วันอังคารที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ตาเหลว ความเชื่อกลางท้องทุ่ง


กุลธิดา สืบหล้า...เรื่อง

ต่อหน้าเทือกดอยที่ตอนนี้ห่มคลุมไปด้วยเมฆฝน ผืนนาแห่งบ้านทรายใต้มองดูเหมือนผืนผ้าปะติดปะต่อกันจนแผ่ไพศาลกว้างไกล โดยมีสีเสื้อของกลุ่มชาวนาแต่งแต้มอยู่เป็นหย่อม ๆ ตรงนั้นตรงนี้ เมื่อมองจากเถียงนากลางทุ่ง มันดูสวยงามราวกับภาพวาด

ฤดูแห่งการทำนาเริ่มแล้ว ศรีนวล สีธิสุข ชาวนาแห่งบ้านทรายใต้ ง่วนอยู่กับการดำนาเหมือนคนอื่น ๆ ในที่นาอันเก่าแก่ ซึ่งตกทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ภาพของผืนนาเจิ่งน้ำ มีต้นกล้าที่เพิ่งผ่านการปักดำเรียงแถวมองดูคล้าย ๆ กัน ทว่าที่นาของศรีนวลไม่เหมือนใคร ผืนนาขนาด 5 ไร่ของเธอใคร ๆ ก็จำได้ เพราะนาผืนนั้นมี ตาเหลว ขนาดใหญ่ปักอยู่อย่างโดดเด่น 

ตาเหลว หรือเฉลวทำจากไม้ไผ่ที่สานหัก หรือขัดกันเป็นมุมเหมือนตาชะลอม โดยนิยมทำกันเป็น 3 แฉก 5 แฉก 8 แฉก ไปจนถึง 12 แฉก บ้างก็ว่า เฉลวที่มีรูปทรงไม่เหมือนกัน หมายถึงการเสกคาถาอาคมลงอักขระแตกต่างกัน เฉลว 3 แฉก ลงอักขระ มะ อะ อุ หมายถึง ขอให้อำนาจพระเจ้าทั้งสามประสาทพร ให้หายจากอาการป่วยไข้ เฉลว 5 แฉก ลงอักขระพระเจ้า 5 พระองค์ คือ นะ โม พุท ธา ยะ และเฉลว 8 แฉก ลงอักขระ อิติปิโส 8 ทิศ เฉลวในที่นี้จึงเปรียบเหมือนยันต์ศักดิ์สิทธิ์ สามารถป้องกันสิ่งชั่วร้าย เสนียดจัญไร ไม่ให้เข้ามากล้ำกราย หรือป้องกันการถูกกระทำด้วยคาถาอาคม ภูตผีปีศาจ

พจนานุกรมสถาปัตยกรรมและศิลปเกี่ยวเนื่องของศาสตราจารย์โชติ กัลยาณมิตร ให้ความหมายคำว่าเฉลวไว้ว่า ก. เครื่องกั้นเขตห้าม ห้ามแตะต้อง ห้ามล่วงสิทธิ์ โบราณใช้ปักฝาหม้อยาเพื่อป้องกันผู้อื่นเปิด หากปักอยู่ตามสิ่งที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ เช่น บ้านเรือน แพ ฯลฯ ก็หมายถึงห้ามละเมิดสิทธิ์ ข. สิ่งใดที่ประสงค์จะแจ้งขาย ก็ใช้เฉลวปัก หรือแขวนไว้เช่นกัน ค. เครื่องป้องกันรังควาน หรือเครื่องอาถรรพ์

ส่วนวิบูลย์ ลี้สุวรรณ กล่าวถึงเฉลวในหนังสือศิลปะชาวบ้านว่า คนไทยใช้ตอกไม้ไผ่สานขัดกันเป็นเฉลวสำหรับปักบนหม้อ เพื่อป้องกันสิ่งที่มองไม่เห็นไม่ให้มาทำให้ยาเสื่อม หรือใช้เฉลวปักในไร่นาป้องกันสิ่งชั่วร้ายทำลายข้าวและพืชผล หรือใช้เฉลวปักบอกขอบเขตและแสดงความเป็นเจ้าของ

ด้านตำนานล้านนาเล่าว่า เฉลวมีที่มาจากตำนานเรื่องขุนตึง โอรสขุนเติง กษัตริย์หิรัญนครเงินยาง ใช้ตะขอกวัดไกวสร้างเมืองที่ได้จากพระเจ้าตาที่เป็นพญานาค เนรมิตเมืองให้ตัวเองครอบครอง เมืองนี้นอกจากมีคนอยู่มากมายแล้ว ยังมีลิงเชื้อสายของมารดาอาศัยอยู่ด้วย ลิงเหล่านี้ก่อความเดือดร้อนแก่ชาวบ้าน ขุนตึงจึงต้องไปขอร้องพญาเหยี่ยวให้มาช่วยไล่ลิง แต่ลิงก็กลัวเหยี่ยวเฉพาะตอนที่เหยี่ยวบินมาเท่านั้น ขุนตึงจึงให้ชาวบ้านสานตอกเป็นรูปตาแหลว (ตาเหยี่ยว) พวกลิงเห็นตาแหลวก็คิดว่าเหยี่ยวมา จึงกลัว ชาวบ้านจึงนิยมทำตาแหลวเอาไว้

ตามความเชื่อของชาวไทยใหญ่ ในวันแรกที่หว่านกล้าลงบนผืนดิน พวกเขาจะปักตาเหลวไว้ในนาด้วย เพื่อป้องกันผีกะหลุกมาขโมยข้าวกิน

สำหรับศรีนวล เมื่อถึงเวลาแฮกข้าว หรือดำนา เธอจะทำในสิ่งที่พ่อของเธอเคยทำ นั่นก็คือ นำตาเหลวมาปักบนที่นา ตาเหลวของศรีนวลยังคงรูปแบบดั้งเดิมที่ครอบครัวเคยทำมา โดยมีลักษณะเป็นตาเหลว 3 แฉกขนาดใหญ่ มีสร้อยห้อยลงมาทั้ง 2 ด้าน ข้างล่างจัดวางข้าวตอก ดอกไม้ ปลาแห้ง กล้วย ข้าวเหนียวปั้น จากนั้นจึงบอกกล่าวต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในที่นาให้พวกเขารับรู้ว่า ถึงเวลาทำนาแล้ว ขอให้ช่วยคุ้มครองต้นข้าว ให้ได้ข้าวดี ๆ ในปีนี้

ถ้าไม่ปักตาเหลวก่อนทำนาจะไม่สบาย เพราะไม่บอกกล่าวเขาก่อน ศรีนวลพูด และไม่ว่าคนในครอบครัวจะแยกไปทำนาที่อื่น ก็ต้องมาบอกกล่าวที่นาตรงนี้ก่อนเสมอ 

ตาเหลวจะถูกปักเคียงคู่ผืนนาไว้อย่างนั้น เมื่อถึงวันเก็บเกี่ยว ศรีนวลจะเตรียมเหล้าไห ไก่คู่ ไปทำพิธีเลี้ยงขอบคุณอีกครั้ง เธอเชื่อว่า ความเชื่อที่ตกทอดกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายนี้ บันดาลให้ครอบครัวอยู่ดีมีสุขและได้ข้าวดีทุกปี

ทุกวันนี้ เป็นความจริงที่ว่า ผืนนาส่วนใหญ่ในบ้านเราไร้เงาของตาเหลวไปเสียแล้ว พิธีกรรมอันเก่าแก่ถูกย่นย่อให้กระชับเหลือเพียงหมาก 1 คำ พลู 1 ใบ พร้อมกับคำบอกกล่าวสั้น ๆ อย่างไรก็ตาม ศรีนวลยืนยันว่า เธอจะยังคงปักตาเหลวทุกครั้งที่เริ่มทำนา

ดูเหมือนหญิงวัยกลางคนจะไม่เพียงปลูกข้าว หากแต่ได้หย่อนเมล็ดพันธุ์แห่งความคิดความเชื่ออันแน่วแน่ลงในที่นาผืนนี้ด้วย



(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 990 ประจำวันที่ 8 - 14 สิงหาคม 2557)
 

Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์