนที่พร้อมภาพถ่ายทางอากาศเดินหน้า


ค้นหาที่ตั้ง ขอความร่วมมือเทศบาลนครให้ทำหนังสือถึงกรมศิลปากร ขอให้เข้าขุดค้นหาแนวฐานรากของคุ้มหลวง  หลังจากผู้รับเหมาขุดพบฐานอิฐเก่าในพื้นที่ใกล้เคียง คาดเป็นการเชื่อมโยงถึงกัน 

เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 57 ที่ผ่านมา  กลุ่มภาคเอกชน จ.ลำปางรวม 7 องค์กร เช่น สภาวัฒนธรรมจังหวัด สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว  สภาอุตสาหกรรมจังหวัด สภาเกษตรฯ  หอการค้า  สภาเทศบาลนครลำปาง ฯลฯ พร้อมกลุ่มคุ้มหลวงลำปาง นำโดย  นายจำรัค จีรปัญญาทิพ ได้ร่วมกันประชุมหารือการเดินหน้าในการสืบค้นหาที่ตั้งของคุ้มหลวง จ.ลำปาง  พร้อมกับลงพื้นที่สำรวจบริเวณศาลากลางหลังเก่าของลำปาง โดยใช้แผนที่ดั้งเดิมเทียบเคียงกับภาพถ่ายทางอากาศ เพื่อค้นหาที่ตั้งของ คุ้มหลวง ที่ว่าราชการของเจ้านครลำปางในสมัยก่อน ในบริเวณที่เทศบาลนครลำปาง กำลังให้ผู้รับเหมาปรับภูมิทัศน์ทั้งหมด หลังจากเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คนงานได้ทำการขุดดินเพื่อทำการก่อสร้างมณฑปหลวงพ่อเกษมเขมโก อดีตเกจิชื่อดังของชาวลำปาง แต่ปรากฏว่าพบอิฐโบราณ ซึ่งมีลักษณะคล้ายฐานรากโบราณสถานเก่าแก่ เทศบาลนครลำปางจึงได้แจ้งไปยังกรมศิลปากรให้เข้ามาทำการตรวจสอบ โดยทางกรมศิลป์ได้มีหนังสือแจ้งให้เทศบาลระงับการขุดพื้นที่บริเวณดังกล่าว

กลุ่มภาคเอกชน จึงได้รวมตัวกันจัดประชุมกลุ่มย่อย เพื่อสืบค้นหาที่ตั้ง คุ้มหลวงหอคำ อีกครั้ง โดยเบื้องต้นได้เตรียมเสนอให้เทศบาลนครลำปาง ยุติการก่อสร้างและการปรับภูมิทัศน์บริเวณที่อยู่ใกล้มณฑปของหลวงพ่อเกษมเขมโก ไว้ก่อน และขอให้กรมศิลปากรที่ 7 น่าน เข้ามาทำการสำรวจพื้นที่ เพื่อพิสูจน์ฐานรากที่พบว่า เป็นที่ตั้งของคุ้มหลวงหอคำ ในอดีตหรือไม่ 

นายจำรัค จีรปัญญาทิพ หัวหน้ากลุ่มคุ้มหลวงลำปาง กล่าวว่า เป็นสัญญาณการเริ่มต้นที่ดีและรวดเร็วมากในการช่วยกันสืบค้นหาคุ้มหลวง การขุดค้นพบฐานอิฐโบราณในบริเวณดังกล่าวทำให้เรามีความหวังขึ้นมาอีกครั้ง ในเบื้องต้นเราจะขอให้มีการขุดค้นเพื่อค้นหารากฐานของคุ้มหลวง จากการตรวจวัดแผนที่ดั้งเดิมและภาพถ่ายทางอากาศพบว่าจุดที่ตั้งของคุ้มหลวงอยู่บริเวณสำนักงานโยธาธิการและผังเมือง ยาวไปจนถึงลานจอดรถด้านหลัง ซึ่งการขุดค้นต้องใช้งบประมาณถึง 1 แสนบาท  ในที่ประชุมจึงได้ปรึกษาหารือกันและสรุปได้ว่า จะมีการทำสรุปรายงานการประชุมในครั้งนี้ ส่งให้ทางเทศบาลนครลำปางซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ขุดค้นพบฐานอิฐโบราณที่จะเชื่อมโยงไปถึงคุ้มหลวง เพื่อขอให้เทศบาลส่งเรื่องไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง และส่งต่อไปยังอธิบดีกรมศิลปากร โดยมีความหวังทางทางกรมศิลปากรจะให้ความสำคัญและสั่งการให้มีการขุดค้นในพื้นที่โดยเร็ว 

อย่างไรก็ตาม หากสำรวจ และพิสูจน์ได้ว่า สถานที่แห่งนี้เป็นที่ตั้งของคุ้มหลวงหอคำ จ.ลำปาง ในอดีตจริง ทางภาคเอกชนของจังหวัดลำปาง จะได้เสนอให้จัดสร้างคุ้มหลวงหอคำ ขึ้นมาใหม่ ในลักษณะ และที่ตั้งเดิม เพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ทางวัฒนธรรมล้านนา และเป็นแหล่งท่องเที่ยวของลำปางต่อไป 

สำหรับ กลุ่มคุ้มหลวงลำปาง ซึ่งนำโดย อ.จำรัค จีรปัญญาทิพ หัวหน้ากลุ่มที่ให้ความสนใจในประวัติศาสตร์ของลำปาง ได้นำทีมศึกษาประวัติศาสตร์ และศึกษาคุ้มเก่าในหลายจังหวัดของทางภาคเหนือ เห็นว่าหลายจังหวัดให้ความสำคัญกับคุ้มหลวงกันมากและมีการอนุรักษ์ไว้ โดยที่ จ.ลำปาง ได้ค้นพบสถาปัตยกรรมที่เป็นส่วนประกอบของคุ้มหลวงถูกเก็บไว้ที่วัดแห่งหนึ่ง  จากผลการศึกษาประวัติศาสตร์และนำชิ้นส่วนต่างๆของคุ้มหลวงมาประติดประต่อกันก็ได้แบบร่างออกมาอย่างน่าประหลาดใจ  และทราบว่าคุ้มหลวงเดิมตั้งอยู่บริเวณสำนักงานโยธาธิการฯ ต.หัวเวียง อ.เมือง จ.ลำปาง  ถูกรื้อไปเมื่อ 60 กว่าปี ทำให้คนรุ่นหลังไม่รู้ว่าลำปางก็มีคุ้มหลวงหอคำเช่นกัน   และจากคำกล่าวของพระดำรงราชานุภาพที่กล่าวถึงคุ้มหลวงลำปางว่า  มีสถาปัตยกรรมไม้แกะสลักที่งดงาม ผสมกับแนวสถาปัตยกรรมขนมปังขิงแบบยุโรป  จึงมีความตั้งใจอยากจะฟื้นประวัติศาสตร์ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งขึ้นมา โดยขับเคลื่อนมาเป็นเวลา 4 ปีแล้วจนถึงปัจจุบัน  


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 986 ประจำวันที่ 11 - 17 กรกฎาคม 2557)
 
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์