วันอาทิตย์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ตึกสูงสะท้าน จากพัทยา ถึงลำปาง

                        

ความแปลกแยกระหว่าง “ใหม่” กับ “เก่า” เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ในโลกสมัยใหม่ ที่พื้นที่แนวราบน้อยลง ราคาที่ดินพุ่งทะยาน แท่งคอนกรีตมาแทนที่บ้านเดี่ยว โดยเฉพาะในเมือง ที่กำลังใกล้เป็นฮ่องกง หรือโตเกียว มหานครที่คนส่วนใหญ่ อยู่ในตึกสูง คล้ายรังนกมากเข้าไปทุกที แต่ด้วยความเร่งรีบ ความไม่รับผิดชอบต่อชีวิต สวัสดิภาพของคนอื่น ตึกสูงจึงพังทลายลงทั้งระหว่างก่อสร้าง และเมื่อสร้างเสร็จ ตึกสูงจึงสร้างปัญหาทัศนะอุจาด ไปจนกระทั่งสร้างปัญหากับชุมชนรอบข้าง

กลายเป็นเรื่องอึกทึกครึกโครมในวงการการก่อสร้างอาคาร เมื่อเกิดเหตุตึกถล่มเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก เรื่องนี้อยู่ในระหว่างการสอบสวนหาข้อเท็จจริงถึงสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดเหตุสะเทือนขวัญน่าเศร้าได้ถึงขนาดนี้ แต่ที่น่าสนใจคือ ในจังหวะที่เกิดเหตุไม่คาดฝันนี้ขึ้น ก็มีคลิปวีดิโอจากที่บันทึกภาพเหตุการณ์ตึกถล่มได้หมดทุกวินาที โดยบังเอิญ อย่างน้อยก็ยังมีข้อมูลให้คิดวิเคราะห์กันได้ไม่มากก็น้อย

ถัดจากเหตุการณ์ตึกถล่มมาได้ไม่นาน ก็ตามด้วยกรณีที่ชาวพัทยาออกมาต่อต้านการสร้างตึกสูง 53 ชั้น ทำลายทัศนียภาพทะเลพัทยา จากจุดชมวิวเขาพระตำหนัก (บนเขา สทร.5 หน้าอนุสาวรีย์พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์) ตรงบริเวณแหลมบาลีฮาย พัทยาใต้ จ.ชลบุรี ที่มีการก่อสร้างตึกสูงบดบังจุดชมวิวอ่าวพัทยาในโลกออนไลน์ ทำให้ชาวพัทยาได้รวมตัวกันออกมาขอทวงคืนทัศนียภาพของเมืองพัทยานั้น หรือแม้แต่ปัญหาการสร้างคอนโดมิเนียมเป็นที่พักอาศัยซึ่งสูงกว่าวัดวาอาราม ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง ก็เป็นปัญหาเกิดขึ้นในทุกจังหวัดไม่เว้นแม้แต่ที่จังหวัดลำปาง

ปัญหาเรื่องการก่อสร้างอาคารสูง ดูจะเป็นปัญหาโลกแตกที่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แต่เกิดขึ้นในหลายประเทศที่มีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลง วิถีชีวิตคนไทยที่เปลี่ยนไปจากบ้านไม้ใต้ถุนสูง หน้าต่าง ประตูบ้านใหญ่ เปิดช่องให้ลมพัดผ่านเย็นสบาย มาเป็นบ้านตึกทึบ มีหน้าต่างน้อยบาน เก็บความร้อนไว้ในเวลากลางวัน และคายความร้อนออกในตอนกลางคืน จนกระทั่งเปลี่ยนสภาพเป็นบ้านรังนกรังเล็กซ้อนทับกันสูงสุดสายตา มีเครื่องปรับอากาศเป็นเครื่องช่วยหายใจ ปรากฎการณ์นี้มาพร้อมกับราคาที่ดินที่ขยับตัวสูงขึ้น การขยายตัวของเมืองที่ทำให้ย่านใจกลางเมืองเป็นพื้นที่ทองคำ ไม่ใช่พื้นที่บ้านเดี่ยวของคนชั้นกลางอีกต่อไป

ย้อนกลับมาที่ กรณี คอนโด 53 ชั้น 315 ห้อง ที่เมืองพัทยา จากที่ข่าวได้นำเสนอมา ดูเหมือนว่า โครงการนี้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2547 บนที่ดิน 7 แปลง พื้นที่ 2 ไร่กว่าๆ  โครงการก็แจ้งว่าได้ดำเนินการผ่านกระบวนการทำอีไอเอ ขออนุญาตทุกอย่างอย่างถูกต้องแล้ว และได้รับการอนุมัติโครงการก่อนดำเนินการก่อสร้าง
 
หากนับย้อนไปเมื่อ 10 ปีก่อน ที่โครงการใหญ่ขนาดนี้เริ่มดำเนินการ จนมาถึงการอนุมัติ ไม่ใช่เวลาสั้นๆ การก่อสร้างชั้นต่อชั้นที่เริ่มตั้งแต่ปี 51 เรื่อยมาจนโครงการเกือบจะเสร็จ กลับมีการร้องเรียน จนล่าสุดนายกเมืองพัทยาได้ออกคำสั่งระงับการก่อสร้างไปแล้ว พร้อมกลับไปขุดคุ้ยว่าใครเป็นผู้อนุมัติ
 
แปลก แต่จริง คอนโดมิเนียม ตึกสูงไม่ได้ก่อกำเนิดมาแบบหินงอกหินย้อย แต่มาจากความตั้งใจสร้าง แต่หากโครงการมีการก่อสร้างผิดแบบซึ่งนั่นคือความผิดที่ต้องดำเนินการตาม กฎหมายจริง แต่การปล่อยให้ตึกสูงขนาดนี้สร้างมาจนเกือบเสร็จ โดยอาคารก็อยู่ในสายตา โดดเด่นโด่เด่ แต่เหตุใดจึงไม่มีการพิจารณาระงับ ในตอนนั้น เรื่องแบบนี้พูดไปก็เหมือน ลูบหน้าปะจมูก กับเรื่องผลประโยชน์ที่ได้รับในเรื่องของใบเบิกทางเพื่อให้ก่อสร้างอาคารได้ สะดวก เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ที่มีการใช้อำนาจหน้าที่ในการหาผลประโยชน์ จากการอนุมัติโครงการก่อสร้าง โครงการใหญ่หน่อย ก็ต้องจ่ายเงินมากหน่อย แต่จะจ่ายให้ทุกคนก็โครงการก็คงไม่ไหว ผู้ที่เสียประโยชน์ก็ออกมาร้องบ้างพอได้เงินปิดปากก็เงียบไปบ้าง เรื่องราวทำนองนี้มีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง
 
แม้ แต่ลำปางก็ไม่เว้น อย่างเมื่อหลายปีก่อนตอนที่ห้างใหญ่จะคืบคลานเข้ามา ก็มีการต่อต้านเกิดขึ้น จึงมีการใช้กลเม็ดเคล็ดไม่ลับที่เราก็รู้ๆกันอยู่ในการอำนวยความสะดวก เคลียร์ทางในการก่อสร้าง คนได้รับผลประโยชน์ก็อิ่มยิ้มแก้มปริกันไป จนเป็นที่รู้กันว่าจ่ายเงินนำทางจะอำนวยความสะดวกได้เป็นเลิศ จนผู้ที่ดำเนินการขออนุญาตแบบปกติต้องถูกดึงเรื่องให้เชื่องช้ายิ่งกว่าเต่า คลาน คล้ายว่าดึงเรื่องให้ยากเพื่อให้ผู้ยื่นแบบเสนอผลประโยชน์ให้ เหมือนอย่างในกรณีที่ชาววิทยุชุมชนร้องเรียนต่อ กสทช.ในเรื่องของการขออนุญาตตั้งสถานีต้องได้รับการอนุญาตจากหน่วยงานในท้องถิ่นก่อน ซึ่งผู้ประกอบการวิทยุชุมชนต่างร้องเรียนว่า หน่วยงานเรียกค่าจ้างเขียนแบบ ล่าลายเซ็นกันกระฉูด ในสนนราคาตั้งแต่ 25,000 บ.ไปจนถึงหลักแสน แต่ผู้ประกอบการก็ยอมจ่ายเพื่อแลกกับความสะดวกรวดเร็ว ส่วนผู้ที่เบี้ยน้อยหอยน้อยดำเนินการยื่นเอกสารเองกลับติดขัดขั้นตอนสารพัด

ที่ ร้ายไปกว่านั้นบางพื้นที่รอบที่อยู่ในอำเภอไกลๆหน่อยก็อาศัยความสนิทสนมคุ้น เคยกับหน่วยงานท้องถิ่นออกเอกสารให้ก่อนยื่นแบบก่อสร้างเสียอีก

ขอไว้อาลัย กับหน่วยงาน และผู้ประกอบการที่ต้องสังเวยจ่ายเบี้ยใบ้รายทาง และหวังว่ามนุษย์เผ่าพันธุ์นี้จะสูญพันธุ์ไปในยุค คสช.



(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 992 ประจำวันที่ 22 - 28 สิงหาคม 2557)


Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์