วันอาทิตย์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2557

วัวแปดขา หมาพูดได้


ข่าวประเภท “วัวแปดขา หมามีเขา” หายไปจากพื้นที่สื่อนานปีแล้ว ด้วยโลกการสื่อสารที่พัฒนาไป ผู้คนมีความรู้มากขึ้น และเริ่มปฎิเสธข่าวงมงาย ไร้สาระแบบนั้น  แม้ว่าความหมายของการสื่อสารข่าวประเภทนี้ คือการขายตัวเลข เพื่อประกอบความเสี่ยงในการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยมักจะมีการตีพิมพ์ข่าวในฉบับวันที่ 1 และ 16 ของเดือน แต่เสียงตอบรับก็น้อยลง จนสื่อไม่ให้ความสำคัญในการตามล่าข่าวเพื่อนำมาขาย “นักเสี่ยงโชค” อีก

จนกระทั่งข่าว “หมาพูดได้” ปรากฏขึ้นที่ชัยภูมิ  คำถามก็เกิดขึ้นว่า นี่คือการส่งสัญญาณความอึดอัดคับข้องใจในการเสนอข่าวสาระ ภายใต้บรรยากาศเสรีภาพขาดวิ่นในยุค คสช.หรือไม่ หรือคุณภาพคนทำข่าวที่ถดถอยลง หรืออำนาจทุนที่กำหนดให้สื่อคิดน้อยลงในเรื่องคุณภาพ แต่คิดมากขึ้นในเรื่องที่ข่าวที่ขายได้ 

เหล่านี้ล้วนต้องการคำตอบ

ข้อสันนิษฐานของผม คือ สภาพด้อยพัฒนาของคนทำสื่อ ที่ไม่ได้ศึกษา ไม่ได้เรียนรู้ว่าโลกเขาก้าวไกลไปถึงไหน ยังคงหากินอยู่กับความฉาบฉวย ดูแคลนผู้รับสาร ด้วยการยัดเยียดข่าวขยะ ที่น่าตกใจ คือไม่เพียงสื่อต่างจังหวัดบางฉบับ ที่สำคัญผิดว่าข่าวลวงโลกเช่นนี้เป็นที่ต้องการของคนอ่าน แม้แต่สื่อกระแสหลักที่ควรเชื่อถือได้ ก็กระโจนลงไปในหล่มโคลนแห่งความเท็จนี้ด้วย  นี่อาจจะเป็นภาวะเสื่อมของสื่อ ที่วิ่งไล่หาเงินทอง เพื่อมาชดเชยต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น แต่ละเลยความรับผิดชอบ ที่เป็นหัวใจสำคัญของการทำหน้าที่สื่อมวลชน

อีกเรื่องหนึ่ง ที่ต้องขีดเส้นใต้ไว้ด้วยสีแดง  คืออิทธิพลของสื่อสังคมออนไลน์ ที่มีเหนือสื่อกระแสหลัก  และโดยส่วนใหญ่จะส่งสารที่เป็นยาพิษมากกว่าน้ำผึ้ง

อย่างน้อยในห้วงระยะเวลา 34 ปีนี้อาจเป็นปีของสารตั้งต้นสำหรับสื่อออนไลน์ ที่กำลังก้าวกระโดดเข้าสู่ ความเป็นสื่อกระแสหลัก (Mainstream Media) อย่างรุนแรงและรวดเร็วยิ่ง เนื่องเพราะอิทธิพลที่มีอยู่เหนือสื่อทางการ โดยเฉพาะการมีบทบาทนำในประเด็นต่างๆ

สื่อสังคมออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นทวิตเตอร์ หรือเฟซบุ๊ค ได้ทำหน้าที่อย่างแข็งขันในการส่งข่าว ความเห็น ความเคลื่อนไหวต่างๆ อีกทั้งมีส่วนสำคัญในการประกอบสร้าง หลายเรื่องราวที่สื่อกระแสหลักกลับมีบทบาทเป็นเพียงผู้ตาม พร้อมๆกับจำนวนผู้รับสารที่ทรงและลดลงอย่างต่อเนื่อง เล็กลงมาถึงระดับท้องถิ่น ข่าวนักการเมืองคนสำคัญหายหน้าไปจากสังคมลำปาง ก็ถูกเฝ้ามอง ติดตามจากเฟสบุ๊คคนดังคนนี้ ซึ่งเคยมีความเคลื่อนไหวมากในโลกออนไลน์ แต่จู่ๆก็หายไปอย่างไร้ร่องรอย

วันนี้ มีผู้ใช้ทวิตเตอร์ และเฟซบุ๊คในประเทศไทยทะลุ 4  ล้านรายแล้ว ทั้งผู้ใช้ที่เป็นประชาชนทั่วไป เป็นนักการเมือง กลุ่มผลประโยชน์และกลุ่มสังคมต่างๆ ตลอดจนผู้ใช้ที่อยู่ในอาชีพสื่อสารมวลชน มี “สื่อสังคมออนไลน์เป็นอุปกรณ์เสริม

ภาพความเป็นสื่อหลักของสื่อสังคมออนไลน์ ชัดมากขึ้น ด้วยปรากฎการณ์ต่างๆ ที่ต่อเนื่องมาจากเรื่องราวของเจนี่ เทียนโพธิ์สุวรรณ เรื่องน้องแนน สาวพม่า เด็กเสิร์ฟร้านลาบที่เชียงใหม่ ที่ความสวยกลายเป็นประเด็นและคำถามในขณะเดียวกันว่า ความเป็นคนต่างด้าว และอาชีพของเธอไม่อนุญาตให้สวยได้เหมือนสาวสวยคนอื่นๆหรือ ไปจนถึงเรื่องของหนุ่มไต้ ชาวไทใหญ่จากพม่า ที่หล่อระดับนายแบบ

ปรากฎการณ์เหล่านี้ ไม่เพียงเป็นความแปลกใหม่ ตื่นเต้น เร้าใจของวงการสื่อสารมวลชนเท่านั้น  หากยังมีคำถามในเชิงจริยธรรม ถึงความรับผิดชอบ การตระหนักรู้ของผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ด้วย

สามปีก่อน สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายและเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้ร่วมกันยกร่างและรับฟังความคิดเห็น เพื่อวางหลักปฏิบัติในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ โดยที่ผมเป็นประธาน นับเป็นแนวปฏิบัติการใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรฉบับแรกของประเทศไทย 

จุดบันดาลใจ อาจเริ่มจากวิกฤตการณ์ความขัดแย้งของคนไทย คนในสังคมเมืองจำนวนมาก โดยเฉพาะสื่อสารมวลชนอาชีพจำนวนไม่น้อย ที่ได้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการส่งสารไปยังผู้บริโภค รวมทั้งการใช้พื้นที่ในสื่อสังคมออนไลน์ ส่งออกข่าวสาร ข้อมูล ที่ไม่เป็นสาระประโยชน์ใดๆกับสังคม

กระบวนการในการส่งสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์นั้นผิดแผกจากการส่งข่าวตามปกติ ซึ่งจะต้องผ่านการกลั่นกรองจากกองบรรณาธิการ ผ่านการประเมินคุณค่าข่าวก่อนที่จะตีพิมพ์ หรือแพร่ภาพและเสียงออกอากาศ

ช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ เป็นช่องทางที่ผู้สื่อข่าวสามารถส่งสารได้โดยตรง ซึ่งอาจมีข้อผิดพลาด หรือทำให้เกิดภาวะสับสน ประเด็นคำถามมีทั้งการใช้ประโยชน์ระดับองค์กร ตัวบุคคล ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องไม่สามารถแยกแยะได้ชัดเจน อันอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายได้ 

โลกการสื่อสารหมุนเวียนเปลี่ยนไปรวดเร็ว วันนี้ใครๆก็สามารถเป็นนักข่าวได้  จริยธรรมของคนใช้สื่อดิจิตอล จึงเป็นจริยธรรมที่มิได้ฟูฟ่อง ล่องลอยอยู่ในอากาศ แต่เป็นจริยธรรมที่ต้องปฏิบัติ เคร่งครัด และยึดมั่นในมาตรฐานเดียวกับจริยธรรมคนสื่อยุคอนาล็อก และใครก็ตามที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อส่งผ่านขยะ หรือเรื่องราวที่ไม่เป็นจริง เขาเป็นแค่คนส่งสาร ไม่ได้เป็นนักข่าวหรือสื่อมวลชน

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 993 ประจำวันที่ 29 สิงหาคม - 4 กันยายน 2557)



Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์