วันอาทิตย์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ความดี มีไว้ จด?



แปลกอย่างยิ่ง ในตรรกะ “สมุดพกความดี” ที่อาจใช้เป็นบันไดไต่ฝันไปสู่มหาวิทยาลัย เพียงเพราะมีสมุดจดความดี ความดีนั้นย่อมดีด้วยการกระทำ เมื่อทำความดี ความอิ่มเอมก็จะเกิดขึ้นภายในจิตใจ ความสุขเกิดทันทีเมื่อคิดดี ทำดี  แม้จะไม่ได้จดเอาไว้ ดังนั้น การจดบันทึกความดีสักพันคำ โดยที่ไม่อาจพิสูจน์ความดีจริงได้อย่างถ่องแท้ จึงไม่เท่ากับทำความดีเพียงครั้งหนึ่ง โดยที่ไม่ต้องประกาศให้โลกรู้

เจเค โรลลิ่ง  เขียนแฮร์รี่ พอตเตอร์ไว้ อาจเป็นต้นกระแสธารของแรงบันดาลใจ สมุดพกความดี

แฮร์รี่ พอตเตอร์ นวนิยายแฟนตาซีชื่อดังก้องโลก เต็มไปด้วยจินตนาการที่แทรกสอดความกล้าหาญในการเอาชนะความชั่วร้ายต่างๆ แฝงแนวความคิดให้เยาวชนไว้ได้อย่างชาญฉลาด จนหลายประเทศทั่วโลกต่างยกให้เป็นหนังสือแนะนำแก่เยาวชน

แต่ไม่คิดว่าความแฟนตาซีที่เราเคยเห็นในนวนิยายก้องโลก อย่าง แฮร์รี่ พอตเตอร์ กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย อย่างที่ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อน เมื่อในโลกโซเชียลมีเดียได้แพร่สะพัดภาพ บุคคลในวงการศึกษาที่มีความละม้ายคล้าย โดโรเรส อัมบริดจ์ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงเวทมนต์ ที่ได้มาทำการสอนในวิชาป้องกันตัวจากศาสตร์มืดที่โรงเรียนฮอกวอตส์ แต่ไม่ได้สอนให้นักเรียนได้ฝึกปฏิบัติในการป้องกันตัว แต่กลับให้เอาแต่อ่านหนังสืออย่างเดียว

โดโรเรส อัมบริจด์ เป็นตัวละครที่ปรากฎร่างมาใน แฮร์รี่ พอตเตอร์ ภาค 5 ภาคีนกฟีนิกซ์ ซึ่งจัดว่าเป็นตัวละครที่โดดเด่นมาก โดยเฉพาะฉากที่นางได้ลงโทษให้แฮรี่คัดลายมือว่า 'ฉันจะไม่โกหก' โดยใช้ปากกาขนนกพิเศษโดยใช้เลือดแทนหมึก ทำให้คำที่ถูกคัดนั้นจะสลักอยู่ที่ด้านหลังมือของแฮร์รี่ และยังมีอีกหลายสิ่งที่นางได้กระทำการบังคับนักเรียนเมื่อครั้งที่เธอได้นั่งเก้าอี้รักษาการครูใหญ่ โดยได้ออกกฎระเบียบมากมาย โดยใช้ตัวเองเป็นที่ตั้ง และอ้างอำนาจจากกระทรวง 

จะว่าไป แร็ค ลานนา ก็เป็นแฟน แฮร์รี่ พอตเตอร์ ตัวยงคนหนึ่งเลย เพราะอ่านจบทุกเล่ม ทุกตัวหนังสือ ตามต่อด้วยดูหนังทุกภาค และไม่เคยคิดว่า ตัวละครในนิยาย อย่าง โดโลเรส อัมบริดจ์ จะโดดออกมาในโลกความจริง แต่ความคิดต้องเปลี่ยนไปเมื่อได้เห็นข่าว สมุดพกความดีที่กำลังเป็นที่กล่าวถึงกันในวงการการศึกษา โดยคอนเซ็ปต์ของสมุดพกความดี คือการให้เยาวชนได้จดบันทึก ความดีที่ได้ทำในแต่ละวันโดยมีผู้อำนวยการโรงเรียนหรือครูผู้สอบเซ็นรับรอง

แต่ ที่สำคัญที่ฮือฮาในหมู่นักเรียนคือจะมีการนำเรื่องสมุดพกความดีนี้เป็นส่วน หนึ่งในการคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนต่อสู่ระดับอุดมศึกษาด้วย !!! 

พระเจ้าช่วยกล้วยทอด...

แค่แนวคิดน่ะพอได้ แต่เป็นการปฏิบัติที่ทำได้ไม่ง่าย โดยเฉพาะการวัดประเมินผลสำเร็จของกิจกรรมนี้  เพราะมันมีความเป็นไปได้สูงว่าจะมีการสร้างปั้นแต่งเรื่องความดีโดยที่ไม่ได้ทำจริง เพียงเพื่อให้ครูเซ็นชื่อให้ผ่านไป รวมถึงจะเอาอะไรมาใช้เป็นมาตรฐานว่าความดีแบบไหนบ้างที่เข้าข่ายสมุดพกความดี ไปจนถึงรายละเอียดประเภทว่าครูจะสามารถอ่านสมุดพกความดีได้ละเอียดและตรวจสอบได้จริงหรือไม่ สารพัดข้อสังเกต...

ในกรณี Talk of the Town นี้ สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ผู้ที่มีการแต่งตัวละม้ายคล้าย โดโลเรส อัมบริดจ์แห่ง ฮอกวอตส์ ได้กล่าวว่า จริงๆแล้วเยาวชนทั้งหลายที่เรียนลูกเสือ เนตรนารี ก็มีสมุดที่ให้มีการบันทึกความดีอยู่แล้ว และที่ผ่านมา สพฐ.เคยทำโครงการดังกล่าวมาแล้วโดยได้นำร่องทำ นครปฐมโมเดล ที่ให้นักเรียนทำคุณงามความดีได้สิทธิในการเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยในพื้นที่ เช่น มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นต้น แต่ครั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการจะนำมาดำเนินการอย่างจริงจังและขยายให้ครอบคลุมมากขึ้น เพื่อสอดรับกับนโยบายของ คสช.ที่ต้องการปลูกฝังเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมของคนในชาติ

หากจะนำเรื่อง สมุดพกความดีมาใช้ในการพิจารณาในการเข้าเรียนระดับอุดมศึกษา คงต้องมานั่งคิดถึงขั้นตอนการตรวจให้ดี เพราะลำพังทุกวันนี้ เรื่อง O-NET  ที่เป็นการสอบวัดผลระดับประเทศโดยใช้ข้อสอบเดียวกันที่ผ่านการจัดทำแบบมาตรฐาน ยังวัดผลได้ค่าเฉลี่ยทั่วประเทศ ต่ำกว่า 50% ภาษาบ้านๆแปลว่า สอบตกเพราะเราไม่สามารถจัดให้มาตรฐานการเรียนรู้ให้เท่ากันทั่วประเทศได้ แล้วเราจะเอาเกณฑ์อะไรมาใช้ในการวัด ความดี” 

แทนที่จะเป็นการปลูกฝังให้เยาวชนทำความดีโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน แต่กลับกลายเป็นว่า เรากำลังสร้างให้เยาวชน ทำงานแบบ ผักชีโรยหน้า ทุกวันนี้เด็กนักเรียนก็มีการบ้านเยอะแยะมากมายจนจ้างทำรายงาน แท็คทีมลอกการบ้าน อยู่แล้ว แนวคิดนี้น่าจะนำร่องไปใช้กับนักการเมือง เพื่อปลูกฝังการบันทึกความดีที่ได้ทำกันไว้บ้าง 

ขณะที่ชาวเน็ตส่วนหนึ่งเกิดไอเดียนำภาพของ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ มาแซวเล่นกับ โดโลเรส อัมบริดจ์ (อดีต) รักษาการ ผอ.ฮอกวอตส์ จากกระทรวงเวทมนตร์ และมีการแชร์ไปในโลกออนไลน์ ซึ่งก็เป็นที่น่าตกใจว่า เหมือนกันอย่างกับแกะ

แต่เป็นแกะดำ ที่จับแพะชนแกะ หาสาระอะไรมิได้  


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 988 ประจำวันที่ 25 - 31 กรกฎาคม 2557)


Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์