วันพฤหัสบดีที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2557

‘บ้านบัวแก้ว’ ต้นแบบเกษตรทางเลือก ทางรอดของชุมชน




แหล่งการเรียนรู้ บ้านบัวแก้ว เกิดจากแรงบันดาลใจของอ.เนตร ใจเที่ยง ข้าราชการบำนาญ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำปาง เขต 2 กระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินงานภาคเกษตรแบบผสมผสาน ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจในการเลี้ยงโคขุน การทำปุ๋ยหมักอินทรีย์โดยใช้ไส้เดือนดิน การปลูกผักปลอดสารพิษ การเลี้ยงเป็ดไข่ การเลี้ยงปลาแบบลดต้นทุน และการปลูกไผ่เศรษฐกิจ ที่สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ และมีความสุขใจหลังวัยเกษียรราชการได้เป็นอย่างดี

ครูเนตร เล่าว่า แหล่งเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง “บ้านบัวแก้ว” มีความตั้งใจที่จะนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และในห้วงที่ได้ปฏิบัติราชการในหน้าที่ ผอ.กลุ่มนิเทศติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา สพป.เขต2 ได้มีโอกาสศึกษาดูงาน เข้ารับการอบรม พัฒนา และค้นคว้าหาความรู้อย่างต่อเนื่องจึงมีความมุ่งมั่นโดยการนำหลักคิด 3 ห่วง 2 เงื่อนไข สู่การปฏิบัติเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง  บนพื้นที่ 3 ไร่ 1 งาน 39 ตารางวา โดยนำมาเชื่อมโยง ผสมผสาน กิจกรรมอย่างหลากหลาย  ไม่ว่าจะเป็น

การเลี้ยงโคขุน ด้วยการคัดเลือกสายพันธุ์วัวที่เลี้ยงง่าย เจริญเติบโตเต็มวัย ให้เนื้อที่มีคุณภาพ กินอาหารเก่ง หาซื้อและขายในตลาดใกล้บ้านและมีความสะดวกในการขนส่ง พันธุ์ที่นิยมนำมาเลี้ยง เช่น พันธุ์ซาโลเล่ส์ พันธุ์บราห์มัน พันธุ์แบ็คกัส วัวที่นำมาเลี้ยงมีอายุ 1-2 ปี เป็นเพศผู้เท่านั้น เลี้ยงไม่เกิน 1 ปี จะได้น้ำหนักมากถึง 450 กก. 

การเลี้ยงไส้เดือนดิน ของแหล่งเรียนรู้แห่งนี้มีวิธีการทำที่ไม่ยาก เริ่มจากการผสมมูลวัวแห้งและดินร่วน 2 ให้เข้ากันนำมาลงหมักในบ่อ ใส่น้ำพอท่วมผิวมูลวัวทิ้งไว้ 8-15 วัน  จากนั้นปล่อยน้ำที่แช่ขังไว้ (นำไปรดพืชได้) จนดินในถังพอหมาดๆ (ใช้มือกำติดเป็นก้อนได้)  นำไส้เดือนดินลงปล่อย (บ่อซีเมนต์ปากกว้าง 80 x 50 ซม. ปล่อยได้ 0.50-1 กก.) และนำเศษอาหาร เศษผัก ผลไม้ สับให้ละเอียดใส่ให้ทั่วบ่อพอประมาณ สามารถใส่ได้ต่อเนื่อง จนกว่าจะได้ปุ๋ยอินทรีย์ ใช้เวลา 2-3 เดือน และควรนำบ่อไส้เดือนไว้ในที่ร่ม และปิดปากบ่อไม่ให้ไส้เดือนออกนอกบ่อ  ขอบบ่อข้างในด้านบนใช้สบู่ ถูบริเวณขอบบ่อเพื่อป้องกันไส้เดือนดินหนี และบริเวณที่มีมดคันไฟใช้น้ำหน่อไม้ดองเทลงรู จะทำให้มดตายยกรัง  เป็นการป้องกันมดได้ดีที่สุด

การนำปุ๋ยไส้เดือนดินมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยนำดินและปุ๋ยอินทรีย์ ไส้เดือนดิน ออกจากบ่อออกมาผึ่งลมในที่ร่มเป็นเวลา 12 ชั่งโมง ให้ความชื้นเหลือประมาณ 50-60% นำมาร่อนด้วยตะแกรงที่มีรูประมาณ 1/2 เซนติเมตร เก็บไว้ในร่มในถังที่สะอาด  และนำมาใส่ถุงปิดให้มิดชิดนำมาใช้ประโยชน์ให้กับต้นพืช ผักผลไม้ได้ตามต้องการเป็นการสร้างรายได้ ลดรายจ่ายให้กับครอบครัว อีกทั้งเป็นการกำจัดขยะในครัวเรือนและชุมชนได้ดี

การเลี้ยงเป็ด เป็นวิธีการเลี้ยงสัตว์ที่ง่ายและคุ้มค่าที่สุด สามารถให้ผลผลิตที่เป็นรายประจำทุกวัน  แต่ต้องคัดเลือกพันธุ์เป็ดที่ไข่ดก กินอาหารเก่ง อยู่ได้ในทุกฤดูกาล เป็ดที่นิยมเลี้ยง คือ เป็ดกากีแคมเบลล์ จะไข่ได้มากถึง 300 ฟองต่อปี เป็ดพันธุ์นี้จะไข่เมื่อเลี้ยงได้ 4 เดือน และพันธุ์เป็ดผสม ระหว่าง กากีแคมเบลล์ กับ พื้นเมือง เลี้ยงง่าย ทนต่อโรคและสภา แวดล้อมให้มากและไข่ดก ประมาณ 260 ฟองต่อปี

ผลการดำเนินงานของแหล่งเรียนรู้ บ้านบัวแก้ว ในปี 2556 จนถึงปัจจุบัน พบว่า การนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิต ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ปฏิบัติการอย่างแท้จริงคือ 

“ทุกวันนี้ ผมมีความสุขครับ มีความสุขที่มีทุกสิ่งทุกอย่างในสวนหลังบ้าน ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว มีเป็ด มีไก่ มีโคขุน มีไข่ มีไส้เดือน มีปุ๋ยหมัก มีพืชผัก มีไผ่เศรษฐกิจ และมีอะไรหลายๆ อย่างที่สามารกินได้ ขายได้ และมีความสุขที่ได้ถ่ายทอดความรู้ เทคนิควิธีการในการทำการเกษตรผสมผสานแบบพึ่งพาที่สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้นได้ สิ่งเหล่านี้ความสุขหลังการเกษียณอายุราชการของผม” ครูเนตรกล่าวด้วยความภาคภูมิใจ

ทำให้เกิดความพอดี พออยู่พอกิน ก่อให้เกิดรายได้ ลดรายจ่ายลดความเสี่ยงของผู้ดำเนินงาน เป็นภูมิคุ้มกันกับผู้ประกอบการ ส่งผลให้ผู้ปฏิบัติ มีความสุข ครอบครัวมีความมั่นคง ผู้คนในท้องถิ่นมีองค์ความรู้จากการศึกษา สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ การดำรงชีวิตทำให้สิ่งแวดล้อมคืนสู้ธรรมชาติอย่างสมดุล และที่สำคัญทำให้เกิดการเรียนรู้แบบพึ่งพาทางวัฒนธรรมของประชาชน ซึ่งมีการช่วยเหลือ แนะนำ มีการแบ่งปันทางความคิดเชิงปัญญา เกิดการให้และการรับในผลผลิตในหลายรูปแบบเกิดขึ้นในท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี

จากกิจกรรมธรรมดาที่ปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง พัฒนาสู่ แหล่งเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง บ้านบัวแก้ว เป็นสถานที่ดูงานให้กับประชาชน องค์กร หน่วยงานราชการต่อเนื่อง  เพื่อให้เกิดผลดีกับสถานศึกษาในสังกัด และนำองค์ความรู้ในการบรรยายสู่การปฏิบัติจริง เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับองค์กร ชุมชน สถานศึกษา  เครือข่ายเยาวชนต้นกล้าเศรษฐกิจพอเพียง และที่สำคัญ คือ เพื่อใช้เป็นแหล่งศึกษาดูงานให้กับสมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนทิพย์ช้าง จำกัด ให้สามารถน้อมนำแนวคิดตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ขององค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อชีวิตของสมาชิกได้ สะท้อนให้เห็นถึงผลสำเร็จของการดำเนินงานได้เป็นอย่างดี

แหล่งเรียนรู้“บ้านบัวแก้วแห่งนี้ ตั้งอยู่ในบริเวณบ้านเลขที่ 482 บ้านจำ หมู่ที่ 6 ถนนห้างฉัตร-เกาะคา ต.ปงยางคก อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง  ยินดีให้เข้าเยี่ยมชม ศึกษาดูงาน และถ่ายทอดความรู้โดยครู “เนตร” โทร.081-950-3005 ได้ทุกวัน.



(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 993 ประจำวันที่ 29 สิงหาคม - 4 กันยายน 2557)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์