วันอังคารที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2557

นสพ.บ้านนอก กับการปฏิรูปสื่อ



หนังสือพิมพ์ภูมิภาค มักบอกผมด้วยความถ่อมตัวเสมอๆว่า เป็นหนังสือพิมพ์บ้านนอก คำว่าบ้านนอกในความหมายนั้น อาจหมายถึงความที่ไม่มีบทบาทสำคัญในความเป็นสถาบันสื่อ ซึ่งผมจะโต้แย้งเสมอว่า หนังสือพิมพ์บ้านนอก หรือหนังสือพิมพ์ภูมิภาคนี่เอง ที่เป็นหัวใจสำคัญของการปฎิรูปสื่อ เพราะด้วยบริบททางสังคมที่ระบบอุปถัมภ์มีอิทธิพลสูงมาก ถ้าหนังสือพิมพ์บ้านนอกยืนยันหลักการทำงานอย่างอิสระ ตรงไปตรงมาได้ นั่นย่อมเป็นความสำเร็จส่วนหนึ่งของการปฎิรูปสื่อแล้ว

ผมให้สัมภาษณ์ไว้ในหลายที่ เรื่องปฎิรูปสื่อ ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ ครั้งสุดท้ายที่ อัมรินทร์ทีวี เมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมา แต่ที่ดูมีน้ำมีเนื้อพอจะมาถ่ายทอดกันต่อได้  เห็นจะเป็นบทสัมภาษณ์ขนาดยาว ใน “แทบลอยด์” ไทยโพสต์ ฉบับประจำวันที่ 3-9 สิงหาคม 2557 หลายเรื่องราว ที่คุณวรพล  กิตติรัตวรางกูร ถามผม โดยเฉพาะเรื่องการปฎิรูปสื่อ 1 ใน 11 ด้านสำคัญที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ  ต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะเป็นรัฐธรรมนูญที่จะพูดถึงเรื่องการปฎิรูปสื่อในเชิงรูปธรรมอีกครั้งหนึ่ง หลังจากสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ได้ตราแม่บทการปฎิรูปสื่อวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ไว้ในมาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญปี 2540

ความต่างอย่างมีนัยสำคัญของรัฐธรรมนูญปี 2540 กับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็คือ บริบททางสังคมที่เป็นแรงขับเคลื่อนให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารจัดการสื่อ ปี 2540 มาจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง เมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 ซึ่งรัฐบาลได้ใช้สื่อของรัฐ บิดเบือน ข้อมูลข่าวสาร ทำให้ผู้ชุมนุมเพื่อกดดันให้นายกรัฐมนตรีที่มาจากการปฎิวัติ ออกจากตำแหน่งกลายเป็นผู้ร้าย  ในขณะที่บริบทสังคม ที่จะกำหนดเนื้อหาในการปฎิรูปสื่อตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มาจากความขัดแย้งรุนแรงของคนในสังคม ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากการทำหน้าที่ของสื่อ รวมทั้ง ความเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์สื่อ(Media Landscape)  ซึ่งทำให้ทิศทางการทำงานของสื่อ มุ่งสู่เป้าหมายทางธุรกิจมากขึ้น

แน่นอนว่า เมื่อขนาดของการประกอบธุรกิจใหญ่ขึ้น นอกจากการคำนึงถึงผู้รับสารแล้ว ผู้บริหารยังจำเป็นต้องคิดถึงการหารายได้ให้เพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงองค์กรให้อยู่รอด และยังต้องคิดถึงผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น เจ้าของ ผู้ถือหุ้น แต่ปัญหาสำคัญก็คือ จุดสมดุลของเป้าหมายทางธุรกิจและอุดมการณ์อยู่ที่ใด  นี่เป็นข้อถกเถียงกันพอสมควร และยังต้องไปคิดหาการออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อสร้างโมเดล ที่จะทำให้ถนนสองสายนี้ วิ่งคู่ขนานกันไป โดยไม่สูญเสียอุดมการณ์และไม่ล้มเหลวทางธุรกิจ

ในการไปให้ข้อมูลกับคณะทำงานเตรียมการปฏิรูป ของ คสช. ผมพบความจริงว่า คสช.ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปสื่อในแง่ของความขัดแย้งในสังคม จากการทำงานของสื่อ  โดยเฉพาะการถ่ายทอดวาทกรรมที่สร้างความเกลียดชัง (Hate Speech)  เท่านั้น  ซึ่งอาจจะเป็นคนละเรื่อง คนละประเด็นกับปัญหาเชิงโครงสร้างของสื่อในปัจจุบัน เพราะสิ่งที่ คสช.มองนั้น คือบทบาทของสื่อการเมือง ที่ใช้ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสาร สร้างช่องทางการสื่อสาร ที่ใช้ตอกย้ำความคิดในเชิงอุดมการณ์ ซึ่งหลายครั้งเลยเถิดไปจนถึงการยั่วยุ เพิ่มน้ำหนักความขัดแย้ง และนำไปสู่การใช้ความรุนแรงในที่สุด
 
ต่อไปนี้ เป็นบางคำถามที่ผมตอบ และตัดตอนมาจากแทบลอยด์ ไทยโพสต์มองเจตนาอย่างไร ทำไม คสช.ถึงเขียนในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวให้ปฎิรูปสื่อ

คุณคิดว่า คสช.ยึดอำนาจเพราะอะไร ยึดอำนาจเพราะคนในสังคมมันแตกแยก มันทะเลาะกันจนขนาดว่า ถ้าปล่อยให้เหตุการณ์อย่างนั้นเป็นต่อไป มันก็มีแต่จะร้าวลึกลงไปเรื่อยๆ ถ้าคุณย้อนหลังไป 2 เดือนที่แล้ว คุณคิดว่าคนพวกนั้น จะเข้าใจกันไหม คน 7 คณะ (เหตุการณ์วันที่ 22 พ.ค.2557 ) เข้าไปพูดคุยว่าจะปรองดอง จะหาทางออกยังไงดี แต่คน 7 คณะ 7 กลุ่ม ยืนยันเอาตามของตัวเอง 7 เรื่องไม่มีใครลดราวาศอกให้แก่กัน มันจะเดินหน้าต่อไปได้ไหม

แต่เราย้อนกลับมาว่า สิ่งที่มันเกิดขึ้น มันมาจากอะไร ข้างหน้ามันคือตัวแทนของแต่ละกลุ่ม เบื้องหลังคือสื่อที่ไปแบ็กอัพให้กับคนเหล่านั้น สื่อที่ไปสร้าง Agenda ไปทำให้ภาพทางสังคมของคนเหล่านั้นที่คิดว่ามีอำนาจ ฉะนั้น สื่อคือตัวการสำคัญ

ถือว่าสื่อมีบทบาทสำคัญ

เราต้องยอมรับว่า สื่อเป็นจำเลยสำคัญที่ทำให้เกิดเหตุการณ์วันนี้ขึ้น สื่อก็ต้องรับผิดชอบ มันเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้ คสช.คงเห็นเหมือนกันว่า บทบาทของสื่อมีความสำคัญมาก ในการทำให้สังคมเกิดปรากฎการณ์ความขัดแย้งที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทยก็ว่าได้ จึงเป็นเรื่องปกติที่ คสช.อยากมาทำเรื่องสื่ออย่างจริงจัง เลยแยกเรื่องปฎิรูปสื่อออกมาเป็นหัวข้อหนึ่งเลยในการจะไปร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

เราจะผลักดันการปฏิรูปสื่ออย่างไร
 
เรื่อง สนช.เราได้ยืนยันมาตลอดทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการว่า องค์กรวิชาชีพจะไม่ส่งคนไปอยู่ใน สนช.โดยเด็ดขาด แต่ไม่ได้แปลว่าในขั้นตอนของการยกร่างรัฐธรรมนูญ หรืองานด้านนิติบัญญัติอื่นๆ(การให้ข้อมูลเรื่องปฎิรูปสื่อ) จะไม่มีตัวแทนสื่อเลย ขั้นตอนการร่างรัฐธรรมนูญ ผมคิดว่าถ้าเป็นไปได้ ควรผลักดันคนของเราเข้าไปมีบทบาทในนั้น เพราะการปฎิรูปสื่อสารมวลชนเป็นหัวใจสำคัญอันหนึ่งของรัฐธรรมนูญ เราคงไม่สบายใจ ถ้าให้คนอื่นหรือใครก็ไม่รู้มาปฏิรูปเรา ถ้ามีช่องทางพอให้ผลักดันได้ ในส่วนของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เราก็ควรผลักดันคนของเราให้เข้าไปมีบทบาทด้วย

นี่เป็นเพียงบางคำตอบ คำถามของการปฏิรูปสื่อ ติดตามฉบับเต็มได้ใน ไทยโพสต์ แทบลอยด์ 

ยังอาจมีคำถามอีกมาก เรื่องปฏิรูปสื่อ โดยเฉพาะการทำลายกำแพงทุน ที่กำลังเข้ามายึดครองพื้นที่สื่อในนาทีนี้ และการจัดการกับผู้มีอิทธิพล นายทุนท้องถิ่นที่พยายามเข้ามาครอบงำการทำงานของสื่อบ้านนอก


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 990 ประจำวันที่ 8 - 14 สิงหาคม 2557)


Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์